คณะก้าวหน้า - Progressive Movement
12h ·
[ ด่วน! ศาลปัดตกคำร้อง DE - ปลดล็อกคลิปธนาธรไลฟ์วัคซีนโควิด ]
———
ก่อนหน้านี้:
.
-วันที่ 18 มกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์ “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย?”
-วันที่ 29 มกราคม 2564 ศาลมีคำสั่งตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DE) ให้ระงับการเผยแพร่คลิปดังกล่าว จำนวน 3 URLs
-วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
-วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลนัดไต่สวนผู้ร้องและผู้คัดค้าน(DE และธนาธร)
————
.
โดยวันนี้(วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564) ศาลอ่านคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญคือ:
.
1.ผู้ร้อง(DE) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวแล้วมีคำสั่งในทันที เป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้าน(ธนาธร)ไว้เพื่อพิจารณา
.
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ มาตรา 34 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”
.
การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ย่อมมีความหมายว่าการห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้นในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลโดยเสรีเป็นหลัก ในการนี้ควรพิจารณาว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตามหลักสากลของการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐและมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี
.
ดังนั้นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น โดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว
.
3.การพิจารณาว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัทรวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ
.
เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจงตามที่ปรากฏในวัตถุพยานหมาย วร.1 สองช่วงสั้นๆ คือในนาทีที่ 15.05 และนาทีที่ 28.10 นั้น ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งความข้อนี้ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย รค.1 ซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง ข้อเท็จจริงเพียงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
.
สำหรับในส่วนที่สอง ซึ่งระบุว่า “ทั้งหมดมันนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า ผู้ถือหุ้นของสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นโดยตรง คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าดีลอย่างนี้มีอะไรผิดพลาดคุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ 10” เห็นว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง
.
ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจนว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง องค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
.
4.การใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย" แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมดแต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การที่ผู้คัดค้าน(ธนาธร)นำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าวหากมิใช่ความเท็จก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์จึงไม่ใช่การใส่ความ
.
***เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้วแม้ว่าผู้คัดค้าน(ธนาธร) จะบรรยายว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริต ต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
.
อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง***
.
———
อ่านคำสั่งศาลฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/.../12RdpWHm60G.../view...
ย้อนชมคลิปและเนื้อหาที่เป็นประเด็นต่อสู้ได้ที่ https://youtu.be/Oq7KPO5TBc8
(https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement/photos/a.109214624048142/303674101268859/)