วันศุกร์, พฤษภาคม 31, 2562

ผลงานดับไฟใต้? ห้าปีแสนล้าน...ที่ถูกละลาย พร้อมๆ กับการปิดฉากไปของ คสช. ไฟใต้ยังคงจะหลอกหลอนคนไทยเหมือนเดิม เพราะผู้นำรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเป็นคนเดิม... ไอหยา !!!



คสช.ที่เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค.57 กำลังจะสิ้นสุดทันทีที่ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ

ผลงานของรัฐบาล "บิ๊กตู่ ณ คสช." ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนคงได้ประจักษ์แก่สายตา และซาบซึ้งถึงหัวใจ ดีบ้างไม่ดีบ้างปะปนกันไป

แต่สำหรับไฟใต้ คงไม่ร้ายแรงเกินไปหากจะบอกว่า...น่าผิดหวัง และเป็นผลงานชิ้นโบดำ

ปัญหาไฟใต้ที่ผ่านมา 10 ปีเศษในวันที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ถูกประทับตราว่าเป็น "สถานการณ์ความมั่นคง" ส่งผลให้กองทัพเข้ามามีบทบาทหลักในการจัดการปัญหา

ทั้งๆ ที่ผู้รู้หลายคนทักท้วงว่ามันเป็น "ปัญหาการเมือง" เป็นอาการของความขัดแย้งบนสมการอำนาจที่ไม่สมดุล โดยมีแรงกดทับทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน

เป็นปัญหาความไม่สงบภายในที่ควรใช้ตำรวจและฝ่ายปกครองเป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการ และใช้"งานการเมือง" ผ่านกระบวนการพูดคุยเจรจาเพื่อหา "จุดร่วมบนความต่าง" เพื่อหยุดยั้งเสียงปืน เสียงระเบิดของฝ่ายที่เชื่อว่าตนเองถูกกดทับเลือกใช้เป็นเครื่องมือ

แต่เมื่อการแก้ปัญหาถูกตีตรามา 1 ทศวรรษว่าเป็น "งานของกองทัพ" และมีทหารเป็นเจ้าภาพ ซึ่งผู้คนจำนวนมากก็เชื่อเช่นนั้น เพราะบ้านนี้เมืองนี้อะไรๆ ก็ใช้ทหาร ทำให้วันที่ คสช.ก้าวเข้ามา มีความหวังอันแรงกล้าในหัวใจใครหลายคนว่า...ไฟใต้น่าจะถึงคราวดับมอด

เพราะ คสช.คือตัวแทนของเหล่าทัพทุกเหล่าทัพรวมทั้งตำรวจ ซึ่งถือได้ว่าเป็น "หน่วยงานความมั่นคง" ระดับสูงสุดของประเทศ

แต่ผ่านมา 5 ปี รัฐบาล คสช.เทงบดับไฟใต้ไปถึง 94,573.9 ล้านบาท (นับรวมจากงบปี 58 ที่เข้ามาจัดเองหลังยึดอำนาจ จนถึงงบปีปัจจุบัน คือปี 62) ปรากฏว่าสถานการณ์ไฟใต้วันนี้ยังเหมือนเดิม

ตัวเลขงบที่สรุปมานี้ เฉพาะ 3 ปีงบประมาณหลัง (ปี 60-62) ตัวเลขที่แสดงในเอกสารงบประมาณ มีเพียงงบแผนงานบูรณาการฯ ไม่รวมงบกำลังพล เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย เงินเพิ่มพิเศษ หรือพวกงบทรงชีพต่างๆ (รัฐบาลก่อนๆ ในอดีตคิดรวมเป็นตัวเลขงบดับไฟใต้ในแต่ละปี) งบในหมวดนี้ที่หายไปจากเอกสารงบประมาณ คิดถัวเฉลี่ยอีกปีละราวๆ 1 หมื่นล้าน เมื่อนำมารวมกับยอดงบประมาณที่แสดงในเอกสาร ย่อมหมายถึงว่าดับไฟใต้ยุค คสช.พุ่งสูงมากกว่าแสนล้านด้วยซ้ำ

แต่ผ่านมา 5 ปี ถึงวันนี้ยังมีระเบิดหน้าตลาด หลังสถานีรถไฟ ประกบยิงทหารพราน ฯลฯ ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ตกเป็นเหยื่อ

ที่ยกตัวอย่างมา ไม่ใช่เป็นการนำสถานการณ์เพียงบางห้วงเวลามาวิจารณ์การทำงานตลอด 5 ปี แต่ถ้าไม่ได้ความจำสั้นก็จะพบว่าช่วงเวลาที่ คสช.เข้ามาเทคโอเวอร์ภารกิจดับไฟใต้ผ่านกลไกกองทัพและ กอ.รมน. โดยยุบเลิก-บอนไซโครงสร้างเดิมในมิติ "การเมืองนำการทหาร" เกือบทั้งหมดนั้น ผลปรากฏว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น

ในห้วง 5 ปีมานี้มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุสังหารพระถึงในวัด ระเบิดหน้าห้างสรรพสินค้า ปล้นรถกระบะ 6 คันทำคาร์บอมบ์ ฯลฯ หนำซ้ำยังมีเหตุร้ายขยายวงออกนอกพื้นที่ชายแดนใต้หลายครั้งมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระเบิดรูปปั้นนางเงือกริมหาดสมิหลา ฯลฯ

การกล่าวอ้างสถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงเป็นเพียงข้อมูลตัวเลขที่สวนทางความรู้สึก เพราะความถี่ลดลงจริง แต่ความร้ายแรงของสถานการณ์ไม่ได้เบาลงตาม

หนำซ้ำยังเป็นการกดตัวเลขด้วยวิธีนับเหตุรุนแรงที่เปลี่ยนไป (เหตุการณ์ที่เกิดในคราวเดียวกัน ไม่ว่าเกิดกี่จุด จะนับเป็น 1 เหตุการณ์ ส่วนเหตุความไม่สงบที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มักนับเป็นแค่เหตุก่อกวน)

ยิ่งไปกว่านั้น สถิติตัวเลขที่ลดลงยังมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตรากำลังพลติดอาวุธของฝ่ายรัฐมีมากกว่า 130,000 นาย แยกเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย และกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงอีก 95,974 คน (ชรบ. อรบ. อรม. ทสปช. อปพร.) รวมกำลังพลทุกฝ่าย 135,439 คน

เหลียวไปดูการแก้ปัญหาในมิติ "การเมือง" ผ่านโต๊ะพูดคุยเจรจา ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยไปแล้ว 2 ครั้ง เป็นทหารยศพลเอกทั้งคู่ (ตั้งใหม่ 1 ครั้ง เปลี่ยนตัว 1 ครั้ง) แต่กระบวนการพูดคุยก็ไม่คืบหน้า ล้มลุกคลุกคลาน โดนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐท้าทายและชิงความได้เปรียบอยู่เนืองๆ

ความหวังที่คนไทยเฝ้าคอยกำลังเลือนหายไป งบแสนล้านที่ถูกละลาย พร้อมๆ กับการปิดฉากไปของ คสช.

ทว่าความจริงของไฟใต้ยังคงหลอกหลอน เพราะผู้นำรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเป็นคนเดิม...คนเดียวกับผู้นำคสช.