วันศุกร์, มีนาคม 03, 2566

พรรคการเมือง ฟังทางนี้... มลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่นละออง PM2.5 กำลังทวีความรุนแรงและกลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 แล้วกว่า 71,184 ราย


Environman
14h
#POLLUTION จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็งปอดถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย (เป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับและถุงน้ำดี และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง)
.
ปัจจัยในชีวิตประจำวันหลายด้านที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด ได้แก่ การสูบบุหรี่หรือการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่ การทำงานที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินในรูปแบบต่าง ๆ และการส่งต่อผ่านกรรมพันธุ์ เป็นต้น
.
มลภาวะทางอากาศอย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ก็กำลังทวีความรุนแรงและกลายมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจาก PM2.5 แล้วกว่า 71,184 ราย (สูงเป็นอันดับสามของอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม)
งานวิจัยใหม่ก็รายงานว่า PM2.5 เรื้อรัง ส่งผลยีนส์กลายพันธุ์ก่อโรคมะเร็งปอดได้
.
ข้อมูลใหม่จากการศึกษาวิจัยในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติ European Society for Medical Oncology (ESMO) ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมาระบุว่ามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการกลายพันธุ์ของยีนชนิด EGFR และ KRAS ในเซลล์ระบบทางเดินหายใจซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอด
.
มะเร็งปอดจะมีทั้งหมด 4 ระยะหลัก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบเจอในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายหรือในสภาวะที่โรคลุกลามแล้ว ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทำให้มีการนำนวัตกรรม AI เข้ามาใช้ร่วมไปกับการตรวจสอบยืนยันผลจากรังสีแพทย์เพื่อคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของผลการตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด เมื่อเทียบผลของการรักษาจะพบว่า หากเจอมะเร็งปอดที่ระยะแรกจะมีโอกาสอยู่รอดใน 5 ปีสูงถึง 92 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถ้าพบในระยะที่ 4 มีโอกาสอยู่รอดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
.
จะเห็นได้ว่า “มะเร็ง รู้เร็ว รักษาได้” การได้รับผลวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งผลการรักษาที่ดีและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากยิ่งขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม นอกจากการที่ประชาชนทั่วไปจะหลีกเลี่ยงมลพิษ ฝุ่นควัน รักษาสุขภาพตัวเอง และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปล่อยฝุ่นควันก็ควรมีข้อตกลงร่วมกันที่จะทำให้ค่าฝุ่นของประเทศลดลง
.
ที่มา
- National Library of Medicine: Function of PM2.5 in the pathogenesis of lung cancer and chronic airway inflammatory diseases
-ESMO: Scientists Discover How Air Pollution May Trigger Lung Cancer in Never-Smokers [ESMO Congress 2022 Press Release]
-บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และ The Lung Ambition Alliance (LAA)
.....

The MATTER
17h
QUOTE: "เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสง ผมไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล"
.
ประเด็นเรื่องฝุ่นควันกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังกฤตไท ธนสมบัติกุล ที่หลายคนรู้จักจากการเล่าประสบการณ์การเป็นมะเร็งปอด ในวัย 28 ปี ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจสู้ดิวะ ในวันนี้ (2 มีนาคม) ตั้งคำถามถึงการแก้ไขที่ไม่จริงจังของหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงเจ็บป่วยในอนาคต
.
โดยข้อความดังกล่าวได้เล่าถึง ปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือว่า "เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสงครับ"
.
"ผมก็ไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล ปัจจุบันผลการศึกษามากมาย มันพิสูจน์มาหมดแล้วครับ พวกตัวเลขค่าฝุ่นเท่านี้เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่กี่มวนอะไรแบบนี้ ลองหาข้อมูลได้เลย"
.
นอกจากนี้ กฤตไทยังเล่าถึงอาการในปัจจุบันของเขา ที่ไม่สู้ดีนัก กำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสง หลังพบมะเร็งในสมองก้อนใหม่ "เวลาของผมเหลือน้อยลงทุกทีแล้วครับ" จึงอยากใช้ช่วงเวลาการรักษาตัวสะท้อนปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่เขาเองกก็เคยละเลยครั้งที่ยังคงเล่นกีฬากลางแจ้งอยู่
.
"ผมก็มองว่าร่างกายผมเนี่ยก็น่าจะฟิตอยู่แหละ เราไปออกกำลังกายได้ฝึกปอดฝึกหัวใจ สูดฝุ่นหน่อย ก็หักล้างกันไป ไม่เป็นไรหรอก คนอื่นก็สูดกัน ไม่เป็นไรหรอกน่า แล้ว
ผมก็เป็นมะเร็งปอดครับ"
.
จึงเป็นที่มาให้เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง ทั้งติดเครื่องฟอกอากาศ ทำห้องความดันบวก เพื่อให้อากาศมันสะอาดจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลของการตั้งคำถามว่า "มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือไม่ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอก ประชาชนหลายอาชีพเองก็ไม่ได้สะดวกพอที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นอันตรายนี้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่จะเพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวันนี้"
.
เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆเหรอ? เป็นคำถามหนึ่งในโพสต์ดังกล่าว ทั้งยังแสดงความเป็นห่วงเด็กเล็กที่อาจเจ็บป่วย และยังต้องดำเนินชีวิตต่อไปอีกนาน
.
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ของ IQAir ในเวลา 11.30 น. โดยประมาณพบว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีค่าดัชนีฝุ่นละอองสูงถึง 186 ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
.
.
อ้างอิงจาก

https://www.facebook.com/ktlivethelife/posts/pfbid0ksvZ4HTe1U5q7FnnagEinjsLHnzyB56yoEpfcj7FKpMbxdBVr9UDHPkLJsJywf9Dl

#ฝุ่น #สู้ดิวะ #TheMATTER