วันพุธ, มีนาคม 18, 2563

ออกมาตรการ ‘ชะลอ’ การแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรน่า "ขาดแต่เรื่องความโปร่งใส บอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่"


ในที่สุดรัฐบาลก็ออกมาตรการ ชะลอการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรน่า แต่ยังไม่ไปถึงขั้นปิดหรือ ล็อคดาวน์ทั้งประเทศ อ้างว่ามาตรการรุนแรงอย่างนั้น “ไม่สามารถทำได้” แต่ก็ให้ปิดชั่วคราวสถานที่สาธารณะหลายอย่าง

บรรดามหาวิทยาลัย โรงเรียน สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงหนัง ให้ปิดดำเนินการ ๑๔ วัน ตั้งแต่ ๑๘ มีนาเป็นต้นไป ส่วนสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ให้ปิดชั่วคราวไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ส่วนแหล่งธุรกิจ เช่น ห้าง ตลาด ร้านอาหาร ให้เปิดตามปกติแต่มีมาตรการคัดกรองเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าทางดนตรี ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา การแสดงสินค้า ให้งดหมด รวมทั้งการเคลื่อนย้ายกำลังคนต่างๆ

แต่ถ้าใครชมการถ่ายทอดแถลงสดของนายกฯ และ ครม.ที่ตึกไทยคู่ฟ้า จะพบกับความสับสนอย่างมาก เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กมหน้าก้มตาอ่านประกาศอย่างรัวๆ ไม่มีจังหวะจะโกลน จึงมีคนเอาไปเปรียบกับการบรรยายทางเฟชบุ๊คไล้ฟ์ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ทั้งที่อ่านและพูดเรื่องเดียวกัน บนฐานข้อมูลเดียวกัน แพร่ภาพเคลื่อนไหวในวันเดียวกัน เสียงวิจารณ์บอกว่ารายการของธนาธรฟังง่าย เข้าใจง่าย มีทั้งวิสัยทัศน์และบุคคลิกที่ดีกว่าอีกรายการของประยุทธ์ โดยเฉพาะในช่วงที่พูดถึง ‘Social Distancing’
 
อันเป็นมาตรการชักชวนประชาชนเปิดระยะห่างทางกายภาพต่อกัน หลีกเลี่ยงการพบปะใกล้ชิด “ไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีผู้คนรวมกันมากกว่า ๑๐ คน ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน​ งานศพ หรืองานรื่นเริง​สังสรรค์”​ แล้วจะช่วย “ชะลอการแพร่ระบาด​ไวรัส โควิด-๑๙ ได้

คำบรรยายเหล่านั้นดูจะสร้างความเข้าใจกับผู้ฟังได้ดีกว่าการอ่านโพยของนายกฯ ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดการสับสนในหมู่มหาชนว่า รัฐบาลสั่ง ปิดประเทศแล้วหรือไม่ นัยว่าโปรเฟสเซ่อโฆษกเองนั่นแหละที่ใช้คำนั้น ให้ต้องมาไล่แก้ภายหลัง

ธนาธรยังพูดเลยไปถึงว่า “มาตรการ​การหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คน ควรจะต้องดำเนิน​ไปพร้อมกับมาตรการการเยียวยา” และถ้าไปถึงเวลาที่ต้องใช้มาตรการอย่างเข้มงวดมาก “คงเป็นเวลาที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา​ ให้เข้าใจ รับรู้ ไม่ตื่นตระหนก”


มันเป็นวิสัยทัศน์ผู้นำอย่างหนึ่งที่จะมองเห็น ความน่าจะเป็น เบื้องหน้า และวางมาตรการรับมือไว้อย่างพร้อมสรรพ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญในวันรุ่งขึ้น มีการเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี “รับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า”

ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แจ้งว่าจะมีการลดค่าบริการไฟฟ้าและน้ำประปาทุกประเภทลงไป ๓% เป็นเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน ๖๓ ทั้งยังมีมาตรการ “คืนเงินประกันการใช้น้ำ” สำหรับผู้อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็กด้วย

ขณะเดียวกันมีการแถลงของอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า “ไทยติดเชื้อเพิ่มอีก ๓๕ คน ยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ ๒๑๒ คน” นั่นเป็นสถิติการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อภายในวันเดียว โดยที่ก่อนหน้านี้สามวันติดกัน “จำนวนผู้ป่วยในวันที่ ๑๕-๑๗ มี.ค.๖๓ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ประมาณวันละ ๓๐ คน” วีรนันต์ กัณหา ทวี้ตรายงานข่าวจากองค์การอนามัยโลก ทั้งที่รัฐบาลยืนกรานไม่ยอมที่จะขยับภาวะการติดเชื้อในประเทศไปสู่ระดับที่สาม ด้วยข้ออ้างลอยๆ ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ “ด้วยมาตรฐานที่เรากำหนดเอง

แต่ไต้หวันได้เตือนภัยให้พลเมืองของเขาได้ทราบว่า ณ ขณะนี้การระบาดของ COVID19 ในประเทศไทย อยู่ในระดับสูงสุด (ระดับ ๓) แล้ว ซึ่งเทียบเท่ากับอิตาลี” จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และ ๓ มลรัฐในสหรัฐ คือนิวยอร์ค วอชิงตัน และแคลิฟอร์เนีย

พลเมืองไต้หวันที่เดินทางมาจากประเทศไทย และอีกกว่าสิบประเทศที่ถูกยกระดับความเสี่ยงขั้น ๓ จะต้อง “เข้าทำการกักตัวเองในที่พักเป็นเวลา ๑๔ วัน เช่นเดียวกับพลเมืองไทยที่เดินทางไปไต้หวัน...หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ ๑ แสนถึงสูงสุด ๑ ล้านเหรียญไต้หวัน


เช่นนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลได้เริ่มดำเนินการในครรลองเดียวกับที่ธนาธรแสดงวิสัยทัศน์ไว้ ขาดแต่เรื่องความโปร่งใส บอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือเพียงขายผ้าเอาหน้ารอด ดังข้อความทวี้ตของ @noirisaesthetic

“และแล้ว 1 MDB ป่ารอยต่อ กักตุนหน้ากาก ก็เงียบหายไปอย่างปกติ ดั่งเช่นเรื่องอื่นๆ ก่อนนี้” รวมทั้งการกลับมาป่วนงานกรรมาธิการปราบคอรัปชั่นของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.ลิ่วล้อรัฐบาล ซึ่งหมายก่อกวนตัวประธานฯ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
 
เขาแถลงข่าวโวยวายว่าประธานฯ ละเมิดคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมซึ่งรวมคนจำนวนมาก แต่เสรีพิศุทธ์กลับเรียกประชุมคณะกรรมมาธิการ ปปช. แต่ในวันที่ ๑๗ มีนาคมเดียวกันนั่นเอง สิระกลับไปร่วมงานวันเกิดกับ ส.ส.พลังประชารัฐนับสิบๆ


เนื่องจากมี ส.ส.หญิงของพรรคคนหนึ่งเขียนเตือนทางไลน์ของกลุ่ม ว่าไปจัดเลี้ยงกันอย่างนี้ไม่เหมาะสม เหมือนไม่เคารพนายกฯ และรองฯ ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งประกาศขอให้งดการจัดงาน แต่ก็ถูกปารีณาโต้แย้งอย่างกระแนะกระแหน