วันอังคาร, สิงหาคม 11, 2563

ไช่เลย... ศาลเคยชี้ปราศรัยขับไล่รัฐบาลโดยสงบ ไม่เข้าข่ายข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
13h ·

+++ ย้อนอ่านคำพิพากษา: ศาลเคยชี้ปราศรัยขับไล่รัฐบาลโดยสงบ ไม่เข้าข่ายข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116+++
.
มาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงของรัฐ ยังคงเป็นข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ยุค คสช. กระทั่งถึงการชุมนุมล่าสุดของกลุ่ม เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH
.
ข้อหานี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความอย่างกว้างขวางไปถึงการแสดงออกในเชิงคัดค้านคสช. หรือปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ โดยพบว่ามีการนำมาใช้กล่าวหานักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในช่วง คสช. อย่างน้อย 124 ราย หากหลังการต่อสู้คดีข้อหานี้ หลายคดีศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหลายต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างยาวนานในกระบวนการยุติธรรม ที่กลายเป็นเครื่องมือของผู้ใช้อำนาจ
.
คดีแกนนำชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง เป็นกลุ่มคดีชุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้ข้อหามาตรา 116 โดยเฉพาะกรณีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ซึ่งถูกเรียกโดยย่อว่า “คดี RDN50” อันมีที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของถนนราชดำเนิน โดยการชุมนุมได้เรียกร้องไม่ให้เลื่อนการเลือกตั้งและหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในเวลานั้น
.
ผลลัพธ์จากการชุมนุมส่งผลให้แกนนำ 7 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, สุกฤษฏ์ เพียรสุวรรณ, กาณฑ์ พงประภาพันธ์, รังสิมันต์ โรม, ณัฎฐา มหัทธนา, และชลธิชา แจ้งเร็ว ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต่อมาคดีของรังสิมันต์ โรม ถูกแยกการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากติดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร
.
สำหรับคำฟ้องของฝ่ายโจทก์กล่าวโดยย่นย่อว่าแกนนำของการชุมนุมครั้งนี้ ร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที แล้วร่วมปราศรัยโจมตีการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร, คณะรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมชูสามนิ้ว อันเป็นสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ฯลฯ
.
หลังสืบพยานหลายนัด 20 ก.ย. 2562 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงการยกฟ้องจำเลยในข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ไว้ว่า
.
“อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ความวุ่นวาย ไม่มีการใช้กำลังบีบบังคับให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง นอกจากนี้ ผู้จัดการชุมนุมในครั้งนี้เป็นนักศึกษาและผู้มีอุดมการณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่มีการชุมนุมมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว แต่ คสช. ยังใช้อำนาจในการปกครองประเทศ จำเลยยังนำสืบว่า หัวหน้า คสช. เคยประกาศที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็เลื่อนมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งมีการกระทำเป็นกระบวนการในการที่จะเลื่อนเลือกตั้ง เมื่อพิจารณาจากการปราศรัย การแสดงสัญลักษณ์ และแผ่นป้ายในที่ชุมนุม ซึ่งพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์, คสช. โดยมีเนื้อหาหลักให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 สอดคล้องกับที่ พ.อ.บุรินทร์ (ทองประไพ) ผู้กล่าวหา ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มีคำพูดที่รุนแรง การเรียกร้องของจำเลยจึงเป็นการกระทำตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
.
“สำหรับการปราศรัยเรื่องการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เช่นเดียวกับการปราศรัยเรื่องนาฬิกา 25 เรือนของพลเอกประวิตร ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส่วนการที่จำเลยที่ 3 พูดว่า การชุมนุมจุดติดแล้ว เห็นว่า เป็นไปเพื่อให้ข้อเรียกร้องหนักแน่นขึ้น ทั้งนี้ หลังจากมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ปี 2562 พวกจำเลยก็ไม่ได้ออกมาชุมนุมอีก
.
“การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 แม้ถ้อยคำจะไม่เหมาะสมหรือก้ำเกินไปบ้าง แต่ก็เพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามหลักประชาธิปไตย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง”
.
คดีนี้สิ้นสุดลงในศาลชั้นต้น เนื่องจากอัยการไม่ได้อุทธรณ์คดีอีก
.
----------------------------

อ่านคำพิพากษาและรายละเอียดของคดีนี้เพิ่มเติมได้ที่
- ยกฟ้อง 6 แกนนำ RDN50 ศาลชี้ไม่ได้ยุยงปลุกปั่น และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ รธน. https://www.tlhr2014.com/?p=13798
- ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี RDN: การต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน https://www.tlhr2014.com/?p=13585
- รู้จักข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เครื่องมือจัดการประชาชนยุค คสช. https://www.tlhr2014.com/?p=11636

#เปิดคำพิพากษา