วันอังคาร, สิงหาคม 11, 2563

"การชุมนุมลุกลามดั่งไฟโหม ยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขนาดและความแหลมคม" ถูกจุดด้วยการ 'อุ้มหายวันเฉลิม' เพราะ ‘โหดเหี้ยม’ เกินกว่าลักษณะในความเป็นมนุษย์

สำหรับผู้ใส่ใจการเมืองและทิศทางของประเทศไทยเวลานี้ น่าจะได้อ่าน ได้ฟังและชมคลิปถ่ายทอดการชุมนุม “เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กันอย่างหนำแล้ว ทั้งไล้ฟ์และแปะเกลื่อนบนหน้าสื่อสังคม

เป็นที่ยอมรับว่าการชุมนุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างหลังการยึดอำนาจและปกครองสืบทอดมาโดยคณะทหาร ตั้งแต่เดือนพฤษภา ๕๗ สื่อสากลอย่างเอพีประเมินจำนวนไว้ที่ ๓ พัน ขณะสื่อสังคมของไทยอย่างไอลอว์ว่า ๕ พันไม่หนี

จะกรณีใดก็สุดแท้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นข่าวแพร่หลายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ภายในประเทศสื่อสายหลักเจ้าใหญ่ๆ ยังงมงายจมปลักกับการทำหน้าเหรอหรา ไม่รู้ไม่เห็นกันเป็นแถว จนกว่าสื่อปฏิกิริยา เช่นไทยโพสต์ แนวหน้า และเนชั่น จะค้นหาแง่มุมออกมาจ้วงจาบได้

ไม่เพียงเพราะการปราศรัยของนักเคลื่อนไหวการเมืองเด่นๆ เช่น อานนท์ นำภา และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ผ่านคลิป) เจาะประเด็นอย่างตรงเผงในข้อวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ ตอกย้ำให้เห็นว่าสถาบันฯ ให้ร้ายและจงใจเป็นศัตรูกับระบอบประชาธิปไตย

แล้วยังแถลงการณ์ ๑๐ ข้อของคณะผู้จัด #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน พุ่งใส่หนทางแก้ไขเพื่อให้สถาบันฯ ได้เป็นมิ่งขวัญสำหรับประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ต่อไปโดยราบรื่น ได้เนื้อแท้ไม่อ้อมค้อม ครอบคลุมสิ่ง จำเป็นต้องทำได้อย่างดี

ข้อแรก “ยกเลิกมาตรา ๖ รัฐธรรมนูญ” ที่ห้ามฟ้องร้องกษัตริย์ แล้วเพิ่มให้สภาผู้แทนฯ เป็นผู้พิจารณา กับข้อสอง ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และนิรโทษกรรมผู้ต้องคดีหมิ่นฯ สองกรณีนี่เป็นหัวใจสำคัญอันทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกวิจารณ์จากทั่วโลกว่า โหดร้ายทารุณ

อีกแปดข้อนอกเหนือจากนี้ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ อันทำให้มีการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา เชิงสัญญลักษณ์บ้าง เสียดสีบ้าง กับกรณีอันทำให้เกิดความหมองหมางในหมู่ประชาชน กลายเป็นวิกฤตศรัทธาที่ขยายตัวไปดั่งไฟลามทุ่ง

เกี่ยวกับ ส่วนราชการในพระองค์นั่นอันหนึ่ง กองทหาร ตำรวจถวายความปลอดภัย กลายเป็นกองทัพน้อยๆ ใครแตะต้องไม่ได้ จะดีก็ถ้าคอยทัดทานกองทัพใหญ่ แต่นี่ไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยส่วนมากกองใหญ่เดินตามกองน้อย ทำให้ผู้คนปักใจว่าการอุ้มหาย-อุ้มตายผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นผลงานของกองน้อย

เรื่องทรัพย์สินและงบประมาณอีกอย่าง ชาวบ้านกำลังอดอยากจากการล็อคดาวน์โควิด-๑๙ มองเห็นงบประมาณเฉลิมพระเกียรติที่กระจายไปตามหน่วยราชการต่างๆ แล้วหน้าเหี่ยว อีกทั้งค่าใช้จ่ายรายวัน บินไปบินมา หรือบินวนๆ แก้เหงา ก็มากโข

ไหนจะ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เดิมอยู่ในการบริหารจัดการของกระทรวงคลัง ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถูกโอนไปเป็น ทรัพย์สินส่วนพระองค์จนหมดสิ้น ข้อเรียกร้องที่ธรรมศาสตร์วานนี้ ให้จัดแบ่งเป็นสองส่วนอย่างเดิม

ที่สดใหม่ เพิ่งเป็นข้อเรียกร้องทางการสมัยนี้ที่ก่อเกิดในรุ่นพลังเยาวชนมิลเล็นเนียล เจ็นเนอเรชั่นซี- แซ่ด ก็คือขอให้ยกเลิกพระราชอำนาจการแสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ที่ยังไม่ปรากฏรัชกาลนี้ได้ใช้ แต่ ผบ.ทบ.เอาไปใช้แทนพระองค์หลายครั้งแล้ว

ขอให้ยกเลิกอีกสองอย่างจัดเป็นนวัตกรรมถอดด้ามของรุ่นนี้ทีเดียว คือยกเลิกองคมนตรี และมิให้ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ดังทางปฏิบัติในรัชกาลที่แล้ว ทั้งๆ ที่เคยมีสลิ่มปริ่มโคลนตมอ้างว่า พระองค์ท่านพระราชทานประชาธิปไตยหลังเกิดเหตุพฤษภาทมิฬ

ไทเริล เฮเบอร์คอร์น นักวิชาการผู้ช่ำชองเรื่องการเมืองไทย ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซินที่แมดิสัน บอกกับเอพีว่า “ในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ขอบข่ายการถกเถียงเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวฯ และสถาบันกษัตริย์ไทย ขยายออกไปอย่างรวดเร็วมาก”

เธอชี้ว่า ป้ายที่เป็นฉากหลังบนเวทีอภิปรายที่ธรรมศาสตร์ “เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการปฏิวัติ” นั้นแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นนี้เรียกร้องต้องการ “แทนที่พวกเขาจะยอมรับประชาธิปไตยแบบยืมมือใช้ กับสถาบันที่ตรวจสอบไม่ได้ ว่าเป็นปกติ” เด็กเหล่านี้กระโจนเข้าไปจัดการโดยตรงด้วยตนเอง

“เด็กเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนในวงกว้างมากน้อยเท่าไร ยังไม่อาจชี้ชัด ดูเหมือนมหาชนเหนื่อยร้ากับการขัดแย้ง บางครั้งรุนแรง ในช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา” แต่เธอเชื่อว่า “การที่เด็กวัยเรียนออกมาเป็นกองหน้าในครั้งนี้ ดีกว่าพรรคการเมืองแบ่งขั้ว ที่ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙”

(https://uk.news.yahoo.com/unprecedented-open-criticism-king-aired-184617199.html และ https://prachatai.com/journal/2020/08/88977)

ตอนท้ายมีการประกาศ “เชิญชวนร่วมกิจกรรมครั้งต่อไปในวันที่ ๑๒ ส.ค.นี้ที่ สวนลุมพินี” นอกเหนือจากกำหนดนัดในรายการ คนรามจะไม่ทนที่ ม.รามคำแหง เย็นวันที่ ๑๔ สิงหา แล้ว การชุมนุมใหญ่โดย ประชาชนปลดแอก ที่ราชดำเนิน ๑๖ สิงหา ไม่เลื่อนไม่เปลี่ยน

ข้อต้องสังเกตุอยู่ที่ การชุมนุมลุกลามดั่งไฟโหมยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขนาดและความแหลมคม ถูกจุดด้วยการอุ้มหายจากที่ลี้ภัยในเขมรของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบัดนี้ครอบครัวเชื่อว่าเสียชีวิตแล้ว ในความรู้สึกของเยาวชนที่ออกมาชุมนุม พวกเขาเห็นว่าการกระทำนั้น โหดเหี้ยมเกินกว่าลักษณะในความเป็นมนุษย์