วันอังคาร, ธันวาคม 12, 2560

หากจะยังยะโสไม่รับข้อแม้อียู ก็ต้องระวังโดน 'ปอยเป็ต' แซง


อันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่สมัชชาฯ ที่จะค่อยๆ ลงมือดำเนินการต่อสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับประเทศไทยใหม่อีกครั้ง”

คณะมนตรีต่างประเทศของอียูระบุให้คณะกรรมาธิการสมัชชาฯ เริ่มแสวงหาทางที่เป็นไปได้ ในการกลับมาเจรจาความร่วมมืออียู-ไทย ด้านข้อตกลงเขตการค้าเสรีกันใหม่ รวมทั้ง “การลงนามในกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement - PCA )

ในแถลงการณ์ภาคภาษาไทย ๑๔ ข้อของคณะมนตรีต่างประเทศอียู เต็มไปด้วยข้อแม้เดิมเกี่ยวกับ “การคืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”

ทั้งนี้คณะมนตรี “ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ซึ่งได้ถูกลิดรอนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมยังคงถูกจำกัดอยู่เป็นอย่างมาก ผ่านกฎหมายและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมาย”

ข้อสำคัญ “สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะใช้จากการเจรจาติดต่อดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อหยิบยกประเด็นข้อกังวลเหล่านี้”


แล้วตอนท้ายของแถลงการณ์ มีการ ย้ำอีกครั้งว่าให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับประเด็นยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การจัดเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ และ “การเข้าประจำตำแหน่งของรัฐบาลพลเรือน” ในการพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยนี้

มิใยที่ในคดีความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๑๖ ที่ คสช.ใช้แจ้งความดำเนินคดีกับ ร.ท.หญิง สุณิสา (เลิศภควัต) ทิวากรดำรง หรือ หมวดเจี๊ยบอดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ฐานที่เขียนเฟชบุ๊ควิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยตัวแทนอียู

คดีดังกล่าวมีข้อความแชร์กันทางสื่อสังคมว่า เธอได้ร้องขอให้สมัชชาอียูส่งตัวแทนไปสังเกตุการณ์การดำเนินคดี เช่นนี้น่าจะเป็นเพราะมีตัวอย่าง แผนกสิทธิมนุษยชนอียูเคยส่งตัวแทนไปสังเกตุการณ์คดีของ ทนายจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายสิทธิมนุษยชนผู้ถูกตั้งข้อหาแจ้งความเท็จหลังจากเธอฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ยึดรถของเธอไปโดยไม่ชอบธรรม

ไม่ว่า คสช.จะมีทีท่าอย่างไรกับแถลงการณ์ฉบับใหม่ล่าสุดของสมัชชาอียูนี้ จะยักไหล่หรือว่าคอตกก็เป็นที่ตระหนักรู้กันดีว่า รัฐบาลไทยไม่ว่าชุดนี้หรือชุดหน้าจำเป็นต้องกลับไปสานสัมพันธ์ทางการเมือง และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ-เขตการค้าเสรี กับอียูอย่างไม่อาจหลีกลี้ได้ หากความใฝ่ฝันให้ ประเทศไทย ๔.๐ เกิดขึ้น มิใช่เพียงคำพล่ามของนักยึดอำนาจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงคำวิจารณ์ของนิตยสาร ดิ เอคอนอมิสต์ ที่เปรียบเทียบการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีเร็วๆ นี้ในกัมพูชาและในไทยปลายปีหน้า ว่าเป็นเพียง ‘shams’ หรือหลอกลวงด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งก็ฟังขึ้นและไม่ได้ห่างไกลจากความน่าจะเป็นแต่อย่างใด

ข้อที่น่าสนใจกว่านั้นอยู่ที่ ดิ เอคอนอมิสต์ เทียบเคียงสถานะทางเศรษฐกิจของไทยกับกัมพูชาไว้ต่างกันกว่าเท่าตัว ในทางที่กัมพูชาเติบโตได้ดีกว่าไทยด้วยซ้ำไป


ผู้นำ คสช. จะเลือกเดินตามอย่างกัมพูชาทั้งในทางใช้อำนาจการเมืองเผด็จการอย่างระห่ำ ดังที่ดิเอคอนอมิสต์ระบุ และเดินตามหลังอัตราจีดีพีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปเช่นนี้อีก ก็แน่นอนว่าไม่ช้าไม่นานอาจเกิดปรากฏการณ์แรงงานไทยไหลไปนอก ขุดทองแถวประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและกัมพูชาก็ได้ ใครจะรู้


ถ้าดูจากรายงานข่าวของ นิคเคอิรีวิวที่ว่าเดี๋ยวนี้เมืองปอยเป็ตติดชายแดนไทย ซึ่งไม่กี่ปีมานี้เคยเป็นแหล่งคาสิโนที่คนไทยไหลไปเล่นการพนันกันตรึม ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมแข็งขัน ชนิดที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าเครื่องไฟฟ้าและอีเล็คโทรนิคจากญี่ปุ่นใฝ่หาไปแล้ว

ในลักษณะ “Thailand-Plus-One” หรือลงเมืองไทยแต่ไปต่อที่นี่ ดังเช่น เทคโนพ้าร์คปอยเป็ตเป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ของกัมพูชาเพิ่งเปิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวานี้เอง โดยเบื้องต้นประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ๕ ราย

บริษัทอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น (๔ ราย) ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า อะหลั่ยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ โดยรับช่วงหรือต่อยอดจากโรงงานผลิตที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย โดยที่โรงงานในไทยนั้นทำการผลิตในขั้นตอนที่อาศัยเครื่องจักรเป็นหลักใหญ่

พอมาถึงขั้นตอนที่ต้องประกอบด้วยมือก็จะส่งออกไปปอยเป็ต ซึ่งค่าแรงถูกกว่า ราว ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของในไทย ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงไปได้ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าในปีหน้ากัมพูชาจะปรับอัตราค่าแรงขึ้นไปอีก ๑๑ เปอร์เซ็นต์ เป็นเดือนละราว ๑๗๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๕,๖๐๐ บาท ก็ยังต่ำกว่าในประเทศไทยมาก

หนึ่งในนั้น บริษัทโตโยต้าสึโฉะมั่นใจว่าจะปักหลักที่นี่อีกไม่ต่ำกว่าสิบปีเพราะความได้เปรียบในด้านค่าแรง ส่วนบริษัทสุมิตโทรนิคส์ บริษัทลูกของสุมิตโตโมในญี่ปุ่น ตั้งเป้าเตรียมขยายพื้นที่การผลิตอีก ๕ เท่าภายในสองปี

นอกเหนือจากโรงงาน ๕ แห่งในนิคมใหม่นี้แล้ว ปอยเป็ตยังมีโรงงานอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนฮ้าร์ดดิสต์และอะหลั่ยรถยนต์อีกสองแห่งของญี่ปุ่น กับโรงงานผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของไทยที่จะเริ่มเดินเครื่องปีหน้าอีกแห่ง

โรงงานเหล่านี้ทำให้การค้าปลีกในพื้นที่บูมขึ้นมาทันตาเห็น ร้านกาแฟแอมาซอนและพิซซ่าคัมปันนีจากไทยข้ามไปเปิดกิจการกันเก๋ไก๋ การค้าข้ามแดนที่ก่อนหน้านี้พลุกพล่านอยู่แล้วก็ยิ่งคึกคักมากขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าข้ามด่านชายแดนจากไทยเพิ่มขึ้น ๔๐ เปอร์เซ็นต์จากปี ๒๕๕๕ เป็นมูลค่า ๔๒๖,๖๐๐ ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และสินค้านำเข้าจากกัมพูชาเพิ่มขึ้นสามเท่าตัวเป็นมูลค่า ๑๖๘,๗๐๐ ล้านบาทในปีเดียวกัน


การไล่ตามมาเป็นฮับสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้าและอีเล็คโทรนิคจากไทย ทำให้จีดีพีของกัมพูชาเติบโตมากกว่าไทยเกินเท่าตัว ขณะที่ทีมเศรษฐกิจ คสช. หันไปมุ่งการผลิตด้านดิจิทัล และพยายามเข้าสู่อุตสาหกรรมประกอบเครื่องบินและหุ่นยนต์แทน เพราะการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิ่มตัวแล้ว

แต่ปัญหาของไทยยังติดกึกอยู่ที่ไม่มีแรงงานฝีมือทักษะสูงทางด้านอีเล็คโทรนิคมาสนับสนุนการฉีกแนวตามฝันของ คสช. ครั้นจะถอยกลับไปเน้นการผลิตชิ้นส่วนอย่างเดิมก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ย้ายฐานออกไปจากไทยกว่าครึ่ง

ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้อยู่ที่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางการค้าและอุตสาหกรรมกับประเทศตะวันตก ดังที่สมัชชาอียูยื่นข้อเสนอใหม่มาให้ 

หากจะยังยะโสไม่ยอมรับ ก็ไว้รอคุยกับกัมพูชาตอนที่เขาล้ำหน้าไทยไปแล้วก็ได้ คงง่ายหน่อยเพราะเป็นเผด็จการ (ภายใต้ราชาธิปไตย) เหมือนกัน