วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 08, 2564

มัวแต่ชักช้าหาซีนให้เจ้า เลยยังไม่ได้วัคซีน นี่แหละคือภาระของประเทศที่แท้จริง !!!



Gossipสาสุข
18h ·

ไทยยอมตกขบวน
ไม่เข้า COVAX
เรื่องแปลกๆ อีกเรื่องของกระทรวงหมอ
.
ณ วันนี้ ใกล้ล่วงเข้าสู่กลางเดือน ก.พ. ก็ยังไม่มีวี่แววว่าไทยจะได้รับวัคซีนเป็นครั้งแรกวันไหน เวลาใด ในขณะที่ทั่วโลก เริ่มฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างกันหลายประเทศแล้ว ข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 120 ล้านโดส ประเทศอย่างอิสราเอล ฉีดวัคซีนไปแล้ว 22% ของประชากร และในยุโรป เริ่มฉีดกันแล้วในกลุ่มเสี่ยง ราว 1-2% ของประชากรทั้งประเทศ
.
ถามว่าทำไมไทยยังไม่ได้เริ่มฉีดแม้แต่โดสเดียว คำตอบก็คือ ต้อง “รอ” วัคซีน 2 ดีล ที่ไทยสั่งไว้ หนึ่งคือวัคซีนจีน จากบริษัทซิโนแวค ซึ่งเครือซีพี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เดิมซิโนแวค จะเป็นวัคซีนตัวแรก ที่จะถึงไทยราว 2 แสนโดส ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เมื่อยังไม่สามารถ ‘หยุด’ การระบาดระลอก 2 ได้ รัฐบาลไทย ได้ขอให้แอสตร้าเซเนก้า อีกหนึ่งวัคซีนสัญชาติอังกฤษ ซึ่งไทยเตรียมผลิตเอง ผ่านบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เดือนมิถุนายนนี้ ส่งวัคซีนเข้ามาก่อน 5 หมื่นโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข คาดไว้ตอนแรกว่าจะได้ราวกลางเดือน ก.พ.
.
แต่จนแล้วจนรอด เมื่อแอสตร้าเซเนก้า ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนตามออเดอร์ในยุโรปได้ทัน เกิดการแย่งชิงวัคซีนกันเป็นวงกว้างในยุโรป ดีลวัคซีน 5 หมื่นโดสแรกของไทย ก็มีอันเป็นหมัน และถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะได้เมื่อไหร่ มีเพียงกรอบเวลากว้างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข ว่าน่าจะได้ภายในเดือน ก.พ. เท่านั้น
.
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อคนไทยจำนวนหนึ่งจะถอยมามอง “ภาพกว้าง” ว่าประเทศข้างเคียงได้รับวัคซีนไปถึงไหน แล้วไทยกำลังทำอะไรอยู่ เพราะ ณ ขณะนี้ รอบบ้านเรา และภูมิภาคนี้ทั้งหมด เริ่มได้รับวัคซีนแล้ว และจำนวนไม่น้อยมาจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรวัคซีน ด้วยหลักการเพื่อให้เกิดความ “เป็นธรรม” และ “เท่าเทียม” เพื่อไม่ให้มีประเทศใดตกหล่น และไม่ให้มีเฉพาะประเทศร่ำรวยเท่านั้น ที่ได้รับวัคซีน
.
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.พ. COVAX เตรียมจัดสรรให้มาเลเซีย 1.62 ล้านโดส อินโดนีเซีย 13.7 ล้านโดส ฟิลิปปินส์ 5 ล้านโดส สิงคโปร์ 2.88 แสนโดส ภายในเดือน มิ.ย. ส่วนไทยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการนี้
.
พลันที่ข้อมูลดังกล่าวออกมา กระทรวงสาธารณสุข ก็ “เต้น” โดยเฉพาะเมื่อสำนักข่าวเวิร์คพอยท์ ออกมาบอกว่า ไทย “ตกขบวน” COVAX รัฐบาลก็จำต้องรีบออกมาปฏิเสธว่าไทย ไม่ได้ตกขบวน หากแต่โดดลงจากขบวนแทน.. เพราะ
1.การจัดซื้อผ่าน COVAX จะทำให้ได้วัคซีนที่แพงกว่า
2.ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะ “เสียเงินฟรี” หรือไม่
3.ไม่สามารถเลือกวัคซีนได้เอง
และ 4.ถึงอย่างไรก็จะได้วัคซีนในเดือน มิ.ย. พร้อมๆ กับวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่ให้สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตอยู่ดี
.
ทั้งหมดนี้ ฟังดูก็รู้ว่า “ไม่สมเหตุสมผล” ข้อแรก ไทยจะได้วัคซีนแพงกว่าหรือไม่? อันที่จริง หากพอจะอ่านภาษาอังกฤษออกก็จะพบว่า ในโครงการ COVAX นั้น องค์การอนามัยโลก เป็นผู้สนับสนุน วัคซีนหลายตัวที่เข้าร่วม COVAX นั้น จะมีราคาที่ต่ำกว่าจัดซื้อเองชัดเจน เป็นต้นว่า “ไฟเซอร์” นั้น ประกาศขายวัคซีนให้ COVAX ในราคา “เท่าทุน” คืออยู่แถวๆ 19-20 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 600 บาท) ต่อโดส แอสตร้าเซเนก้า ก็จะขายที่ราคาเท่าทุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไร ราคาก็ไม่น่าจะหนีไปไหน
.
ส่วนที่ว่า “เลือก” ไม่ได้ และไม่มั่นใจในคุณภาพนั้น อันที่จริง วัคซีนที่ไทยมีดีลด้วยก่อนหน้านี้ ทั้งของแอสตร้าเซเนก้า และของซิโนแวคนั้น เมื่อทำสัญญาสั่งซื้อ กระทั่งทำสัญญาขอรับเทคโนโลยีมาผลิตเอง ก็ไม่มีอะไรการันตี “ผลลัพธ์” เช่นเดียวกัน หากจำกันได้ ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ “ซิโนแวค” มีผลทดสอบในบราซิลว่ามีประสิทธิภาพ 50.8% นั้น คนในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค ในสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังอ้าปากหวอ ถูๆ ไถๆ ไปว่า “น่าจะ” ไม่มีปัญหา เพราะในจีนฉีดไปแล้วหลายแสนหลายล้านคน ทั้งที่ในเวลานั้น จีนก็ยังไม่รับขึ้นทะเบียนซิโนแวค
.
ขณะที่ ดีลกับ “แอสตร้าเซเนก้า” ยิ่งแล้วใหญ่ สำนักข่าวประชาไท ไปค้นมติคณะรัฐมนตรี เดือนพฤศจิกายน ที่จองซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้านั้น ถึงกับระบุชัดในสัญญาว่า "มีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ".. ส่วน COVAX นั้น จะดีจะชั่ว ก็มี “คนกลาง” อย่างองค์การอนามัยโลกที่ช่วยคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรายชื่อล่าสุดขณะนี้ ผู้ผลิตวัควีนเจ้าใหญ่ของโลก ทั้ง แอสตร้าเซเนก้า, ไฟเซอร์, โนวาแวกซ์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ล้วนอยู่ใน COVAX ทั้งหมด..
.
นอกจากนี้ หากตรวจสอบรายละเอียด ก็จะพบว่า COVAX ไม่ใช่โครงการที่มีไว้เพื่อ “สงเคราะห์” ประเทศยากจนเท่านั้น ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศร่ำรวยจำนวนมาก ก็อยู่ในโครงการนี้ ตัวเลขล่าสุดไม่กี่วันก่อน พบว่าทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ มีมากกว่า 190 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ มีตั้งแต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนทุกประเทศ (เว้นไทย) ประเทศร่ำรวยอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ประเทศในสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมด จีนนั้น ตอนแรกก็ตั้งใจไม่เข้าร่วม แต่เปลี่ยนใจทีหลัง พร้อมจัดสรรวัคซีนเข้าโครงการเสร็จสรรพ และสหรัฐอเมริกาเอง ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ปฏิเสธเข้าร่วม แต่เมื่อที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคไบเดน ก็เข้าร่วม COVAX ทันที
.
อันที่จริง หลักการของ COVAX ก็คล้ายกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นคือทั่วโลก “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ประเทศมีจ่ายเยอะ ประเทศไม่มีจ่ายน้อย หรือไม่ต้องจ่าย เอาเงินมารวมกัน จัดซื้อวัคซีน แล้วเฉลี่ยไปในแต่ละประเทศตามที่แต่ละประเทศต้องการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์คือการกระจายวัคซีนให้มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากพอที่โรคนี้ จะคร่าชีวิตคนน้อยลง หรือมีคนตายให้น้อยที่สุด
.
เพราะฉะนั้น ประเทศไทย น่าจะ “เก่ง” ที่สุด ที่สามารถจัดหาวัคซีนผ่านผู้ผลิตโดยตรง หรือผลิตวัคซีนได้เอง ด้วยราคาที่รัฐบาลบอกว่า “เหมาะสม” ไม่จำเป็นต้องสังฆกรรมกับ COVAX รอให้ทั่วโลกเริ่ม “ฉีด” กันถ้วนหน้า แล้วไทยค่อยเริ่มฉีด รอให้คนไทย บ่นมากๆ หรือรอให้วัคซีนลดราคา จึงจัดซื้อเพิ่ม..
.
ถึงที่สุดแล้ว กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อาจตัดสินใจได้ถูกก็ได้ แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา การ “ตัดสินใจ” ที่ช้ากว่าคนอื่น การเริ่มต้นฉีดช้ากว่าคนอื่น แล้วอ้างแก้เกี้ยวว่าจะไม่ยอมให้คนไทยเป็น “หนูทดลอง” นั้น เป็นอะไรที่ “แปลกประหลาด”
.
ทั้งหมดนี้ ประกอบเข้าด้วยกัน จึงทำให้ให้ไม่น่าเชื่อใจเท่าไหร่นักว่ายุทธศาสตร์ที่เน้น “รอ” ขณะนี้ จะได้ผล และสุดท้าย การรอผลิตเอง การค่อยๆ เจรจาจัดซื้อ ตามแต่ละผู้ผลิตเป็นรายบริษัท จะทำให้ได้วัคซีนที่ราคาถูก ครอบคลุมประชากร และทั่วถึงได้จริงในระยะเวลาอันใกล้..
.
อ้างอิงจาก
https://www.devex.com/.../covax-releases-country-by...
https://www.businesstoday.in/.../pfizer.../story/428711.html
https://www.scmp.com/.../covid-19-variants-add-covax...
https://qz.com/.../who-is-getting-the-astrazeneca-vaccine/
.