วันศุกร์, พฤษภาคม 24, 2562
VOA ภาคภาษาไทย คุยกับ 'จอม-สุนัย' ผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ หลัง 5 ปีรัฐประหาร 2557
om Petchpradap, a well-known former TV news anchor, talks with VOA Thai in Los Angeles, CA.
คุยกับ 'จอม-สุนัย' ผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ หลัง 5 ปีรัฐประหาร 2557
พฤษภาคม 22, 2019
Pinitkarn Tulachom
VOA Thai
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มีกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยการเมืองหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในสหรัฐฯที่มีชาวไทยจำนวนหนึ่งเข้ามาขอลี้ภัยมานานกว่า 5 ปี สารคดีพิิเศษจากวีโอเอ ไทย จะพาไปติดตามความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งของผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในสหรัฐฯ
“ผมก็ขับอูเบอร์เกือบทุกวันนะ ช่วงนี้ หลักๆ ก็คือวันจันทร์ วันศุกร์ เสาร์อาทิตย์ก็จะหยุดทำพวกสื่อ"
จอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรรายการข่าวของไทย คุยกับ "วีโอเอ ไทย" ระหว่างนั่งหลังพวงมาลัย เล่าถึงการที่ืต้องหันไปยึดอาชีพคนขับอูเบอร์เลี้ยงชีพหารายได้ ระหว่างการใช้ชีวิตและอาศัย ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
Jom Petchpradap, a well-known former TV news anchor, re-invents himself as Uber driver after being a Thai Political refugee in the U.S.
สื่อออนไลน์คืองานหลัก แต่ขับอูเบอร์ คืองานหารายได้
“ก็พออยู่ได้ครับแต่ไม่แนะนำให้ทำเป็นอาชีพหลักเพราะว่ามีงานอื่นในอเมริกาที่รายได้ดีกว่านี้ถ้าคิดต่อชั่วโมง แต่ว่าคำนวณแล้วอูเบอร์ก็จะให้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของในแต่ละพื้นที่ ก็ถือว่าไม่เลวนักที่สำคัญคือมีเวลาที่จะอัพเดทข่าวที่เมืองไทย ทำคลิปข่าวที่เมืองไทย ก็เป็นข้อดีมาก ๆ แล้วก็แหล่งข่าวที่เราจะสัมภาษณ์บางทีเขาก็มีเวลาให้เราไม่ตรงกัน ถ้าเราทำงานประจำแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือตายตัว (Fix)เรื่องเวลา เราก็พลาดที่จะตามข่าวหรือตามสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่เมืองไทย หรือแม้แต่แหล่งข่าวในประเทศอื่นๆ ก็เลยต้องทำอาชีพนี้ที่ยืดหยุ่นที่สุดสำหรับการทำงานสื่อไปด้วย” จอม อธิบายเหตุผลที่เขาเลือกงานอาชีพขับอูเบอร์หารายได้
เดินทางลี้ภัยสหรัฐฯ ประกาศหันหลังอาชีพสื่อในเมืองไทยหลังรัฐประหาร
'จอม เพชรประดับ' นักข่าวประสบการณ์สูงจากเมืองไทย ตัดสินใจประกาศยุติการทำงานสื่อในประเทศไทยตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อปักหลักทำงานสื่อบนโลกออนไลน์ ในฐานะสื่อมวลชนอิสระจากนอกประเทศ ที่เขาเชื่อว่าจะสามารถเปิดพรมแดนตั้งคำถามและการตรวจสอบได้มากกว่า
“รัฐประหารครั้งนี้ คือหมายถึงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น มันเป็นการประเมินของผมและอีกหลายคนประเมินที่ตรงกันว่า ปัญหาทางการเมืองของไทยมันจะลงลึกกว่าที่เราคิดไว้ มันจะเป็นการดึงประเทศย้อนหลังลงกว่าหลายๆการปฏิวัติที่ผ่านๆมา ด้วยปัจจัยด้านการเมืองและปัจจัยหลายๆอย่าง..
".. ผมลี้ภัยการเมืองมาเพื่ออะไร ก็มาเพื่อสู้ให้ประชาชนไทยได้คิด ได้มุมมองที่ต่างจากที่รัฐบาลทหารต้องการจะควบคุม แล้วถ้าถามว่ามาแล้วผมไม่ทำเรื่องนี้ ผมใช้อาชีพปักหลักชีวิตในประเทศนี้ไปไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าแบบนั้นผมจะมาทำไม อยู่ประเทศไทยผมก็มีโอกาสที่ทำอะไรได้เยอะ และก็ปักหลักชีวิตได้เร็วกว่านี้ได้ซ้ำ."
จอม เพชรประดับ ผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ
ดังนั้นก็เลยทำให้เลยตัดสินใจว่าชีวิตด้านการสื่อฯที่ทำมากว่า 30 ปี จะขอยุติชั่วคราว คิดว่าอาจจะมาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศสัก 3-4 เดือนเพื่อวางแผนว่าจะใช้ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร จากนั้นก็ตัดสินใจมาอยู่ในอเมริกา และขอลี้ภัยในอเมริกา เพิ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา..
..ชีวิตตอนนี้ก็ทั้งทำงานสื่อที่ทำได้ผ่านโลกโซเชี่ยล เพื่อจะส่งเสียงบางอย่าง ตั้งคำถามบางอย่าง มองประเด็นบางอย่างที่คนไทยมองไม่ได้ หรือมองแล้วก็อาจจะถูกดำเนินคดี เราก็ทำหน้าที่นั้นมาตลอด ซึ่งคนไทยหลายกลุ่มเองก็ยังมีความกล้าหาญที่จะพูดในสิ่งที่ทำให้เขาเดือดร้อนหรือสร้างปัญหาให้กับเขา และมีความกล้าหาญที่จะสู้กับ ความอยุติธรรมทั้งหลายอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเขาไม่มีช่องทางที่จะออก เพราะสื่อกระแสหลักทำไม่ได้..
ประกอบกับช่วงเวลาช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อในโลกโซเชี่ยลเติบโตมากขึ้นเราก็เป็นช่องทางแรกๆที่เปิดประตูให้เขาได้พูด และตอนหลังเขาก็มีความเข้าใจในเรื่องโลกสื่อออนไลน์มากขึ้น จึงใช้แทนตัวพวกเขาเองได้มากขึ้น.."
รับสถานะผู้ลี้ภัย ทำสื่อบนโลกออนไลน์ที่หาดูไม่ได้ในเมืองไทย
จอม เพชรประดับ มีรายการ 'ไทยวอยส์' เผยแพร่บนสื่อออนไลน์ผ่าน 'จอม ว้อยส์' แชลแนล บนเว็ปไซท์ ยูทูป (YouTube) มาหลายปี นำเสนอเนื้อหาและสัมภาษณ์บุคคลที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการเมืองไทยที่หาดูไม่ได้ในเมืองไทย
“งานของพี่ก็มีทั้งในส่วนของการใช้ความเป็นสื่อนำเสนอความคิดความอ่านของคนไทยในภาวะที่ถูกปิดกั้นเสรีภาพ ในขณะเดียวกันคนไทยก็ใช้สื่อที่เป็นโลกโซเชี่ยลมากขึ้นในการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ส่วนชีวิตพี่ในอเมริกาเองก็ หลังจากได้ 'Asylum' หรือ สถานะผู้ลี้ภัย ความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐฯก็มีในระดับหนึ่ง ที่พอที่ยังชีพได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย เพื่อที่จะได้เอาแรงมาใช้ทำงานสื่อ..”
อยู่ในอเมริกาในสถานะติดลบ
แม้จะเคยออกมาใช้ชีวิตทำงานสื่อในชุมชนไทยที่อเมริกามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่การกลับมาในครั้งนี้ของ 'จอม' แตกต่างและยากกว่าเดิม
“มันยากครับ เพราะว่าหนึ่งคือเรามาเริ่มต้นที่นี่ในลักษณะที่ติดลบ เพราะว่าโดนคดีมา.. คดีของผมก็คือไม่ไปรายงานตัวต่อคณะ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทีนี้มันเหมือนกับเป็นผู้ต้องหาและผู้ก่อการร้าย ซึ่งเขาอาจจะมองเป็นผู้ก่อการร้ายก็ได้นะ แค่คดีไม่ไปรายงานตัว แต่ด้วยความที่รัฐบาล คสช. เองพยายามใส่ร้ายพวกเราว่าเป็นคนล้มเจ้า ทำร้ายประเทศชาติ เอาประเทศไทยของเราไปประจานให้กับชาวโลกได้รับรู้ เขาก็เลยมองเราเป็นลักษณะเหมือนผู้ก่อการร้ายไปด้วยในตัว....
..เพราะฉะนั้นการที่เราจะอยู่กับสังคมไทยในสหรัฐอเมริกาเอง มันก็อยู่ด้วยความลำบาก สำหรับคนไทยที่ยังเชื่อว่ายังฟังแต่รัฐบาลเผด็จการ ก็มองว่าเราเป็นคนร้ายในมุมมองของเขาเหมือนกัน ดังนั้นในเชิงของเราที่ต้องไปทำงานกับธุรกิจคนไทย ก็จะค่อนข้างยาก เขาก็ไม่รับสิ เพราะว่าเขาต้องดีลกับประเทศไทยในหลายๆเรื่องทั้งเรื่องธุรกิจ เรื่องของการที่ต้องทำงานด้วย ถ้าเกิดเขารู้ว่าคนๆนี้ทำงานอยู่ในธุรกิจของเขา เขากลับเมืองไทยไม่ได้ อาจจะถูกเพ่งเล็ง ธุรกิจเขาอาจจะเสียหาย..." จอม เล่าถึงข้อจำกัดในการอาศัยในชุมชนไทยที่สหรัฐฯ
ตัวประหลาดในชุมชนไทย ?
"เขาอาจจะเข้ามาคุยกับเราได้ แต่พอจะถ่ายรูป ก็อาจจะเป็นแบบ เฮ้ย! พี่ไม่ถ่ายกับน้องนะพี่เข้าใจนะ คือเหมือนกับเราเป็นตัวประหลาด เราเหมือนเราเป็นตัวที่น่ารังเกียจในสังคมนี้"
..แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่ง ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เขาให้กำลังใจเรา เพื่อที่ให้เราอยู่ได้ ด้วยหลักการ ด้วยความคิดว่านี่คือหน้าที่ของการทำให้สังคมไทยมีความคิด มีมุมมองที่จะไม่อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเกินไป และก็เห็นงานเรามีคุณค่าในการที่จะให้เสียงคนไทยได้พูดออกไป.."
ชีวิตอดีต ส.ส.ที่ต้องเร่ร่อนหลังรัฐประหาร
สุนัย จุลพงศธร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย เป็นอีกคนที่ตัดสินใจเดินทางขอลี้ภัยในสหรัฐฯ หลังการรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน
อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ตระเวนขอพักอาศัยตามบ้านของชาวชุมชนไทยในอเมริกาที่ให้การสนับสนุน หมุนเวียนไปตามรัฐต่าง ๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“เวลาพักก็พักง่ายๆ บ้านไหนที่ห้องก็นอนห้อง ถ้าไม่มีก็นอนโซฟา ตอนตามพื้น เราอยู่ต้องไม่รบกวนเค้ามาก มีอาหารการกินอะไรก็กินกับเค้า ทำให้เราไม่ประมาทนะครับ เพราะทำให้ คสช. ไม่รู้ว่าผมอยู่ที่ไหน”
สุนัย ยืนยันว่าเหตุผลการออกนอกประเทศในครั้งนั้น เพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่ยอมรับการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร
"ผมบอก..ผมไม่ได้หนี คดีอาญานะ ความผิดของผมเพียงอย่างเดียวคือการไม่ไปพบหัวหน้าคณะรัฐประหาร คือคุณประยุทธ์ ประกาศคณะปฏิวัติให้ผมไปรายงานตัวแล้วผมไม่ได้ไป เพราะฉะนั้นการออกมาต่างประเทศนี้ไม่ใช่การหนีแต่เป็นการออกมาตั้งหลักสู้กับคุณ แต่บางคนบอกทำไมไม่สู้ในประเทศ.. มันก็จับเลย ไม่ต้องพูดเลย ทุกคนถูกจับแล้วให้ไปเซ็นต์สัญญา บล็อกทรัพย์สิน ไม่ให้ทำธุรกรรมทางบัญชี ข่มขู่ว่าถ้าพูดการเมืองแล้วจะถูกเล่นงาน.."
Sunai Chulapongsathorn, formerly an outspoken member of the Thai Parliament, speaks with his followers during his “Facebook Live” show from California.
จากอดีตนักการเมือง สู่คนทำสื่อออนไลน์เต็มตัว
เบื้องหลังการเตรียมรายการสดเผยแพร่ทางเฟสบุ๊คไลฟ์ที่อดีต ส.ส. สุนัยต้องทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่แต่งหน้าเอง ติดตั้งฉากสตูดิโอชั่วคราว ไปจนถึง เปิดประเด็นสนทนาการเมืองผ่านกล้องโทรศัพท์ กับผู้ติดตามบนโลกออนไลน์หลายหมื่นคนเป็นประจำ หลายวันต่อสัปดาห์
"เราก็รู้ทิศทางว่าการต่อสู้กับเผด็จการนั้น ต้องให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อที่ไม่ให้เผด็จการนั้นปิดล้อม ครอบงำความคิดของประชาชนได้ ผมก็ออกมาแล้วจัดรายการ เพราะกระแสสื่อเล็กๆน้อยๆแบบนี้เข้าไป ..ผมบอกว่าสัญญานสื่อของผมไม่แรงหรอกครับ รายการผมเนี่ย แต่ที่มันแรงคือความถูกต้อง ความไม่ถูกต้องของคุณประยุทธเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สัญญานโทรทัศน์ของสุนัยแรงขึ้น..”
"..เงื่อนไข ภาวะวิสัย อุณหภูมิตอนนี้ ยังไม่พร้อมที่จะให้ไปสู้ในประเทศ ยังไม่ไปครับ ยังต้องดูสถานการณ์ก่อน จนกระทั่งสังคมเริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์ เราก็จะเข้าไปสู่การต่อสู้ต่อไป.."
สุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส. และผู้ลี้ภัยการเมืองในสหรัฐฯ
เงื่อนไขยังไม่พร้อมให้กลับเมืองไทย
การกลับเข้าสู่กติกาประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีหลังการรัฐประหาร ของไทย ดูเหมือนจะยังไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้ผู้ลี้ภัยการเมืองในอเมริกาทั้ง 2 คนตัดสินใจกลับบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขายังมองว่าเงื่อนไขสำคัญด้านความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้น
Sunai Chulapongsathorn, formerly an outspoken member of the Thai Parliament,talks with VOA Thai in Los Angeles, CA.
อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า การเดินทางกลับเมืองไทย ยังไม่ใช่ในเวลานี้
"..เงื่อนไข ภาวะวิสัย อุณหภูมิตอนนี้ ยังไม่พร้อมที่จะให้ไปสู้ในประเทศ (แม้จะผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว?) ก็ยังไม่ไปครับ ยังต้องดูสถานการณ์ก่อน จนกระทั่งสังคมเริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์ เราก็จะเข้าไปสู่การต่อสู้ต่อไป.."
เช่นเดียวกับ 'จอม เพชรประดับ' สื่อมวลชนอิสระที่ประกาศยืนหยัดต่อสู้ ทำสื่อจากนอกประเทศต่อไป
".. ผมลี้ภัยการเมืองมาเพื่ออะไร ก็มาเพื่อสู้ให้ประชาชนไทยได้คิด ได้มุมมองที่ต่างจากที่รัฐบาลทหารต้องการจะควบคุม แล้วถ้าถามว่ามาแล้วผมไม่ทำเรื่องนี้ ผมใช้อาชีพปักหลักชีวิตในประเทศนี้ไปไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าแบบนั้นผมจะมาทำไม อยู่ประเทศไทยผมก็มีโอกาสที่ทำอะไรได้เยอะ และก็ปักหลักชีวิตได้เร็วกว่านี้ได้ซ้ำ."
ชะตากรรมชีวิตผู้ลี้ภัย รายงานโดยผู้ลี้ภัย
หนึ่งในเนื้อหารายการของ จอม เพชรประดับมักจะมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาชะตากรรมของที่ตกที่นั่้งเดียวกัน ในฐาะผู้ลี้ภัยการเมืองจากทั่วโลก
" ทุกคนที่ลี้ภัยกันมา มาเพื่อจะสู้ ทีนี้คนในลาวก็มาเพื่อจะสู้ ทีนี้คนก็บอกว่า คุณไม่ปลอดภัย ถ้าคุณสู้ คุณอาจจะถูกอุ้มฆ่า คุณจะสู้ทำไม ก็ไม่รู้ล่ะ ฉันก็ต้องสู้ต่อ ผมก็นำเสนอเรื่องพวกนี้ให้คนได้เห็นว่า คนพวกนี้ลำบากกว่าเรา เราเองอยู่ในจุดที่พอจะสู้ได้ เพราะว่ามันมีการซัพพอร์ท (สนับสนุน) ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะว่ามันมีบรรยากาศที่ การปกป้องเรื่องเสรีภาพและเรื่องสิทธิในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตหรือความลำบากที่ว่านี้มันก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น"
จอม เพชรประดับ และสุนัย จุลพงศธร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเดินทางลี้ภัยการเมืองในต่างแดน ในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557
แม้ในบางประเทศจะให้การรับรองสถานะให้ผู้ลี้ภัยพำนักได้อย่างถูกต้อง แต่หลายประเทศไม่อาจรับรองสถานะใด ๆให้ผู้ลี้ภัยที่เห็นต่างทางการเมืองจากประเทศไทยได้ และบุคคลเหล่านั้นต้องเผชิญชะตากรรมและใช้ชีวิตด้วยตัวเอง