ประชาชนอาจยังมีลุ้น 'ธนาธร' ชิงตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ แม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว
.
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 ต่อ 0 รับพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี ถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ ธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย มีข้อสงสัยกันต่อไปว่า ธนาธร จะยังสามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาได้หรือไม่
จากการค้นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในมาตรา 14 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 (พรป.การเลือกตั้งฯ) ระบุว่า ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อซึ่งในข้อนี้พรรคอนาคตใหม่ได้เสนอชื่อธนาธร และต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 โดยระบุไว้ดังนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
ซึ่งหากพิจารณาจากคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในกรณีของธนาธร ไม่น่าจะขาดคุณสมบัติในข้อใด ยกเว้นใน (6) ที่ต้องมาพิจารณากันว่าธนาธรมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือไม่
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 นั้นเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในมาตรา 98 (3) ระบุเรื่อง ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งเป็นข้อเดียวกับที่ธนาธรถูก กกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวอยู่ แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติแค่รับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัย และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเท่านั้น ประกอบกับไม่ได้มีรัฐธรรมนูญมาตราใดระบุว่า ผู้สมัคร ส.ส. ที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่น
เท่ากับว่า ธนาธรยังไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า 'ขาดคุณสมบัติ' ตามมาตรา 98 (3) และมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สถานะการเป็นแคนดิเดทนายกฯ ของธนาธร จึงอาจยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย ทำให้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ยังสามารถที่จะยกมือเสนอชื่อธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาได้
ติดตามได้ใน: https://www.ilaw.or.th/node/5275
iLaw
...
“ยิ้มสู้”
แม้นคนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย
จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย
จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน