ไม่มีคราวไหนต่ำตมไปกว่าครั้งนี้แล้ว
การเมืองแบบ ‘แอนิมอลฟาร์ม’ ภายใต้อำนาจ คสช. ที่พยายามสืบทอดต่อเนื่องไปอีก ๒๐ ปี เมื่อนางหมูสมุน ‘นโปลีออน’ เปิดฉากกัดหมูสาวในขบวนการ ‘สโนว์บอล’ ปรากฏว่ากัดผิดท่า ไม่ได้ทำให้เหยื่อระคายเคืองแล้ว
ยังพลาดไปงับเอาหางของหมูแก่ผู้เป็นบิดา
การเมืองเรื่อง ส.ส.เพศเมียรุ่นเก่าเกิดอาการ
‘hot flashes’ แว้งกัดนักการเมืองที่มาแรง
หาว่าไม่รู้จักเรียนรู้ระเบียบของชาวไร่สัตว์ๆ ที่เขียนไว้บนกำแพง จัดการ ‘เฟชบุ๊คไล้ฟ์’ ใช้สรรพนามไฮเทค (I-E) เอ่ยถึง ส.ส.หญิงรุ่นใหม่ว่า ‘อีช่อ’
ก่อเกิดคลื่นสึนามิทางไซเบอร์ระดมถล่มทลายขุดรากถอนโคนกันถึงก้นบึ้งของการเป็น
ส.ส.หลายสมัย ตั้งแต่เรื่องการเมือง #ปารีณาค้าอาวุธ
ไปถึงเรื่องในมุ้ง ชนิดที่ ‘โซเดียมฮีเลียม @delileba’
สรุปเอาไว้พอประมาณว่า
“-พ่อยิงหมา
-เคยประกวดนางสาวไทย -มอบกระเช้าให้ปูว์ -ฟอกเงินพระเครื่อง -ขายอาวุธสงคราม
-แย่งสามีคนอื่น -ฆ่ากิ๊กของชู้ -ยิงขู่ในไร่ชู้ (ชู้คือคนที่ยิง สส เพชรบุรี)
-สามีฟ้องหย่าเพราะ DNA ลูกไม่ตรง –ตีลุงในงานศพ”
อ่านรายละเอียดส่วนใหญ่ได้ที่
https://voicetv.co.th/read/9NM9pZbfM แต่ส่วนไม่ละเอียดอยู่ที่ตอนแก้ตัวต่อสาธารณะ นางปารีณา
ไกรคุปต์ อ้างว่าคำ อีช่อ ที่ใช้นั้นเป็นคำพื้นบ้านของราชบุรี
ใช้เรียกคนที่ไม่มีระเบียบกฏเกณฑ์
ไม่เท่านั้นเธอว์ลากพ่อไปออกทีวีช่วยแก้ตัวด้วย
อดีต ส.ส.หลายพรรค ทวี ไกรคุปต์ ผู้นี้ครั้งหนึ่ง (ช่วงว่างงาน) เกิดอาการของขึ้น
รำคาญหมาหน้าเซเว่นเห่ากวนอารมณ์ เลยชักปืนยิงรัว ๖ นัด หมาตัวนั้นตายคาที่
“คุณพ่อทวีอธิบายช่วยลูกสาว
ถ้าใครไม่อยู่ในกฎเกณฑ์หรือตอแหล จะถูกเรียกว่าอีช่อ เป็นอันรู้กัน” แต่สำหรับ Jom Petchpradab คนใต้แถวสงขลายกคำพื้นบ้านของตนมาเทียบเคียงว่า “อิไซ่กูนิ (เป็นคำวิเศษ)
หมายถึง ช่างมันฉันไม่แคร์ นิยมใช้กันในจังหวัดสงขลาและพัทลุง”
ขณะที่ ‘มติชนออนไลน์’
ยังข้องใจ เลยเจาะถึงแก่น “สอบถามไปยัง ศาสตราภิชาน ล้อม
เพ็งแก้ว ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา
วัฒนธรรม และวรรณคดีภาคกลางถึงประเด็นดังกล่าว” ได้ความว่า “ตนไม่เคยได้ยินคำว่า
‘อีช่อ’ ในลักษณะที่ถูกใช้ในการเปรียบเปรย หรือตำหนิผู้ที่ไม่มีวินัย
อย่างไรก็ตาม
มีคำที่ใกล้เคียงกันซึ่งมีความหมายในแง่ลบคือ ‘ฉ้อ’ ซึ่งออกเสียงเหมือนกัน
แต่สะกดต่างกัน โดยมีความหมายถึงการฉ้อโกง ดังนั้น
หากมีการใช้คำนี้จริง อาจเป็น ‘อีฉ้อ’ แต่ตนก็ไม่เคยได้ยินอยู่ดี”
คงต้องสันนิษฐานเอาว่าคำ ‘อีช่อ’ ที่สองพ่อลูกนักการเมืองตระกูลไกรคุปต์อ้าง
น่าจะพูดกัน ‘แถวบ้าน’ ที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่อาศัยเฉพาะในพื้นที่ภายในรอบรั้วขอบชิดเท่านั้น
ไม่ได้ขยายออกไปกว้างไกลถึงขนาด ‘ละแวก’ หรืออย่าว่าแต่ ‘หมู่บ้าน’ ด้วยซ้ำ
พอดีมีชาวโพธาราม ราชบุรี ที่เป็นนักวิชาการอยู่ต่างประเทศ
(มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต สหรัฐอเมริกา) ที่บอกว่า “คนโพธารามส่วนใหญ่คงชอบแบบนี้
โพธารามมีปัญหายาเสพติดและมือปืนชุกชุมมาหลายทศวรรษแล้ว”
‘กานดา นาคน้อย @kandainthai’ ยังเขียนบนหน้าทวิตเตอร์ด้วยว่า
“ฉันเป็นคนโพธารามและไม่เคยเลือกพ่อลูกบ้านไกรคุปต์
ปีติยินดีมากที่ #ปารีณาค้าอาวุธ
#คนสวยโพธาราม
#คนงามพลังประชารัฐ
ไม่ใช่สมาชิกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย”
ทั้งที่นางปารีณามีประวัติทางการเมืองเริ่มเป็น
ส.ส.ครั้งแรกในปี ๒๕๔๘ สังกัดพรรคไทยรักไทย แล้วย้ายไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนาในปี
๒๕๕๒ พอเลือกตั้ง ๒๕๕๗ ย้ายกลับไปเพื่อไทย แต่ถูก กกต.ประกาศโมฆะ เพราะ พธม.และ
กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง ๒ ก.พ.
เลือกตั้งคราวนี้นางปารีณาเป็นหนึ่งในอดีต
ส.ส.ที่ถูกกลุ่ม ‘สามมิตร’ ดูดเข้าพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนให้หัวหน้า คสช.ได้กลับไปเป็นนายกฯ
อีกครั้ง ผลจากการยอมให้ดูดเมื่อปีที่แล้วทำให้คดี ‘ร่วมกันค้าอาวุธสงคราม’
กับบิดาเงียบไปจนกระทั่งมาดังอีกครั้งกรณี ‘อีช่อ’ นี่ละ
เรื่องแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมทางการเมือง
ที่นักการเมืองสายเกื้อหนุนเผด็จการ “กระทำต่อนักการเมืองฝ่ายต้าน คสช. “คล้ายๆ
กับกรณีผู้สนับสนุน คสช.อย่าง ‘โจ’ พูดถึง ‘จอน’ และมงคลกิตติ์พูดถึงการทำร้าย
ส.ส.และนักการเมืองจากพรรคที่เห็นต่างกับตัวเอง”
ดัง ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ให้ข้อคิดไว้
เป็น ‘วังวน’
ของการเมืองไทยแบบเก่าๆ ที่กระบวนการของหมู่คนรุ่นใหม่ต้องการถีบตนให้พ้นไป
ทว่าปัญหาหลักในสังคมแอนิมอลฟาร์มแบบไทยๆ ยังอยู่ที่หลักบางอย่างใน ๗ ประการของนโปลีออน
“สัตว์ทั้งหลายนั้นเท่าเทียมกัน
แต่บางตัวเหนือกว่าสัตว์อื่น (All animals are equal, but
some animals are more equal than others.) และ
สัตว์มีความสุขสูงสุดเมื่อใช้ชีวิตพอเพียง (The happiest animals live
simply lives.)”