วันอาทิตย์, มีนาคม 19, 2566

มีเรื่องหนึ่งที่คนไทยควรรู้​คือ​ รัสเซีย​ไม่ได้เป็นประเทศ​ภาคีสมาชิก​ของศาลอาญา​ระหว่างประเทศ​ หรือ​ไม่ได้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาล​อาญาระหว่างประเทศ​หรือ ICC แต่ก็ถูกดำเนินคดี​ได้ มีสิทธิถูกจับขึ้นศาลได้


การนำตัว วลาดิเมียร์ ปูติน ไปดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามในศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นไปได้แค่ไหน และมีอุปสรรคอะไรบ้าง


ปูตินจะเผชิญการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามหรือไม่

เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

แม้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ในกรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ จะออกหมายจับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียฐานก่ออาชญากรรมสงครามจากการยกทัพรุกรานยูเครน แต่นี่ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าขั้นแรกของกระบวนการที่แสนยาวนาน

องค์การสหประชาชาติแสดงความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ามีหลักฐานเพียงพอในการกล่าวโทษและเอาผิดประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีนี้ให้ลุล่วงไปได้นั้นจะต้องเผชิญกับปัญหาในเชิงปฏิบัติและการจัดการมากมาย

นี่คือรูปการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามต่อวลาดิเมียร์ ปูติน

ปูตินจะถูกจับกุมไหม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนายปูตินคือผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในรัสเซีย ดังนั้นจึงไม่น่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลรัสเซียจะส่งมอบตัวเขาให้แก่ ICC

ตราบใดที่นายปูตินยังอยู่ในรัสเซีย เขาจะไม่มีความเสี่ยงถูกจับกุม

นายปูตินอาจถูกจับกุมหากเดินทางออกนอกประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าเสรีภาพการเดินทางของเขาถูกจำกัดอย่างรุนแรงจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ ก็ไม่น่าจะมีแนวโน้มที่เขาจะเดินทางไปยังประเทศที่ต้องการนำตัวเขาขึ้นพิจารณาคดี

นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. 2022 นายปูตินเดินทางไปแค่ 8 ประเทศ โดยในจำนวนนั้น 7 ประเทศคือดินแดนใต้อิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ประเทศเดียวที่นายปูตินไปเยือนโดยที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าวคือ อิหร่าน ซึ่งเขาเดินทางเยือนเมื่อเดือน ก.พ.ปีก่อน เพื่อพบหารือกับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

การที่อิหร่านเป็นพันธมิตรสำคัญในการช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน ด้วยการสนับสนุนด้านโดรนและอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงทำให้การเยือนกรุงเตหะรานไม่น่าจะทำให้นายปูตินถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ ICC

ปูตินจะเผชิญการพิจารณาคดีหรือไม่

มีอุปสรรคใหญ่อย่างน้อย 2 ประการที่จะขัดขวางการพิจารณาคดีของนายปูติน

ประการแรกคือรัสเซียไม่ได้ให้การยอมรับขอบเขตอำนาจของ ICC

ศาลแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 ด้วยสนธิสัญญาที่เรียกว่า ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ซึ่งมีบทบัญญัติว่าเป็นภาระหน้าที่ของทุกรัฐภาคีที่จะใช้อำนาจศาลดำเนินคดีต่อผู้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ ICC จะเข้าแทรกแซงเฉพาะกรณีที่รัฐเหล่านี้ไม่สามารถ หรือไม่ยอมดำเนินการสอบสวน หรือดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด

มีรัฐที่ร่วมเห็นชอบปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ทั้งสิ้น 123 ประเทศ ยกเว้นรัสเซีย

ขณะเดียวกันบางประเทศ เช่น ยูเครน และไทย ได้ร่วมลงมติสนับสนุนสนธิสัญญานี้แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอย่างเป็นทางการ

ปัญหาใหญ่อีกประการคือ ICC ไม่มีกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย โดยที่ไม่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมการพิจารณาในศาลด้วย นี่จึงทำให้โอกาสที่จะเอาผิดต่อนายปูตินในศาลแห่งนี้มีอยู่ริบหรี่

หมายจับปูตินมีผลอย่างไรต่อสงครามในยูเครน

การที่ ICC ออกหมายจับนายปูตินคือการส่งสัญญาณจากประชาคมโลกที่มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ICC ระบุว่า การประกาศออกหมายจับผู้นำรัสเซียต่อสาธารณะ เพราะอาชญากรรมนี้กำลังเกิดขึ้น นี่จึงเป็นความพยายามที่จะยับยั้งไม่ให้การก่ออาชญากรรมนี้ดำเนินต่อไป

ทว่าปฏิกิริยาของรัสเซียต่อเรื่องนี้คือการมองว่าหมายจับของ ICC ไม่มีความหมายใด ๆ

อันที่จริง รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียได้กระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนในยูเครน และโฆษกของนายปูตินเรียกการตัดสินใจออกหมายจับของ ICC ว่าเป็นเรื่อง “เกินกว่าเหตุและยอมรับไม่ได้”

ปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงดังกล่าวบ่งชี้ว่าการกระทำใด ๆ ของ ICC ไม่น่าจะมีผลต่อการทำสงครามในยูเครนของรัสเซีย และ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ของนายปูตินจะดำเนินต่อไปเพื่อบดขยี้ศัตรูอย่างไร้ความปราณี
.....
 

รายชื่อ 123 ประเทศที่ให้สัตยาบัน ทำตามข้อตกลง สนธิสัญญากรุงโรม (ICC) คลิกที่นี่