วันพุธ, กุมภาพันธ์ 10, 2564

รัฐประหารเมียนมา เหมือน-ต่าง การยึดอำนาจในไทยอย่างไร

.....

รัฐประหารเมียนมา เทียบความเหมือนและความต่างกับการยึดอำนาจในไทย

ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
3 กุมภาพันธ์ 2021


THAI NEWS PIX
ชาวเมียนมาที่อาศัยในประเทศไทยรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อต่อต้านรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ที่ยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ด้วยการชูแผ่นป้ายประท้วงและเผารูปของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.

หลังเมียนมาเข้าสู่เส้นทางปฏิรูปประชาธิปไตยได้เพียง 5 ปีเศษ นายพลเมียนมากลับมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนอีกครั้งในรอบ 59 ปี ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมาบอกว่านี่คือการย้ำเตือนสถานะพิเศษของรัฐธรรมนูญเมียนมาที่ถูกเขียนกติกามาเพื่อค้ำยันอำนาจของกองทัพ

"เราเรียกได้เต็มปากว่าเป็นรัฐประหารที่ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เนื่องจากว่ากองทัพได้ใช้โอกาสและช่องที่รัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) เปิดไว้อย่างเต็มที่ โดยบอกว่านี่ไงรัฐธรรมนูญบอกไว้อย่างนี้ก็สามารถทำได้ในเมื่อสังคมมันผิดปกติ" ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับบีบีซีไทย

ทำไมต้องตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บริหารประเทศมาครบเทอม และชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วอย่างถล่มทลาย เป็นคำถามที่ ผศ.ดร. ลลิตา บอกว่าเป็นข้อสงสัยที่ถูกถามหลายครั้ง

เธอวิเคราะห์ว่า "มีฟางอยู่หลายเส้น" ทว่าเหตุผลที่กองทัพอ้าง ได้แก่ การเลือกตั้งที่ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และการไม่ทำตามการร้องขอจากกองทัพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาผลการเลือกตั้งใหม่ จึงทำให้กองทัพเห็นว่าพรรคเอ็นแอลดี "ทำให้สังคมวุ่นวาย ทำให้สังคมไม่สงบสุขด้วยข่าวลือ กองทัพจึงก้าวเข้ามา"

"เราคิดมาโดยตลอดว่า พม่าอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนแล้ว แต่จริง ๆ ไม่มีวินาทีไหนเลย ในประวัติศาสตร์การเมืองพม่า นับตั้งแต่นายพลเน วิน ขึ้นมาสู่อำนาจเมื่อปี 1962 (2505) ที่กองทัพไม่มีอำนาจ แต่เนื่องจากการเมืองพม่าในช่วง 5-6 ปีนี้ มองไปทางไหนก็ออง ซาน ซู จี เลยทำให่เราหลงลืมไปว่ากองทัพยังมีอำนาจอยู่นะ แล้วก็สังคมก็ชะล่าใจ (ไม่คิดว่า) กองทัพมีโอกาสที่จะรัฐประหารและรัฐประหารได้จริง"

เส้นทางข่าวลือรัฐประหารในเมียนมา กับความพยายามสกัดรถถัง
เลือกตั้งเมียนมา 2020 : กับข้อครหาไม่เป็นประชาธิปไตย
หลังชนะเลือกตั้งเมียนมา ซู จี ทิ้งโลก-ยุติบทบาท “วีรสตรีแห่งประชาธิปไตย”?


AFP/GETTY IMAGES
บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลย่างกุ้ง แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดริบบิ้นสีแดงและชูสามนิ้วเพื่อเป็นการ "อารยะขัดขืน" ต่อการก่อรัฐประหารของกองทัพ

เหตุใดการทำรัฐประหารจึงเป็นที่สนใจของคนไทย และเส้นทางก่อนนำมาสู่การยึดอำนาจที่คล้ายคลึงกันเปรียบเทียบกันได้อย่างไรบ้าง บีบีซีไทยคุยกับ ผศ.ดร. ลลิตา

ยุค คสช. "เราเป็นด้านกลับของพม่า"

คลื่นความไม่พอใจการก่อรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. สะท้อนออกมาไม่ทันข้ามวันแม้ในประเทศไทยที่มีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งออกมารวมตัวที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาใน กรุงเทพฯ รวมถึงการประท้วงของคนไทยที่นำโดยกลุ่มการ์ดอาสา "วีโว่" ของกลุ่มผู้ชุมนุม "ราษฎร"

ผศ.ดร. ลลิตา วิเคราะห์ว่า เหตุที่คนไทยสนใจความเปลี่ยนแปลงที่อำนาจกลับไปอยู่ในมือของกองทัพ เนื่องจากว่าคนรุ่นใหม่ในไทยเอง ตื่นตัวกับการเมืองมากขึ้นอย่างไม่ปรากฏมาก่อน และอ่อนไหวกับคำว่า "รัฐประหาร กองทัพ การยึดอำนาจ"

โดยปกติแล้วไทยกับเมียนมา มักจะมีการเปรียบเทียบในด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำเช่น การพัฒนาหรือการเมือง เวลาคนไทยมองเรื่องการเมืองในเมียนมาจะเห็นว่าคนไทยเองก็มองการเมืองภายใต้การปกครองของพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จีว่าเป็นยุคสมัยที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา

"สังคมไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เราเหมือนเป็นด้านกลับของพม่า คือเรากลับไปสู่ยุคของเผด็จการทหารหรือการดูแลควบคุมของกองทัพ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่พม่าอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเรือน"

เมียนมาภายใต้เอ็นแอลดี และซู จี เป็นอย่างไร

ผศ.ดร. ลลิตา ชี้ว่า แม้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ทว่าการปกครองโดยพรรคเอ็นแอลดีในสมัยแรก เป็นความพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาโดยตลอด และพยายามจะกีดกันพรรคที่เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่น ๆ ที่เป็นของคนหนุ่มสาวออกไป

"การบริหารประเทศภายใต้เอ็นแอลดีก็เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย เรื่องของการเจรจากับชนกลุ่มน้อย ก็ไม่ได้เจรจาสำเร็จ 100% ความสัมพันธ์กับกองทัพ ที่เราคิดว่าดีจังเพราะว่าไม่ได้มีรัฐประหารมาอย่างยาวนาน ทหารของไม่ปฏิวัติแล้ว แต่มันก็ไม่เป็นความจริง"

สำหรับบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของเมียนมา ที่เป็นชนวนเหตุที่กองทัพอ้างการปฏิวัติ ผศ.ดร. ลลิตา ระบุว่ามีประเด็นที่ กกต. "ทำหน้าที่ค่อนข้างเอียง" และ "ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ" เช่น การตัดสินกรณีที่กล่าวหาว่าพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าบางพรรคใช้ถ้อยคำที่อ่อนไหวและก้าวร้าว ระหว่างการเผยแพร่นโยบายของพรรคผ่านทางสื่อหรือช่องทีวีของรัฐบาลในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้มีการวิจารณ์ว่า กกต. ทำเกินกว่าเหตุ

นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องเมียนมา กล่าวด้วยว่ามีข้อวิพากษ์วิจารณ์ติติงจำนวนมากต่อพรรคเอ็นแอลดี เช่น เรื่องทัศนคติและการปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทว่าคนเมียนมาเองก็เหมือนกับ "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" เนื่องจากยังถือว่าบทบาทและที่มาของพรรคเอ็นแอลดีมาจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและยังเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิเสรีภาพของพวกเขา

"ออง ซาน ซู จี ไปเรียกกองกำลังกองทัพอาระกันว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่เขาก็เป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกับกลุ่มอื่น ๆ แล้วก็มีข้อเรียกร้องของตัวเองชัดเจน แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่ได้อยากจะเจรจาด้วย"

รัฐประหารเมียนมา: พล.อ. ประยุทธ์ลั่นไทยยึดจุดยืนอาเซียน
เหตุใดแกมเบียจึงนำเมียนมาขึ้นศาลโลกคดีโรฮิงญา
ซู จี ปัดข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา "ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง"


REUTERS
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย

อ้างโกงเลือกตั้ง-จัดม็อบ-ยึดอำนาจ สูตรสำเร็จกองทัพโลกที่สาม ?

หากเทียบเคียงเส้นทางก่อนการรัฐประหารของไทยและเมียนมา มีทั้งเงื่อนไข และการสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การก่อรัฐประหาร

ย้อนกลับมาที่ไทยก่อนการรัฐประหารปี 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการประท้วงการบริหารรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)" ยาวนาน 7 เดือน การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ที่ถูกทำให้เป็นโมฆะ รวมไปถึงคำปฏิเสธจากผู้นำกองทัพก่อนการรัฐประหารเพียงไม่กี่วันว่าพวกเขาจะไม่ยึดอำนาจ ดูเป็นเส้นทางที่คล้ายคลึงกันของเมียนมาและไทย

"ทหารไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ได้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการใด ๆ ทางการเมือง ซึ่งควรยุติการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารจะปฏิวัติรัฐประหารเพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์กัน" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นออกมาประกาศเมื่อ 11 พ.ค. 2557 สยบเสียงลือว่าทหารจะทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลรักษาการของน.ส. ยิ่งลักษณ์

ส่วนกองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์สยบข่าวลือการก่อรัฐประหารที่ดังหนาหูตลอดสัปดาห์ที่แล้ว โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น "ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" เพียงสองวันก่อนยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. โดยก่อนวันดังกล่าว ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพี พรรคร่างทรงทหาร หลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง


เหมือนหรือต่างกันเช่นไร ผศ.ดร. ลลิตาบอกว่า ลำดับเงื่อนไขนี้ "เข้าทฤษฎีหรือตำราของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง ทรราช" แต่เห็นว่านี่ไม่ใช่รูปแบบที่กองทัพกระทำอย่างเดียว แต่ "ทรราช" ที่เป็นพลเรือนก็ใช้แนวทางเช่นนี้ ได้แก่ การอ้างฐานเสียงสนับสนุนในการรัฐประหาร

"แต่ในโลกของความเป็นจริงในพม่า คนที่สนับสนุนทหารอาจจะมีไม่เยอะ ในไทยอาจจะมากกว่าในพม่า เพราะว่าคนในพม่าส่วนใหญ่ ใช้คำว่าเกลียดกองทัพเลย แต่กรณีของไทย ประชาชนฝ่ายสนับสนุนก็ยังคิดว่ากองทัพมีความดีอยู่"


AFP/GETTY IMAGES
รถถังถูกพบบนท้องถนนในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา เมื่อ 2 ก.พ. 2564

รัฐประหารที่ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ

ถ้อยแถลงการณ์ภายหลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ไม่มีการระงับใช้รัฐธรรมนูญปี 2551 ซึ่งเป็นความแตกต่างของการรัฐประหารในไทยที่ส่วนใหญ่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และตั้งคณะบุคคลเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

"ไม่ได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเลย และจะยิ่งย้ำเตือนสถานะพิเศษของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยซ้ำไป"

ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านโทรทัศน์ของกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ระบุช่วงหนึ่งว่า "การประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศเป็นไปตามบทบัญญัติมาตราที่ 417 ของรัฐธรรมนูญปี 2551 และเพื่อให้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อำนาจการออกกฎหมายและการพิพากษาทั้งปวงจะถูกมอบให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 418 (a) ของรัฐธรรมนูญปี 2551"

ผศ.ดร. ลลิตา อธิบายว่า การอ้างอิงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งเป็นบทใหญ่ที่พูดถึงการที่กองทัพสามารถเข้ามาแทรกแซงหรือรัฐประหารได้ เมื่อเกิดสถานการณ์บางอย่าง ที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ นั้นทำให้มีการวิเคราะห์จากสื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้มีความชอบธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างไร

"ทั้งนั้นทั้งนี้ ก็แล้วแต่การตีความของกองทัพว่าจะเลือกแทรกแซงตอนไหน... เราเรียกได้เต็มปากว่าเป็น รัฐประหาร ที่ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เนื่องจากว่าเขาได้ใช้โอกาสแลช่องที่รัฐธรรมนูญปี 2008 เปิดไว้อย่างเต็มที่ แล้วก็เอามาใช้โดยบอกว่านี่ไง รัฐธรรมนูญบอกไว้อย่างนี้ก็สามารถทำได้ ในเมื่อสังคมมันผิดปกติ"

นักวิชาการหญิง จาก ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า การรัฐประหารครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คน เนื่องจากต่างคิดว่า ทหารไม่มีเหตุผลที่แท้จริงของการปฏิวัติ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2551 "เกิดขึ้นมาจากทหาร เพื่อทหาร และเพื่อการรักษาอำนาจของทหารไว้ ทหารยังมีโควตาอยู่ 25% ในรัฐสภาของเมียนมาโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง"

อีกทั้งยังมีรองประธานาธิบดีคนที่สองที่เป็นของกองทัพโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง และถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวหลังการยึดอำนาจ ทว่าเหตุที่ในที่สุดกองทัพทำรัฐประหารก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่กองทัพวางแผนมานานแล้ว และทำตามธงที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสม


ลลิตา หาญวงษ์
ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สิ่งที่ควบคุมไม่ได้ในรัฐธรรมนูญที่ "ออกแบบ" มาเพื่อกองทัพ

ผศ.ดร. ลลิตา บอกว่าสิ่งที่กองทัพควบคุมไม่ได้ ในทางทฤษฎี "แทบจะไม่มี"

ทว่าในทางปฏิบัติ เนื่องจากพรรคเอ็นแอลดี "ไม่ถูก" กับกองทัพอย่างรุนแรงอยู่แล้ว จึงทำให้มีการ "เหยียบหางเสือ" หรือ "ซ้อนไลน์" กันหลายครั้ง และการที่พรรคเอ็นแอลดี ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของกองทัพ ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทำให้กองทัพอาจมองว่านี่เป็นการกระทำที่ "กระด้างกระเดื่อง" หรือไม่ ซึ่งสามารถตีความได้หลายประเด็น

"อีกกรณีหนึ่ง กองทัพ เริ่มรู้สึกกลัว อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างข้างในที่ประชาชนไม่รู้ และอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้กองทัพ ยิ่งเพิ่มความกลัว และความหวาดแระแวง ในตัวของ ออง ซาน ซู จี และคนในพรรค"

เมื่อปลายปีที่แล้ว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหารครั้งนี้ ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าไม่พอใจการทำงานของ กกต. ทั้งที่ปกติแล้วกองทัพเมียนมาจะไม่ออกมาให้ความคิดเห็นด้านการเมืองเลย ความเคลื่อนไหวนี้จึงนับว่า

"คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่ากองทัพถ้าไม่เหลืออดจริง ๆ จะไม่ทำแบบนี้ แต่อาจจะกดดันในรูปแบบอื่น แต่นี่คือการออกแถลงการณ์เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า อยากจะโพนทะนา ให้ชาวบ้านรู้ว่ากองทัพกับเอ็นแอลดี และ กกต. พม่า ขัดแย้งกัน และนี่พยายามจะเตือนแล้ว"

เมื่อครบหนึ่งปี "เราจะทำตามสัญญา" ?

ในช่วงหนึ่งปีระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผศ.ดร. ลลิตา เห็นว่า กองทัพจะดำเนินการออกแบบกลไกในการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะกรุยทางเตรียมพร้อมไปสู้การเลือกตั้ง แล้วจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เอ็นแอลดีกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้เพื่อให้คนของตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐบาล อีกรอบหนึ่ง

ส่วนชะตากรรมของนางออง ซาน ซูจี และคนสำคัญของพรรคเอ็นแอลดี เธอวิเคราะห์ว่าอาจจะถูกกักบริเวณภายในบ้านเช่นการกักบริเวณในช่วงปี 2532 ถึง 2553 หรืออย่างน้อยจะมีการเจรจากันก่อนปล่อยตัว

แนวโน้มการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ประเมินว่า จะมีการออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของชาวเมียนมาอย่างแน่นอน ซึ่งอาจมีระดับเช่นเดียวกับการประท้วงในปี 1988 หรือ 2006

"อารมณ์ของคนที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเป็นยังไง อารมณ์ที่ย่างกุ้งมากกว่านั้นสองเท่า"

เธอยังเชื่อว่าการชุมนุมอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ แต่ประเมินอีกว่ากองทัพจะเตรียมมาตรการที่จะปราบปรามไว้แล้ว เริ่มที่การออกกฎหมายการห้ามการรวมตัว หรือฝ่ายข่าวกรองของกองทัพอาจจะต้องทำงานมากขึ้น


THAI NEWS PIX
ชาวเมียนมาในกรุงเทพฯ รวมตัวประท้วงการรัฐประหาร 3 ก.พ. 2564

แรงกดดันจากนานาชาติจะมากแค่ไหน

อ.ลลิตา มองว่า เมื่อเทียบกับรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 แรงกดดันของนานาชาติตอนนี้ "อาจจะมากกว่า"

เมียนมาอยู่ใต้เผด็จการมานานมากกว่าการปกครองของคณะทหารในไทยเมื่อได้เปลี่ยนผ่าน "ลืมตาอ้าปาก" มีโอกาสได้รัฐบาลประชาธิปไตย ที่แม้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด จึงทำให้แรงกดดันมีมากกว่าที่ไทยเผชิญ เพราะนานาชาติจะมีคำถามว่าเหตุใดเมียนมาจึงมีประชาธิปไตยในระยะสั้น ๆ

นอกจากนี้ เมียนมายังเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เพราะว่าเป็นประเทศเดียวที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีนกับอินเดีย ถ้ามหาอำนาจจะสนใจเมียนมาก็จะสนใจในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มากกว่าที่จะเป็นเรื่องการเมืองภายใน

แล้วจะถูกกดดันจากประเทศประชาธิปไตยเพียงใด ผศ.ดร. ลลิตา วิเคราะห์ว่า กองทัพเมียนมา พิจารณาแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ หรือทุกชาติทั่วโลก นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป นโยบายต่างประเทศมันจะไม่ใช่ภารกิจสำคัญลำดับแรกเพราะทุกชาติต่างต้องจัดการกับภาวะภายในประเทศตัวเองอันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19

"พอคุณเจอโควิด คุณจะเอาความสนใจระดับชาติ ความสนใจของประเทศของคุณเอามาลงกับพม่าประเทศเดียวหรือไม่... ตราบใดที่ยังมีโควิด ชาติมหาอำนาจก็ยังคงไม่มายุ่งกับพม่าอย่างเต็มตัว"

อย่างไรก็ตาม เมียนมา จะไม่ได้ผูกพันตัวเองเข้ากับมหาอำนาจจีน เนื่องจากกองทัพเมียนมา ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้ชื่นชมจีน

อ.ลลิตาบอกว่า เมื่อเทียบกับรัฐบาลนางออง ซาน ซู จี เข้าข้างทางจีนมากกว่า เนื่องจากไม่สามารถคบหากับรัฐบาลชาติตะวันตกได้ เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนโรฮิงญา ดังนั้น เมียนมาจะให้น้ำหนักกับมิตรประเทศหลากหลายชาติ เช่น อินเดีย ไทยและอาเซียนที่มีนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและไม่แทรกแซงการเมืองภายใน

กระทบไทยแค่ไหน

นักวิชาการประวัติศาสตร์ บอกว่าผลกระทบที่เห็นชัด ๆ ไม่น่ามี เพราะไม่ว่ารัฐบาลรูปแบบใดจะขึ้นมาปกครอง รัฐบาลไทยก็เป็นมิตรหมดกับทุกประเทศอยู่แล้ว เพราะถือว่าไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน

เธอชี้ว่า กลุ่มทหารที่กุมอำนาจก็มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยชุดนี้ ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ในฐานะ "ลูกป๋า" เช่นเดียวกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

อย่างไรก็ตาม ในด้านของแรงงานชาวเมียนมา อ.ลลิตาบอกว่า เมื่อมีเหตุการณ์รัฐประหารก็เป็นที่น่าเห็นใจสำหรับแรงงานเมียนมาหลายคนที่มีความฝันว่าอยากจะกลับบ้านไปทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในระยะยาวว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป


OFFICE OF THE PRIME MINISTER
"อาเซียน จุดยืนอาเซียน" คือ คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของไทยต่อการรัฐประหารในประเทศเมียนมา 2 ก.พ. 2564