วันจันทร์, สิงหาคม 17, 2563

ท้ายที่สุด ‘ข้อคิด จุดยืน และสัญญาน’ ที่ออกมาจากการชุมนุม เป็นความอัดอั้นที่ "อำนาจรัฐประหารยังกดหัวคุณเรื่อยไป"

จะสามหมื่นหรือไม่ถึงพัน (อย่างที่แม่เล้าไก่ราชบุรีว่า) ก็สุดแท้แต่ ม็อบ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ เมื่อวาน ๑๖ สิงหา คนร่วมบนถนนราชดำเนินและสองข้างทางนั่งและยืน แน่นตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงแยกคอกวัว ทั้งคึกคักและหลากหลาย

คึกคักที่สุดตอนเขาร้องเพลง “Can you hear the people sing?” กึกก้อง หลากหลายด้วยผู้คนนานาเพศต่างวัย Charlie Thame อาจารย์สอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ธรรมศาสตร์ ไปสังเกตุการณ์และถ่ายภาพเอามาทวี้ต

“ใช้เวลา ๔๐ นาฑีเดินลงไปตามถนนราชดำเนินสักสองกิโลฯ” แสดงถึงความหนาแน่นของฝูงชน “หลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ” เขาว่าคุณป้าที่อยู่ข้างหน้าเขา ยกมือชูสามนิ้วพร้อมไปกับพวกวัยหลานที่อยู่รอบข้าง เสื้อแดงก็มี

“เสียงเชียร์กระหึ่มให้กับ เพ็นกวินซึ่งไปร่วม” (ข้อผูกมัดจากการได้ประกันปล่อยตัวไม่ได้ห้าม ดังบางคนเข้าใจผิด) และการที่พริษฐ์ (ชีวารักษ์) กับ รุ้ง ปนัสยา (สิทธิจิรวัฒนกุล) ไม่ได้ขึ้นปราศรัยและเดินทางกลับก่อนยุติชุมนุม

ไม่ใช่การขัดแย้งดังที่รายงานของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ภัทราพร ตั๊นงาม ทำให้คิดไป โดยทั้งคู่เขียนเฟชบุ๊คชี้แจงแล้วว่างานนี้ #ประชาชนปลดแอก เป็นผู้จัด ไม่ได้มีกำหนดให้ทั้งสองขึ้นพูดถึงข้อเรียกร้อง ๑๐ ข้อ ซึ่งเสนอไว้ที่เวทีธรรมศาสตร์รังสิต

สำหรับวันนี้ #การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงอยู่ที่ ความฝัน ๑ ข้อของงานก็คือ “การมี ‘ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ อย่างแท้จริง” จะมีเพิ่มเติมก็จากคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา ตอนหนึ่ง

“เราฝันแค่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง แต่พวกเขาบอกว่าห้ามเราฝันต่อ แต่เราจะฝันต่อ และเราอยากเรียกร้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาฝันร่วมกับพวกเรา” (“ฝันไปเถอะ” ใครไม่รู้พูดเสียงชัดเข้าหู)

ข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ยังยืนตามจุดยืนของคณะ #ประชาชนปลดแอก สามเรียกร้อง สองจุดยืนดังที่ มายส์ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากเครือข่าย นักเรียนนักศึกษาเคียงข้างประชาชนอภิปรายไว้อย่างละเอียดบนเวที

“หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา” กับ “เราไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ” และ “เราไม่เอารัฐประหาร” สาวน้อยนักปาฐกคนใหม่บอกว่า “คนพวกนี้หลงระเริงในอำนาจมานานมากไปแล้ว...ทำตัวสุขสบายบนภาษีของพวกเรา”

ความหลากหลายในข้อเสนอต่างๆ ระหว่างการชุมนุม รวมถึงแสดงละครสั้น บั่นผมนักเรียนหญิงประท้วงนโยบายให้นักเรียนไว้ผมสั้น รวบเรียบๆ สำหรับนักเรียนหญิงและ เกรียน สำหรับชาย กับมีนักศึกษาศิลปากรกลุ่มหนึ่งขอแจมข้างเวที ไล่อธิการบดี สลิ่ม

และ 'รณรงค์เสรีเบียร์' ประชาไท Prachatai.com รายงานว่า “ภายในที่ชุมนุมมีผู้นำคราฟเบียร์ผลิตในไทยมาเรียงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระบุว่าเพื่อสนับสนุนการเปิดเสรีการผลิตเบียร์ และระบุว่ามีกฏหมายที่ให้ประโยชน์กับนายทุน ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยลำบาก”

ส่วนที่พูดถึงกันมากบนถนนเป็นเรื่อง “#งานนี้แอบมีหมารอบกัดตัดสัญญานเน็ต” การปรากฏของรถเสาอากาศเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเสาสูงเดี่ยวหรือหลายเสาเตี้ย ใช้ส่งคลื่นรบกวนสัญญานไวไฟโทรศัพท์มือถือและบลูทู้ธ รวมทั้งปืนเลเซอร์ยิงโดรน

ตอนท้ายมีตื่นเต้นเล็กน้อยเมื่อเสียงลือทั่วที่ชุนุมว่าจะมีการจับกุมแกนนำและแจ้งข้อหาของตำรวจ แกนนำทั้ง ๓๑ คนจึงพากันเดินเท้าไปยังสถานีตำรวจสำราญราษฎร์ เพื่อถามเอาความจริงจากปากตำรวจบนโรงพัก ขณะที่มีอาจารย์กว่า ๖๑ คนประกาศ #อาสาเป็นนายประกันให้ผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม

ท้ายที่สุด ข้อคิด จุดยืน และสัญญานที่ออกมาจากการชุมนุมครั้งนี้ มันย้อนไปตามกระบวนการที่ก่อรูปร่างมาหลายปี และปรากฏเด่นชนิดไม่เคยมีมาก่อนตลอดช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ก็คือความไม่พอใจและคัดค้านการรัฐประหาร

มันระเบิดออกมาในรูปของการ ต่อต้าน แม้กระทั่งการสืบทอดอำนาจที่ทำเป็นเนียน นักศึกษาคนหนึ่งระบายความในใจไว้เมื่อสามวันก่อน Athikom Jeerapairotekun เก็บมาเผยแพร่ “คุณมองไม่เห็นรถถังแล่นไปบนถนนหรอก รัฐประหารยุคปี 2020 เปลี่ยนไป

มันแล่นเข้าไปในศาลรัฐธรรมนูญ ในสำนักงานการเลือกตั้ง ในสำนักงานปราบปรามทุจริตแห่งชาติ...มันไม่ได้บรรทุกชายในชุดลายพรางพร้อมอาวุธสงคราม...หากเป็นพลเรือนและทหารสวมสูท ในนามสมาชิกวุฒิสภาสองร้อยห้าสิบ”

ข้อความที่เก็บมาจาก #ตลาดหลวง ย้ำเตือนฝังหัวมิวาย “อำนาจรัฐประหารยังกดหัวคุณเรื่อยไป แม้ประเทศจะผ่านการเลือกตั้งลายพรางมาเกือบจะครบปี”

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก https://thestandard.co/free-people-rally-for-democracy-120863/ และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2309959)