วันพุธ, กุมภาพันธ์ 10, 2564

เปิดคำแปลฉบับเต็ม UN ต่อการใช้ ม.112 กับผู้เห็นต่าง




“กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย” เปิดคำแปลฉบับเต็มผู้เชี่ยวชาญ UN ต่อการใช้ ม. 112 กับผู้เห็นต่าง

โดย admin33
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
09/02/2564

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur on the right to freedom of opinion and expression) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ได้แสดงความวิตกต่อการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ต่อผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรงในกรณีของ “อัญชัญ” ถึงกว่า 43 ปี เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 64 และขอให้ศาลอุทธรณ์ทบทวนการลงโทษดังกล่าว

นอกจากนั้นผู้รายงานพิเศษฯ ยังแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินคดีต่อเยาวชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว และปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

ประเทศไทย: ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติวิตกกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้น

เจนีวา (8 กุมภาพันธ์ 2564) – ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างยิ่งในวันนี้ เกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เพื่อปราบปรามเสียงวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และบอกว่าวิตกกับกรณีที่มีผู้หญิงถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลากว่า 43 ปี ในข้อหาดูหมิ่นราชวงศ์

เมื่อวันที่ 19 มกราคม อัญชัญ (สงวนนามสกุล) ข้าราชการเกษียณในวัย 60 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกซึ่งคาดว่าเป็นโทษหนักที่สุดในประเทศ ตามกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ มีรายงานว่าเป็นผลมาจากการโพสต์คลิปบันทึกเสียงที่มีเนื้อหาวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กของเธอเอง ระหว่างปี 2557 และ 2558 โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระแห่งสหประชาชาติได้นำเสนอกรณีของเธอเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ช่วงแรกคดีของเธอต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหาร จนต่อมาถูกตัดสินโทษจำคุก 87 ปี มีการลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพตามข้อกล่าวหา หลังจากมีการโอนย้ายคดีของเธอเข้าสู่การพิจารณาของศาลพลเรือนช่วงกลางปี 2562 คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

“เราขอกระตุ้นศาลอุทธรณ์ให้ทบทวนคดีของอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องไม่ลงโทษอย่างรุนแรง”

“เราได้ย้ำอย่างสม่ำเสมอว่า กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย” ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติกล่าว “การกำหนดโทษที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพด้านการแสดงออก และยิ่งจำกัดพื้นที่ของพลเรือนและการเข้าถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย”

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ในขณะที่นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยได้หันมารณรงค์ทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทางการก็ได้บังคับใช้ข้อบัญญัติหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น และมีการดำเนินคดีเยาวชนด้วยข้อหาที่รุนแรงนี้ เพียงเพราะพวกเขาใช้เสรีภาพในการแสดงออก

“เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อรายงานถึง การดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และการกำหนดโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้น” พวกเขากล่าว

แม้จะย้ำถึงการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลในประเด็นนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้คำนึงถึงว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะ รวมทั้งผู้ซึ่งใช้อำนาจสูงสุดทางการเมือง อย่างประมุขของรัฐ ย่อมอาจตกเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์ได้ “แม้การแสดงออกบางรูปแบบอาจถือเป็นเรื่องดูหมิ่นหรือสร้างความตกใจให้กับบุคคลสาธารณะก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ถือเป็นเหตุผลเพียงพอที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้บทลงโทษอย่างรุนแรง” พวกเขากล่าว

“เราขอเรียกร้องทางการไทยทบทวนและยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหาอาญาในปัจจุบัน และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้สิทธิและเสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

* ผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย Ms. Irene Khan, ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, Ms. Leigh Toomey (หัวหน้าผู้รายงานพิเศษ), Ms. Elina Steinerte (รองประธาน), Ms. Miriam Estrada-Castillo, Mr. Mumba Malila, Mr. Seong-Phil Hong, คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ, Mr. Clément Nyaletsossi Voule, ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วย สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม

ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่เรียกว่า กลไกพิเศษ (Special Procedure) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลไกพิเศษนี้เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระใหญ่สุดในระบบสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นชื่อเรียกโดยทั่วไปของกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามสถานการณ์อิสระของคณะมนตรี ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาทั้งในระดับสถานการณ์ของประเทศ หรือทำงานในประเด็นหลักในทุกพื้นที่ของโลก ผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษทำงานแบบอาสาสมัคร ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ และไม่ได้รับเงินเดือนจากการทำงาน พวกเขาเป็นอิสระจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ และทำงานในฐานะส่วนตัว

ดูแถลงฉบับภาษาอังกฤษ
Thailand: UN experts alarmed by rise in use of lèse-majesté laws

ย้อนดูความเห็นของกลไกต่างๆ ของ UN ต่อมาตรา 112
บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN