.
พล.อ.ประยุทธ์ : 1 ใน 6 รัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วในวันนี้ (31 ม.ค.) คาดเริ่มอภิปรายวันที่ 19 ก.พ.
สำหรับรายชื่อรัฐมนตรีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 151 มีทั้งหมด 6 คน ได้แก่
1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
2) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
3) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
4) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
5) นายดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ
6) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายสมพงษ์กล่าวว่าแม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้เพราะเสียงของรัฐบาลมีมากกว่า แต่ฝ่ายค้านมั่นใจว่ามีข้อมูลชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นว่าเหตุใดรัฐมนตรีทั้ง 6 คนจึงต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เขายอมรับว่าก่อนหน้านี้มีชื่อรัฐมนตรีคนอื่นที่จะขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก แต่ได้ตัดออกไปเพราะข้อมูลไม่ชัดเจนพอ ไม่ใช่เพราะมีการล็อบบี้กัน
นายชวนกล่าวภายหลังรับญัตติว่าจะส่งให้ฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไปตรวจสอบความถูกต้องภายใน 7 วันก่อนที่จะนัดฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาหารือเพื่อกำหนดวันอภิปราย
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวว่า ในเบื้องต้นได้หารือกับวิปรัฐบาลแล้วเห็นตรงกันว่าการอภิปรายน่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหยุดพักผ่อนที่บ้านตามคำสั่งของแพทย์เมื่อวานนี้ (30 ม.ค.) เนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดได้กลับมาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ววันนี้ แต่ได้ยกเลิกภารกิจตรวจเยี่ยมสถาบันบำราศนราดูรซึ่งเป็นสถานที่รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
โดยในช่วงเช้า นายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการเตรียมข้อมูลด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสำหรับชี้แจงต่อสภาช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
(แฟ้มภาพ : Getty Images)
..
วันนี้ (31 มกราคม 2563) หกพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีรายชื่อรัฐมนตรีหกคน ได้แก่
1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
2) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
3) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
4) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย
5) ดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ
6) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คาดกันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะอยู่ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2563
.
รัฐสภา มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ และคานอำนาจกับรัฐบาล ซึ่งขณะที่นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่ ส่วน ส.ส. ก็มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ รัฐมนตรีคนอื่นๆ หรือทั้งรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้พ้นจากตำแหน่งได้
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” หรือ สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 151
โดยมีขั้นตอนดังนี้
➊ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภา หรือ ส.ส. 100 คน ขอใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือรายคณะ
➋ เมื่ออภิปรายทั่วไปเสร็จแล้ว โดยไม่มีการผ่านระเบียบวาระไปหรือการขอถอนญัตติดังกล่าว ให้มีการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในวันถัดไป
➌ มติไม่ไว้วางใจต้องใช้ ส.ส. จำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา หรือ ส.ส. 251 คน
โดยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือลงมติไม่ไว้วางใจไม่สำเร็จ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ มาตรา 154 ระบุว่า การเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ปีละหนึ่งครั้ง