นี่ไม่ใช่ ‘kowtow’ หรือนบนอบตอบรับการใช้อำนาจเผด็จการทางปกครองของ คสช.
แต่ต้องการแสดงว่าไม่ใช่เอาแต่ด่าอย่างเดียว เรามีสิ่งดีๆ มาฝากคั่นเวลา
แล้วจะกลับไปด่าต่อ เพราะสิ่งเลวๆ ของ คสช.ยังมีอีกเยอะ
ถ้า คสช.เองยังจำได้
เคยคุยไว้ว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ ๔.๐ หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ดันธุรกิจสต๊าร์ทอัพ
และน้อมรับคำแนะนำของธนาคารโลก ในเป้าหมายพัฒนาพลเมือง ๔.๐ นั่นคือเสริมสร้างแรงงานโลกาภิวัฒน์ให้ทัดเทียมบางประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างมาเลย์เซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้
ไหนๆ คสช.
ก็จะบงการชีวิตคนไทยไปอีกอย่างน้อย ๒๐ ปี หรือแม้แต่ครองเมืองต่อไปอีกสี่ซ้าห้าปี (ขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็ช่างอึดทน)
การเริ่มต้นพัฒนาการศึกษาในแนวที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะทำให้ผลลัพท์เบื้องหน้า ‘ไม่เสียของ’ หรือเหลือแต่ดราม่าแห่งรสนิยม ‘ไฮเอ็นด์’ ต่อนาฬิการิชาร์ด มิลล์
น่าที่จะรับไว้ใส่หัวต่อแบบอย่างหนึ่งในการพัฒนาทางการศึกษา
ให้ได้ประชากรวัยเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงทางด้านอีเล็คโทรนิค
ศักยภาพของไทยอาจจะยังไม่ถึงขั้นทำได้ตามแนวทางต่อไปนี้ในเร็ววัน แต่การเริ่มกลัดกระดุมถูกช่องตั้งแต่เม็ดต้น
ย่อมทำให้ ‘ดูดี’ เมื่อกลัดเสร็จเม็ดสุดท้าย
หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์เสนอบทความเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนทางการศึกษาโดยบริษัทออเรเคิล
ธุรกิจผลิตซ้อฟแวร์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของอเมริกา เปิดพื้นที่ ๒
เอเคอร์ครึ่งภายในบริเวณที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในท้องที่เร็ดวู้ดชอร์ส
แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ ลงทุน ๔๓ ล้านดอลลาร์ก่อสร้างโรงเรียนระดับมัธยมปลายที่เน้นทักษะทางด้านไฮเท็ค
นี่ไม่ใช่โรงเรียนเอกชนเน้นทักษะพิเศษเฉพาะด้านแบบที่มีมาบ้างแล้ว
เช่นโรงเรียนด้านเครื่องยนต์รถของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ หรือโรงเรียนเทคโนโลยี่อวกาศของบริษัทสเปชเอ็กซ์
หากเป็นโรงเรียนหลวง หรือ public high school (เรียนฟรี) แห่งแรกภายในแคมปัสของบริษัทไฮเท็ค
‘ออเรเคิล’ นอกจากจะออกค่าก่อสร้างอาคารเรียน
ที่จุนักเรียนมัธยมปลายไม่น้อยกว่า ๕๕๐ คนของ Design Tech
High School แล้ว ยังยินดีที่จะจ่ายค่าบำรุงรักษาอาคารและบริเวณรายรอบ
โดยเก็บค่าเช่าสถานที่จากโรงเรียนปีละ ๑ ดอลลาร์ และให้ใช้รถบัสของบริษัทในการรับส่งนักเรียนไปกลับประจำวัน
เขตการศึกษาของท้องที่เร็ดวู้ดส์จะเป็นผู้ดำเนินการโรงเรียน
‘ดี-เท็คไฮ’ แห่งนี้ ‘อย่างอิสระ’ เฉกเช่นโรงเรียนสาธารณะมัธยมปลายทั่วไปในสหรัฐ
มีคณะกรรมการโรงเรียนของตัวเอง จัดจ้างครูผู้สอนเอง และกำหนดหลักสูตรเอง
ออเรเคิลเพียงแต่อำนวยความสะดวกทางการค้นคว้าศึกษาของนักเรียน
โดยให้พนักงานช่วยติว ให้คำแนะนำ และเสริมทักษะที่นักเรียนต้องการ
บริษัทยังปรับปรุงอาคารออกกำลังกายของพนักงานให้เป็นสนามฝึกบ้าสเก็ตบอลของทีมโรงเรียนด้วย
นอกนั้นออเรเคิลยังจัดให้มีการสอนวิชาทักษะพิเศษเกี่ยวกับเท็คโนโลยี่ขั้นสูงสำหรับนักเรียนที่สนใจอาทิตย์ละสองครั้งโดยไม่ต้องจ่ายค่าสมัครเรียน
โดยจัดพนักงานของออเรเคิลเป็นผู้สอน หากนักเรียนคนใดคิดค้นแอ็พพลิเกชั่นหรือระบบการใช้คอมพิวเตอร์ใหม่อย่างใดๆ
ขึ้นมา ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะเป็นของนักเรียนผู้ค้นพบ
อย่างไรก็ดีมีกรรมการโรงเรียนบางคนเป็นกังวลว่า
การที่โรงเรียนเข้าไปอยู่ในแคมปัสของบริษัท จะทำให้วัฒนธรรมองค์กรของออเรเคิลมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางความคิดของนักเรียนไม่มากก็น้อย
โดยเฉพาะที่ออเรเคิลเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางไฮเทคแห่งหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจและการตลาดอย่างหักหาญ
คอลลีน แคสสิตี้
ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิเพื่อการศึกษาออเรเคิล
ไขข้อข้องใจว่าการจัดสร้างโรงเรียนดี-เทคไฮนี้เป็นโครงการเพื่อการกุศลสาธารณะแท้ๆ
ไม่มีเป้าหมายในการผลิตพนักงานให้แก่ออเรเคิลเองเลย
“แต่ถ้าเมื่อเด็กเรียนจบแล้วอยากจะทำงานกับออเรเคิล
เราก็จะยินดีอย่างยิ่ง ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งนั้น”
แท้จริงแล้วการให้อิสระแก่นักเรียนนั้นเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารเรียนนั่นเลยทีเดียว
ในฐานะที่ ‘ดี-เท็คไฮ’
เป็นโรงเรียนไฮสกูลของท้องที่ตั้งอยู่ที่เขตมิลแบรมาก่อน โรงเรียนก่อตั้งเมื่อปี
ค.ศ. ๒๐๑๔ เป็นมัธยมปลายชนิดพิเศษที่เน้นการออกแบบทางเทคโนโลยี่ เดิมมีนักเรียนแค่
๑๓๙ คน
ออเรเคิลเสนอสร้างอาคารให้ภายในแคมปัสบริษัทเมื่อปี
๒๐๑๖ เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว ออเรเคิลจัดให้ตัวแทนนักเรียนมาให้ความเห็นในการออกแบบอาคารร่วมกับสถาปนิก
ผลออกมาได้กรอบของบุคคลิกอาคารเรียนว่า “เราไม่ต้องการให้เหมือนโรงเรียนไฮสกูลทั่วไป
เราอยากได้รูปทรงแบบตึกที่ทำการบริษัทไฮเท็คมากกว่า” จึงได้อาคารหรูทรงโค้งสองชั้น
เต็มไปด้วยผนังกระจกโครงโลหะแห่งนี้
แบบอย่างเช่นนี้
น่าจะนำไปใช้กับโครงการประชารัฐของ คสช. ให้พวกเจ้าสัว นายแบ๊งค์ ที่ได้รับลากตั้งเป็นกรรมการปฏิรูปทั้งหลายสำเหนียกกันไว้บ้าง