วันเสาร์, มีนาคม 14, 2563

รัฐธรรมนูญ 2560 : “แฟลชม็อบ” นักศึกษาชงรื้อรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย-เลิกนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร



THAI NEWS PIX

รัฐธรรมนูญ 2560 : “แฟลชม็อบ” นักศึกษาชงรื้อรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย-เลิกนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

แกนนำนักศึกษาผู้จัด "แฟลชม็อบ" ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ยืนยันไม่มีแนวคิดนำมวลชนลงสู่ท้องถนน พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร แสดงความจริงใจด้วยการออกไปรับฟังเสียงของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย มากกว่าเชิญมาปิดห้องพูดคุยกันในรัฐสภา

"เรียกพวกเรามาทำอะไรครับ เรียกมาศึกษาปัญหา หรือเรียกมารับฟัง" นายพร้อมสิน บุญจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และตัวแทนภาคีนักศึกษา ม.กรุงเทพ ตั้งคำถามต่อ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ท่ามกลางเสียงปรบมือลั่นจากนักศึกษาคนอื่น ๆ

นายพร้อมสินอธิบายว่า พวกเขาไม่กี่สิบคนเป็นตัวแทนนักศึกษานับแสนคนทั้งประเทศไม่ได้ เพราะจำนวนไม่พอ และประเด็นปัญหารัฐธรรมนูญที่จะพูดก็ไม่พอกับเวลาเพียงครึ่งบ่ายที่ กมธ. จัดสรรให้

"อยากถาม กมธ. ว่าเคยฟังเราไหมตอนจัดแฟลชม็อบ พวกเราไม่ได้ต้องการมานั่งที่นี่ วิธีนี้ไม่ได้ผลแน่นอน" ผู้จัดแฟลชม็อบ ม.กรุงเทพ ระบุ

เช่นเดียวกับผู้จัดแฟลชม็อบ ม.ขอนแก่น ที่กล่าวชวนเชิญ กมธ. ไปเจอกันได้ในวันที่ 14 มี.ค. หากสนใจ

แฟลชม็อบนักเรียน-นักศึกษา ประกายไฟในกระทะ หรือ เพลิงลามทุ่ง
รวมคำและวลีจากแฟลชม็อบของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจ
กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เปิดเวทีรับฟังความเห็น นศ.


THAI NEWS PIX

นักเรียน นิสิต นักศึกษาราว 70 คน จาก 33 สถาบันการศึกษา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ช่วงบ่ายวันนี้ (13 มี.ค.) โดยถือเป็นการยก-ย้ายความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นใน "แฟลชม็อบ" ทั่วประเทศมาพูดคุยกันภายในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 20 วัน นับจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 ก.พ. กลายเป็นชนวนของการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในวันรุ่งขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นข้อเรียกร้องที่ไปไกลกว่าเรื่องพรรคการเมือง สะท้อนความไม่พอใจและไม่มั่นใจที่จะฝากอนาคตของพวกเขาไว้ในกำมือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นศ. หนุนแก้ รธน. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องแก้ไข "รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ทั้งที่มาและเนื้อหา และคาดหวังให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ตัวแทนกลุ่มภาคีนักศึกษาศาลายา ม.มหิดล ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาไม่ได้เลือก และในเวลานั้นประชาชนก็ไม่มีปากเสียง เมื่อนำเข้าสู่ชั้นประชามติ "เขาก็ไม่ให้เราพูด มีการใช้อำนาจรัฐปิดเสียงผู้ไม่เห็นด้วย และต่อมารัฐธรรมนูญนี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดเสียงพรรคฝ่ายค้านบางพรรคอีก"

นายวิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "รัฐธรรมนูญที่ไม่ดี ย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดีและไม่มีเสถียรภาพในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้" การแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของผู้แทนราษฎรทุกคน

นศ.ขอนแก่นจี้ดำเนินคดีคณะรัฐประหาร

ส่วนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งบรรดานักศึกษาระบุตรงกันว่า "คาใจ" หนีไม่พ้นมาตรา 279 ที่รับรองประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการ "นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร"

นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรา 279 เป็นการทำให้สิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมตั้งคำถามว่า "เราจะรับรองสิ่งที่ไม่ใช่ rule by law (การปกครองด้วยกฎหมาย) ให้เป็น rule by law แบบไทย ๆ จริง ๆ หรือ

เช่นเดียวกับนักศึกษากฎหมายจาก ม.ขอนแก่น ที่เห็นว่า "มาตรานี้ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลย เราร่ำเรียนตำรานิติศาสตร์เหนื่อยแทบตาย สุดท้ายได้มาตรานี้หรือ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญไทยกลับรับรองมาตรานี้ แสดงว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย"

THAI NEWS PIX

นักศึกษาชายรายนี้ยังเรียกร้องให้ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 279 และต้องนำคณะรัฐประหารมาดำเนินคดีด้วย

ขณะที่นักศึกษาจาก ม.ศิลปากร เตือน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ว่า ต่อให้จัดทำข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีอย่างไร หรือมีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ดีอย่างไร สุดท้ายก็ถูกฉีกได้โดยคณะรัฐประหาร ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550

"ถ้าเราจะแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร ก็ไม่ต้องมานั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ... หากท่านจะศึกษาเรื่องนี้ กรุณาพูดถึงการแก้ไขรัฐประหารด้วย เพราะมี ส.ส. บางคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาป้องกันการรัฐประหารและรักษาระบอบของตัวเอง" นักศึกษา ม.ศิลปากรกล่าว

นศ. ไม่พอใจหลายประเด็นใน รธน. 2560

ตลอดเวลา 3 ชม. ของการพบปะกัน นิสิตนักศึกษาได้สะท้อนความไม่พอใจ/ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 ในหลายประเด็น บีบีซีไทยสรุปไว้ ดังนี้

สิทธิเสรีภาพ : ประชาชนพูดได้ ชุมนุมได้ เว้นแต่มีกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ จึงอยากถามว่าเป็นความมั่นคงของใคร ของรัฐ ของรัฐบาล หรือของอดีต คสช. ขอให้ระบุให้ชัด, การบัญญัติว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งที่ปัจจุบันเพศสภาวะมีหลากหลาย เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติ

ระบบการเมือง : การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย และรัฐบาลที่อ่อนแอ

นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. : เป็นสัญญาณว่าจะก่อให้เกิดปัญหาเพราะไม่ไช่ประชาธิปไตยโดยแท้

ส.ว. แต่งตั้ง : ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ไม่ชอบธรรมโดยประชาธิปไตย แต่มีอำนาจมากมาย เช่น การรับรองรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, การล็อคไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการ "ล็อคประเทศไทยให้อยู่กับที่"

กระบวนการยุติธรรม : ที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน และการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการถือเป็นที่สุด แต่ไม่มีใครตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ "เขาคือที่พึ่งสุดท้าย หากที่พึ่งสุดท้ายพึ่งไม่ได้ คนรับเคราะห์คือประชาชน"

องค์กรอิสระ : ที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากประชาชนได้

THAI NEWS PIX

หน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษา : ประชาชนเรียนฟรีไม่จริง และคนจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่า ทั้งนี้นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ยกรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2560 มาสนับสนุน พบว่า คน 10% ที่อยู่ส่วนบนสุดของสังคมมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย 65.5% ขณะที่คน 10% ที่อยู่ส่วนล่างสุดสังคมมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยเพียง 3.8% ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงอยากเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เรียนฟรีถึงระดับอุดมศึกษา ไม่ใช่เรียนฟรี 12 ปี

ผู้จัดแฟลชม็อบยืนยัน "ไม่ต้องการลงสู่ถนน"

แกนนำนักศึกษาผู้จัดแฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภาว่า พวกเขาไม่ใช่ "กระบอกเสียงของนักศึกษาทั่วประเทศ" หาก กมธ. ต้องการแสดงความจริงใจก็ควรเปิดพื้นที่สาธารณะให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุด ส่วนเหตุที่ยอมมาร่วมเวทีของ กมธ. ก็เพราะต้องการเตือนให้ กมธ. ลงพื้นที่รับฟังเสียงของนักศึกษาตามสถาบันต่าง ๆ และถ้ามีเวทีที่ฝ่ายบริหารจัดขึ้น ก็พร้อมเข้าร่วมเพื่อแสดงจุดยืนที่มีต่อรัฐบาล

THAI NEWS PIX

อย่างไรก็ตามพวกเขาย้ำว่า ท่าทีที่ออกมา "เป็นการประสานงาน ไม่ใช่การรวมศูนย์" ของเครือข่ายนักศึกษา แต่ยอมรับว่าแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่เป็น "จุดร่วม" กัน 3 ประเด็น ดังนี้
  • ให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน รวมถึงรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
  • ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
  • ให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ผู้จัดแฟลชม็อบของ ม.มหิดล ศาลายา ระบุว่า นักศึกษายังไม่เคยหารือกันเรื่องการนำคนลงถนนและไม่ต้องการลงสู่ถนน พร้อมยืนยันด้วยว่าการจัดกิจกรรมชุมนุมของพวกเขาไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น แกนนำจัดแฟลชม็อบพร้อมรับผิดชอบหรือไม่ คำตอบของผู้จัดแฟลชม็อบ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต คือ "สิ่งที่พวกเรารับผิดชอบคือรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงออกมา ส่วนถ้าเกิดอะไรขึ้น พวกเราเป็นนักศึกษาที่ปราศจากอาวุธ ไม่มีการรวมศูนย์ แต่ละมหาวิทยาลัยมีแนวทางของตัวเอง พวกเราเป็นนักศึกษาที่ต้องการให้ประชาชนตื่นรู้ จึงใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการแสดงออกทางความคิด"

ภาค ปชช. ตะโกนหน้ารัฐสภา "ถ้าไม่แก้.. ก็ออกไป"

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้า นักศึกษาจากหลายสถาบัน อาทิ ม.เกษตรศาสตร์, ม.รามคำแหง, ม.รังสิต ได้เข้าร่วมกิจกรรม "เดินส่งเสียงประชาชนขอแก้รัฐธรรมนูญ คสช." กับนักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และประชาชนที่ใช้ชื่อว่า คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่าย People Go Networks

พวกเขาร่วมเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) กำแพงเพชร มายังอาคารรัฐสภา ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร เพื่อส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ

"รัฐธรรมนูญ.. ต้องแก้ ๆ ๆ" และ "ถ้าไม่แก้.. ก็ออกไป ๆ ๆ" เสียงตะโกนจากประชาชนดังขึ้นหน้ารัฐสภา

THAI NEWS PIX

การเคลื่อนขบวน "ธงเขียว" รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มายังรัฐสภาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมราว 300 คนตามข้อมูลที่รายงานต่อ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา และ สน.บางโพธิ์ คอยอารักขาพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ทั้งนี้ตำรวจ สน.บางโพธิ์ นายหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่า ครช. ได้แจ้งขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน สน.บางซื่อ ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

เวลา 11.30 น. ตัวแทน ครช. อ่านแถลงการณ์ต่อหน้านายพีระพันธุ์ และ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ โดยเรียกร้องให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกจังหวัด มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนข้อเสนอต่อเนื้อหามี 2 ประเด็นหลัก รวม 10 ข้อย่อย โดยมุ่งสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน

ข้อเสนอสำคัญ ได้แก่ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส., ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง, ไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดโดยคนกลุ่มเดียว, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง และไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหาร