วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2562

นักรัฐศาสตร์ พร้อมใจตั้งฉายาส.ว.ชุดใหม่ "สภาตั้วเฮีย- วงศาคณาญาติ" หวั่นอาจกลายเป็น Failed Senate





นักรัฐศาสตร์ พร้อมใจตั้งฉายาส.ว.ชุดใหม่ "สภาตั้วเฮีย- วงศาคณาญาติ"


17 พฤษภาคม 2562
สำนักข่าวอิศรา


สถาบันวิจัยสังคม -คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "สภา ส.ว. = สภา...? นักรัฐศาสตร์ยัน ส.ว.ชุดใหม่ กระจุกตัวเฉพาะกลุ่ม ไม่หลากหลาย และไมใช่ของสังคมไทยทั้งมวล หวั่นอาจกลายเป็น Failed Senate


วันที่ 17 พฤษภาคม สถาบันวิจัยสังคม ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง "สภา ส.ว. = สภา...? ณ ห้อง 107 อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงวิวัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย โดยย้อนไปปี 2435 สมัยร.5 ปฎิรูปการปกครอง เริ่มมีกระทรวง ข้าราชการ และเมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มาปี 2516 มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ก็มีรัฐธรรมนูญแต่ละยุคสมัย ซึ่งภาพรวม บทบาทชนชั้นข้าราชการมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะข้าราชการทหาร ระบอบคณาธิปไตย ข้าราชการเป็นเจ้าของอำนาจ จากนั้น ก็แชร์อำนาจ ประเทศจึงยังไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จนมายุคคสช.

" 5 ปีการบริหารของคสช.ถือว่าล้มเหลวปฏิรูปการเมือง เป็นการย้อนยุคกลับไปยุคคณาธิปไตย"

ศ.ดร.ธีรภัทร์ ยังกล่าวถึงการประกาศแต่งตั้ง ส.ว. ที่ผ่านมา จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นความคิดเก่าๆ แบบเดิม นำข้าราชการประจำ นายทหาร ข้าราชการพลเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่ง ฉะนั้น จึงถามว่าจะแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ นำไปสู่การเมืองไทยรูปแบบใด

"อำนาจหน้าที่ ส.ว.หวั่นจะกลายเป็นเอาพรรคพวกมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ องค์กรอิสระ "ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าว พร้อมตั้งฉายา ให้เป็น "สภาวงศาคณาญาติ" เพราะไม่หลากหลาย ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ ทำไมถึงไม่ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่งสังคมไทยจะเชื่อถือมากกว่า

ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวด้วยว่า การออกแบบวุฒิสภาใหม่ มีอยู่ในงานวิจัย ต้องอธิบายยาว แต่วันนี้ลักษณะวุฒิสภาที่เป็นอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่เวิร์ก พร้อมเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียสละไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมตรี เพราะท่านเลือกส.ว.ไปแล้ว ควรก้าวลงจากอำนาจ





รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการแต่งตั้งส.ว.สะท้อนให้เห็นว่า มีคนจับตาอยู่ กระแสสังคมให้ความสนใจ และขอให้จับตาตอนส.ว.ตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยประจำตัว เราอาจเห็นอะไรแปลกๆเข้ามาอีก

"งานส.ว. กลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งไม่น่าห่วง แต่งานการกำกับดูแลการปฎิบัติงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ถามว่า ส.ว.ชุดนี้มีสมรรถนะพอเหมาะหรือไม่ ถนัดหรือไม่ เพราะกว่าร้อยละ 80 ของ ส.ว. เป็นคนของรัฐ ส่วนใหญ่ถนัดงานรบ จับโจร บังคับใช้กฎหมาย ควบคุม สั่งการ ฉะนั้นการเข้ามาบริหารประเทศอาจไม่สอดคล้องกัน"

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่ ส.ว.ชุดนี้ถนัดรบ อาจมีมุมมองไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ การแต่งตั้ง ส.ว.ไม่หลุดกรอบเดิมๆ อย่าลืมว่า ประเทศไทยไม่ใช่มีแต่ภาคราชการ ฉะนั้นวิธีคิดที่ยังคงเป็นรัฐแบบนวมศูนย์ สั่งการจากคนไม่กี่คน จึงเป็นรัฐอมาตยาธิปไตย

"ผมไม่แน่ใจ เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับงบประมาณรายจ่ายต่อ ส.ว. 1 คน รวม 250 คน ใช้งบฯ ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อ 5 ปี รวมถึง คน กรรมการสรรหาโปร่งใสหรือไม่ อีกทั้งส.ว.ก็ไม่มีความหลากหลาย กระจุกอยู่บางกลุ่มบางพวก"

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราเห็น สภาชุดนี้ จึงเป็นสภา"ตั้วเฮีย" ของกลุ่มการเมือง ไม่ใช่ของสังคมไทยทั้งมวล และอาจกลายเป็น Failed Senate (สภาล้มเหลว) ได้ อีกทั้ง การแต่งตั้งส.ว.ครั้งนี้จึงพิสูจน์แล้วว่า รัฐมีมุมมองอยากทำอะไรก็ทำ ใช้อำนาจเกือบเบ็ดเสร็จ





ขณะที่รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการให้ส.ว.ดูแลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีไปทำไม เพราะมีแต่ทำไม่ได้เต็มไปหมด พร้อมยกตัวอย่าง บางเรื่องคนอื่นทำไม่ได้ พวกตัวเองทำได้ หรือทำเป็นมองไม่เห็น ถามว่า สองมาตรฐานเกินไป "ผมชื่นชมคนไทยทนจริงๆ ทนกว่านี้หน่อยก็ได้"