บางคนเปรียบการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา ในระหว่างการชุมนุม #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวานนี้ (๓ สิงหา) กับการอภิปรายที่ท้องสนามหลวงของ พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ เมื่อเดือนมีนาและเมษา ๒๕๒๖
กรณีของ พ.ต.ต.อนันต์ ผู้ก่อตั้งขบวนการ ‘ชนวน’ เปิดโปงการทุจริตต่างๆ ในวงราชการตั้งแต่ยุคก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ เป็นต้นมา ลงเอยด้วยการถูกตัดสินความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ขณะนั้น)
“ว่าเป็นการกระทำที่ผิดมาตรา ๑๑๒ ให้จำคุกกรรมละ ๓ ปี รวมจำคุก ๖ ปี” แม้จำเลยอ้างว่า “เป็นการพูดเพื่อเตือนสตินายทหารและนักการเมืองบางคน มิให้อ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตน ซึ่งเป็นการดึงสถาบันให้ตกต่ำและเสื่อมเสีย”
และแม้นว่า มนัส สัตยารักษ์ นายตำรวจนักเขียนเอ่ยถึง “อัยการผู้ใหญ่เจ้าของสำนวนฟ้อง ท่านกับผมรู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กจึงให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา” ว่า “เรื่องแบบนี้ถ้าไม่จำเป็นตำรวจไม่น่าจับกุมกล่าวหาเป็นคดีนะ” ก็ตาม
อย่างไรก็ดีการอภิปรายอย่างจริงจังและจริงใจของอานนท์ อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองอย่างแรงก็ได้ หากจะวัดจากสัญญานเล็กน้อยที่ Thanapol Eawsakul ตั้งข้อสังเกตุ “เพิ่งทราบว่าวอยส์ทีวีลบคลิปปราศรัยของอานนท์ นำภา แปลว่าเรื่องดังกล่าวต้องมีแรงกดดันมาก”
มิใยเจ้าตัวจะกล่าวทิ้งท้ายการปราศรัยของเขาว่า “ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นจากการพูดความจริงของผม ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคาม จะจับไปดำเนินคดี หรือจะทำให้ผมเสียชีวิต ผมไม่เสียใจครับ ที่ชีวิตผมได้พูดความจริงแล้ว” ทั้งที่ว่ากันว่าในรัชสมัยนี้ไม่มีการใช้ ม.๑๑๒
แต่ก็มีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พรบ.คอมพิวเตอร์ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ กระทั่ง คำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ และที่หนักหน่วง โหดเหี้ยม เมื่อ “ผู้ลี้ภัยทางการเมืองออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ แล้วถูกอุ้มฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ”
อานนท์พูดถึง “คนอย่างเหรียญทอง (แน่นหนา) แอบอ้างสถาบันกษัตริย์มาทำร้ายพวกเรา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วสถาบันกษัตริย์คิดกับพวกเราอย่างไร” เขาจึงผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรรับไม้ไปพูดเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย และมีเหตุมีผลต่อความจริง
ข้อเสนอของอานนท์ในการปราศรัย ล้วนแต่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้จัดรายการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งก็คือกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสด (เคยูเดลี่) ได้แก่ ให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่เป็นการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ (เขาใช้คำว่า “ล้นเกิน”)
“เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ขณะนี้พระราชอำนาจล้นเกินไปกว่าที่ระบอบอนุญาตแล้ว” ถึงตรงนี้มีคนยกมือท้วงว่า พูดอย่างนี้จะถูกหาว่าเป็นการลบหลู่หรือเปล่า อานนท์บอกว่า ที่พูดนี่ “ไม่ได้ต้องการล้มล้าง แต่พูดเพื่อให้สถาบันฯ อยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรม”
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน ‘ส่วนพระมหากษัตริย์’ เดิมที่เป็น ‘สาธารณะสมบัติ’ เช่นสนามหลวงเป็นอาทิ หรือการบัญชาการกองทหารส่วนพระองค์ (ราชวัลลภฯ) ทั้งกรมทหารราบที่ ๑ กับกรมทหารราบที่ ๑๑
แล้วยังการจัดสรรงบประมาณเพื่อจับจ่ายเป็นการส่วนพระองค์นอกเหนือจากงบประมาณปกติซึ่งก็มากอยู่แล้ว อันถือว่า “คือการประจบประแจงสถาบันกษัตริย์อย่างล้นเกินของรัฐบาลนี้” เขายกตัวอย่างงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์เอาไปโปรโมทเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อ ‘สิริวัณณวรี’
“งบประมาณหลายหมื่นล้านถูกใช้ไปโดยสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีการตรวจสอบ นี่ยังไม่รวมถึงงบประมาณของกรมการปกครองท้องถิ่นที่ไปสร้างซุ้มถวายพระเกียรติมูลค่าเป็นสิบๆ ล้าน ไม่มีความจำเป็นเลย” เขาเรียกร้องว่าถ้าจะมีต้องพิจารณาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
อีกประเด็นที่อานนท์เอ่ยถึงว่าการที่พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่เยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายการเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินของพระองค์กว่า ๕ พันล้านบาท กฎหมายของประเทศนั้นอาจจะบังคับให้พระองค์ต้องเสียภาษี
“นี่คือความสุ่มเสี่ยงอย่างถึงที่สุด ที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่เคยพูดถึง” (เนื่องจากขณะนี้พระองค์ทรงมีทรัพย์สินส่วนพระองค์มหาศาล ๓๕ พันล้านดอลลาร์ตามการประเมินของบลูมเบิร์ก และมีการเคลื่อนไหวในรัฐสภาบาวาเลีย เสนอให้พิจารณาเก็บภาษีมรดกของกษัตริย์ไทยแล้ว)
ข้อเสนอ ของอานนท์ มิได้ ‘ล้นเกิน’ ไปจากมิติแห่งประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่เคยมีใครกล้าออกหน้าหรือคอยแต่คิดว่าจะทำให้ ‘ห่าลงกบาล’ กันเสียทั้งนั้น บ้างว่าพูดไปทำไรมี ท้ายที่สุดก็ทำไม่ได้
“กรณีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ทรัพย์สิน ๒๕๖๑ ถ้าจะเอาเหมือนสมัย ร.๙ คือ กลับไปใช้ พ.ร.บ.ทรัพย์สิน ๒๔๙๑ แต่ถ้าเอาแค่นี้ก็ตรวจสอบไม่ได้นะ” วาด ระวี Rawee Siri-issaranant เขียนท้วงติง
อีกทั้งกรณีไม่ประทับอยู่ประจำในราชอาณาจักร เขาว่า “ไม่ใช่เรื่องใหญ่” แม้จะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณ เพียงสะท้อนว่ารัฐไทย “ยังไม่สามารถทำให้กษัตริย์ปฏิบัติตามสิ่งที่ควรได้” นับประสาอะไรกับให้ปฏิบัติสอดคล้องประชาธิปไตย
อยากฝากท่านทั้งหลายที่มัก “ใจเย็นๆ อย่างเพิ่งเสี่ยงดีกว่า” ในประเด็นการ ‘ร่ำร้อง’ ให้พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จคืนสู่พระนครว่าก็ถ้าประยุทธ์กับ ร.๑๐ เป็นปี่เป็นขลุ่ยขนาดนี้ เสด็จกลับมาให้ตู่ได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทจะดีกว่า
เผื่อว่าทรงหมั่นไส้ตู่เมื่อไหร่จะได้ทรง ‘ดีด’ ให้ไม่ ‘ล้นเกิน’ เสียบ้าง เว้นแต่การที่สองประมุขประเทศอยู่ห่างกันสุดขอบฟ้าเป็นความลงตัวของ ‘เผด็จการครึ่งใบ’ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ตามทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศที่ว่า ‘equidistance’
(หมายเหตุ ฟังรายละเอียดคำปราศรัยของอานนท์ที่นี่ ไม่มีใครลบ https://www.facebook.com/somsakjeam/videos/3114296505290274/)