วันอาทิตย์, พฤษภาคม 26, 2562

"ขังลืมเขาแต่เราไม่มีวันลืม" "สิรภพ กรณ์อรุษ" สู้คดี 112 ถูกขังยาวที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศไทย เป็นการทรมานรูปแบบหนึ่ง







ขังลืม “สิรภพ กรณ์อรุษ”


ขังลืม “สิรภพ กรณ์อรุษ” สู้คดี 112 ถูกขังยาวที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศไทย


BY KANOKWAN KANKAW
May 25, 2019
Prakaifai.com


ศาลทหารโดยปกติแล้ว มีอำนาจพิพากษาเฉพาะทหารประจำการ แต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาศาลทหารถูกนำมาใช้พิจารณาคดีพลเรือนได้แก่คดีขัดคำสั่ง คสช.และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งหมายถึงศาลทหารถูกนำมาเป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยที่คดีในศาลทหารมีกระบวนการพิจารณาเนิ่นนานและเลื่อนสืบพยานบ่อยครั้ง ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แม้ว่าจะมีการยื่นประกันหลายครั้งด้วยกัน

ปัจจุบันมีคดีที่พลเรือนถูกศาลทหารดำเนินคดีมีถึง 30 คดีด้วยกัน หนึ่งในนั้น ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและถูกคุมขังยาวนานที่สุดคือ นายสิรภพ กรณ์อรุษ หรือ “รุ่งศิลา” นักเขียนและกวีการเมือง ซึ่งเคยแสดงความคิดเห็นอยู่ในเวปบอร์ดชื่อดังหลายแห่งด้วยกัน เขาถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการเขียนบทกวีและเผยแพร่ข้อความในเว็บไซต์จำนวน 3 ข้อความ นับตั้งแต่การฝากขังครั้งแรก ปี 2557 จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 สิรภพถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน โดยยื่นประกันตัวกว่า 7 ครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาต โดยปกติเกือบทุกคดีที่ยืดเยื้อผู้ถูกกล่าวหามักจะเลือกที่จะให้การรับสารภาพ เพราะไม่อาจทนอยู่กับการถูกคุมขังยาวนาน แต่สำหรับเขายังยืนหยัดที่จะต่อสู้คดีต่อไป แม้ว่า ตั้งแต่คดีถูกสั่งฟ้องเข้าสู่ชั้นศาล มีการสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 3 ปากในเวลาสี่ปีครึ่ง โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นพลเรือน 2 ใน 3 ปากนั้น ไม่มาศาลด้วยเหตุผลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงเหตุที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาได้ จนทำให้เกิดการเลื่อนสืบพยานถึง 7 ครั้งด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นพลเรือนภายใต้การพิจารณาคดีของศาลทหารที่ถูกคุมอยู่ยาวนานที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย

สิรภพ กรณ์อรุษ ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แดน 6 ซึ่งถูกจำกัดให้มีผู้ไปเยี่ยมได้เพียงแค่ 10 คนเท่านั้น หลังจากถูกคุมขังยาวนาน ธุรกิจก่อสร้างของครอบครัวก็ปิดตัวลง ภรรยาแยกตัวไปมีสามีใหม่ มีลูกสามคน สองคนแรกต้องหยุดเรียนแยกย้ายทำงานเพื่อส่งให้อีกคนได้เรียนหนังสือปีสุดท้ายอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งๆ

การไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยศาลทหารยังคุมขังตัวเขาอยู่ในเรือนจำเป็นเวลายาวนาน ไม่เพียงแต่ จะไม่สามารถต่อสู้คดีได้โดยสะดวก และไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยแล้ว ยังเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่ง เกือบทุกคนที่ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงต้องรับสารภาพ ทั้งๆที่พวกเขาเหล่านี้คือผู้บริสุทธื์ เป็นการละมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ซึ่งไม่มีองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ให้ความใส่ใจต่อกรณีนี้เท่าที่ควรทำให้ สิรภพ กรณ์อรุษ ถูกขังลืมไปในที่สุด