วันอาทิตย์, มีนาคม 19, 2566

‘จะต้องไม่มีใครถูกวิสามัญฯ แบบนี้อีก’ รำลึก 6 ปี วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส ชวนจับตาดูคำพิพากษาเพื่อเยียวยาครอบครัว


The Momentum
1d
‘จะต้องไม่มีใครถูกวิสามัญฯ แบบนี้อีก’
รำลึก 6 ปี วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส
ชวนจับตาดูคำพิพากษาเพื่อเยียวยาครอบครัว
.
เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ได้จัดงานเพื่อรำลึกครบรอบ 6 ปี วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่เสียชีวิตอย่างปริศนา โดยใช้ชื่องานว่า ‘ยกเตาเล่าเรื่องชัยภูมิ รำลึกครบรอบ 6 ปี วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส’ ที่บริเวณลานโบสถ์ หมู่บ้านกองผักปิ้ง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก
.
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันเดินทางไปที่หลุมศพของชัยภูมิเพื่อวางดอกอ่อเวะ ดอกไม้แห่งความคิดถึงของชาวลาหู่ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของชัยภูมิ และลูกศิษย์ของชัยภูมิได้แสดงเต้นจะโก่ ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมของชาวลาหู่ มีการแสดงดนตรีจากครอบครัวของชัยภูมิ นอกจากนี้ยังมีการฉายหนังสั้นเรื่อง ‘See You Again’ โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์เด่นภายในงาน คือกิจกรรมยกเตาเล่าเรื่องชัยภูมิ ที่ผู้เข้าร่วมงานนำเตาหมูกระทะมาจากบ้านและล้อมวงกินหมูกระทะ เพื่อพูดคุยรำลึกถึงชัยภูมิ
.
ยุพิน ซาจ๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจรัก และผู้ดูแลของชัยภูมิ กล่าวเปิดงานรำลึกถึงชัยภูมิว่า การต่อสู้ของเราตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ก็เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจเข้าใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีของชัยภูมิ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมก่อนหน้า พร้อมกันนี้ยังชวนทุกคนจับตาดูคำตัดสินของศาลฎีกา เพื่อให้ทางกองทัพบกชดใช้และเยียวยาค่าเสียหายให้กับครอบครัวของชัยภูมิ
“การที่พวกเราลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่ให้กับชัยภูมิเพียงเท่านั้น แต่เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพวกเราชาติพันธุ์ทุกคน วันนี้อยากให้ทุกคนมาร่วมรำลึกถึงชัยภูมิร่วมกัน และมาร่วมกันลุ้นคำตัดสินของศาลฎีกาว่า จะพิจารณาให้กองทัพบกชดใช้และเยียวยาค่าเสียหายให้กับครอบครัวของชัยภูมิหรือไม่ ซึ่งศาลน่าจะมีคำพิพากษาในเร็วๆ นี้”
.
ขณะที่ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ดูแลของชัยภูมิ กล่าวถึงการจัดงานรำลึกถึงชัยภูมิในครั้งนี้ด้วยเช่นกันว่า ชัยภูมิคือลูกหลานของเราที่อยู่ในชุมชน ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจเรื่องที่เกิดขึ้นกับชัยภูมิ สักวันหนึ่งก็อาจจะเกิดกับลูกหลานเราก็ได้ จึงอยากให้คดีของชัยภูมิเป็นคดีสุดท้ายที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าทุกคนในหมู่บ้านเกิดความกลัว แต่ก็อยากให้ทุกคนสู้เพราะเราคือลาหู่ เราคือพี่น้องชาติพันธุ์ ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะมาช่วยเรา
.
ด้าน ชานนท์ ป่าแส น้องชายของชัยภูมิ กล่าวรำลึกถึงชัยภูมิด้วยเช่นกันว่า ตั้งแต่ที่ตนเสียพี่ไป ชีวิตครอบครัวอยู่อย่างยากลำบากมาก พอพี่จากไป ก็ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาดูแลพ่อแม่ จนวันนี้พ่อเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังพ่อเสียชีวิตก็ต้องออกไปหางานทำที่ต่างจังหวัดเพื่อมาดูแลแม่ให้ได้ วันนี้สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือภาพของชัยภูมิได้รับความยุติธรรม และอยากเห็นในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าศาลฎีกาจะพิพากษาคดีอย่างไร
.
สุธีรา เป็งอิน ตัวแทนจากองค์กร Protection International (PI) กล่าวถึงชัยภูมิและแนวทางในการต่อสู้คดีของชัยภูมิว่า ภาพทรงจำที่เห็นชัยภูมิ คือความรักและมุ่งมั่นของครอบครัว แม้แม่ของชัยภูมิจะผ่านความสูญเสียลูกชายอันเป็นที่รักจากคมกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เธอกลับเปลี่ยนความสูญเสียเป็นพลังในการที่จะเดินหน้าตามหาความยุติธรรม
.
สำหรับคดีของชัยภูมินั้น นับตั้งแต่ปี 2562 ครอบครัวและทีมทนายความของชัยภูมิ ยื่นฟ้องคดีต่อกองทัพบกในฐานะผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฯ ชัยภูมิในคดีละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงปัจจุบัน คดีอยู่ในระหว่างการรอให้ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา ซึ่งที่ผ่านมา ครอบครัวและทีมทนายเคารพในคำตัดสินของศาล แม้จะมีความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาในบางประเด็น เช่น ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นการกระทำโดยป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อชัยภูมิ และกองทัพจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
.


ในความเป็นจริง บาดแผลที่ชัยภูมิได้รับจากอาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่ เป็นอาวุธที่ร้ายแรงเป็นอย่างมาก และถูกจุดสำคัญจนเป็นเหตุให้ชัยภูมิถึงแก่ความตาย หรือการที่ทีมทนายตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นเรื่องเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดเหตุจากการตายผิดธรรมชาติ ไม่เป็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150 ต้องมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ แพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ ในทำการชันสูตรและต้องมีบันทึกรายละเอียดที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีนี้กลับเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด เป็นผู้ที่เข้ามาในจุดที่เกิดเหตุโดยทันที ก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามา หรือประเด็นที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่า พบยาเสพติดในรถของชัยภูมิ ซึ่งผลการตรวจดีเอ็นเอในของกลางและฝาหม้อกรองในรถยนต์ ก็ไม่พบลายนิ้วมือของชัยภูมิแต่อย่างใด
.
อย่างไรก็ตาม ทางด้านครอบครัว เพื่อน และทีมทนาย ก็ยังตามหาและเรียกร้องให้กองทัพบก เปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญและมีคุณค่า เพื่อพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งที่มีรายงานระบุว่า มีการทำสำเนากล้องวงจรปิดไว้แล้วก่อนที่จะส่งให้พนักงานสอบสวน แต่จนถึงปัจจุบัน ภาพเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดก็ยังไม่ปรากฏในคดีหรือในสาธารณะแต่อย่างใด รวมถึงได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกฟ้องให้กองทัพบกไม่ต้องชดใช้ให้กับครอบครัวชัยภูมิ แต่ล่าสุด ศาลฎีกาได้รับคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาและจะมีคำพิพากษาประมาณ 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์และคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวของชัยภูมิอีกครั้ง
.
ภาพ: Protection International