วันพุธ, สิงหาคม 12, 2563

"ไม่ใช่เมื่อไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องก็จะต้องประหัตประหารให้ตายไปข้างหนึ่ง ถึงอย่างไรนักศึกษาก็เป็นลูกหลานของเรา เป็นประชาชนที่พึงมีสิทธิ์มีเสียง ที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรจะต้องรับฟัง" - จาตุรนต์ ฉายแสง




Chaturon Chaisang
3h · 

มีการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำนองว่าเยาวชนนักศึกษาอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ มิฉะนั้นจะเป็นเหมือน 6 ตุลา
ในฐานะที่ผมเป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้ไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น แต่ก็มีเพื่อนหลายคนถูกฆ่าตายและชีวิตผมก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย อยากจะฝากข้อคิดต่อผู้มีอำนาจและผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงจรของอำนาจ
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้เกิดจากการสร้างเงื่อนไขของนักศึกษา ไม่มีการสะสมอาวุธ ไม่มีอุโมงค์ ไม่มีคนญวนไม่มีการทำผิดกฎหมายใดๆ การสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์เกิดจากการวางแผนสมคบกันของผู้มีอำนาจและพวกที่จงใจใส่ร้ายป้ายสี สร้างความโกรธแค้นเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อนักศึกษา จนถึงขั้นที่ประชาชนจำนวนหนึ่งบ้าคลั่งเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนอย่างโหดร้าย
การที่มีการออกมาเตือนนักศึกษาในปัจจุบันว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ที่เป็นเงื่อนไขให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาจึงเป็นความเข้าใจผิดหรือไม่ก็ตั้งใจบิดเบือนความจริง เป็นการเตือนไม่ถูกคน
หากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลา อีก ต้องช่วยกันเตือนผู้มีอำนาจและพวกว่าอย่าได้คิดปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษา การเข่นฆ่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงบานปลายเป็นความเสียหายต่อบ้านเมือง
ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของนักศึกษาย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา แต่ข้อเรียกร้องยังอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและจะบรรลุผลได้ก็โดยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบจึงพึงที่จะรับมาพิจารณา จะทำตามหรือไม่อย่างไรก็ชี้แจงกันไป ไม่ใช่เมื่อไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องก็จะต้องประหัตประหารให้ตายไปข้างหนึ่ง ถึงอย่างไรนักศึกษาก็เป็นลูกหลานของเรา เป็นประชาชนที่พึงมีสิทธิ์มีเสียงที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรจะต้องรับฟังและส่งเสริมให้มีการพูดจาหารือกัน
ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤต นับวันยิ่งร้ายแรงมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากรัฐธรรมนูญและกฎกติกาต่างๆที่คณะรัฐประหารกับพวกได้สร้างไว้ ทางออกจากวิกฤตจึงอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญหรือเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่ ที่หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาหาทางกันอยู่ก็ถือว่าถูกทางแล้ว ขอเพียงแต่ต้องทำด้วยความจริงใจจริงจังและรวดเร็วทันการณ์เท่านั้น