วันจันทร์, ธันวาคม 11, 2560

ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น





สมชาย : รัฐธรรมนูญ บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน และ "ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น"

ที่มา FB
ประชาไท Prachatai.com

ในวงเสวนา 'รัฐธรรมนูญไทยบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน' วันนี้ ซึ่งจัดโดย Third Way Thailand ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง 3 ประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย 1. เวลาเราพูดถึงกรเปลี่ยนผ่าน มันมีความหมายว่าอะไร มันกำลังเปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไร 2. รัฐธรรมนูญมีความหมายอย่างไรในการเปลี่ยนผ่าน และ 3. รัฐธรรมนูญไทยกับการเปลี่ยผ่าน

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไรนั้น สมชาย กล่าวว่า การอยู่ในโลกที่มีความหวังเป็นแง่ดี แต่ก็ต้องระวังแง่ร้าย หากมองระบอบการปกครองปัจจุบันนั้นเป็นระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเวลามองก็มิใช่เป็นเพียงระบอบอำนาจนิยมของทหารอย่างเดียว นี่ไม่ใช่ระบบอำนาจนิยมที่มีทหาร แต่เป็นเครือข่ายอุดมการณ์เป็นสำคัญ มันจึงมีองค์กรต่างๆ เข้ามารายล้อมและหนุนเสริมอย่างสำคัญ ยกตัวอย่าง ระบอบ คสช. ที่ใช้อำนาจทุกวันนั้น มันจะใช้ไม่ได้เลย หากศาลไม่เข้ามาด้วย ดังนั้น ต่อให้ คสช. ออกไป เครือข่ายเหล่านี้ก็ยังคงอยู่

สมชาย กล่าวถึงองค์ประกอบของ คสช. อีกว่า สมัยก่อนมีการเรียกเผด็จการรัฐสภา แต่ตอนนี้เราเจอรัฐสภาของเผด็จการ ต่อให้มีสมาชิก สนช. ตอนนี้ มีจำนวนมาก พวกเขาทำงานเข้มแข็งมาก สามารถออกกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. มากกว่า 200 ฉบับแล้ว ขณะที่ตั้งแต่ 2475 เรามีมา 700 ฉบับ ดังนั้นต่อให้มีการเลือกตั้งหรือต่อให้ คสช. ไม่อยู่แล้ว กฎหมายพวกนี้ก็ยังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราคิดถึงระบอบ คสช. เราต้องคิดถึงเครือข่ายเหล่านี้ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สมชายเรียกอย่างสั้นๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่อภิชนเป็นใหญ่ พร้อมอธิบายว่า มันคือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาเครือข่ายของเสียงข้างน้อยเป็นผู้ปกครอง สิ่งที่เราจะเห็น แม้เรามีรัฐธรรมนูญใช้และมีการเลือกตั้ง แต่เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านที่จะเป็น 2 แบบ คือในแง่หนึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย แม้หลายคนจะคาดหวังกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ตนไม่สู้จะแน่ใจว่าอาจเป็นการเปลี่ยนจากอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยจำแลง เราอาจเห็นบทบาทของทหารน้อยลง แต่ตัวกรอบและระบบที่ดำรงอยู่เดิมจะยังกำกับสังคมไทยได้อีก มันจะเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบไหน ตนก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม

ประเด็นที่ 2 รัฐธรรมนูญมีความหมายและความสำคัญอย่างไรต่อการเปลี่ยนผ่าน สมชาย กล่าวว่า เมื่อเราคิดถึงความหมายและความสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่อย่างไร สิ่งที่ตัวรัฐธรรมนูญมันสำคัญ คือมันให้ความชอบธรรมกับสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ และระบบที่ดำรงอยู่ รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้นั้นคือข้อดีของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยมันจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้แก้ไขภายในตัวของรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้น เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่สมบูรณ์เพรียบพร้อม รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นบนเงื่อนไขและสถานการณ์บางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดให้สามารถแก้ไขเยียวยาได้ในตัวของมันเอง

สมชาย ยกข้อเสนอของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 3 และผู้ประพันธ์ "คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา" ของสหรัฐอเมริกา โดย เจฟเฟอร์สัน เสนอว่า รัฐธรรมนูญควรเขียนใหม่ทุกเจนเนอเรชั่น

สมชาย ตั้งคำถามว่า คนในเจนเนอเรชั่นหนึ่งมีสิทธิที่จะสร้างภาระผูกพันกับคนอีกเจนเนอเรชั่น หรือไม่ คนรุ่นเรามีสิทธิไปกำหนดชตากรรมของคนรุ่นถัดไปขนาดไหน?

"ซากศพไม่ควรปกครองคนเป็น" (The Dead should not govern the living) สมชาย ยกข้อความของ เจฟเฟอร์สัน ที่ปรากฏใน จดหมายของ เจฟฟอร์สัน เมื่อปี 1789 พร้อมกล่าวต่อว่า จริงๆ เขาเสนอด้วยว่ารัฐธรรมนูญควรเขียนใหม่ทุกๆ 19 ปี แต่ที่เรารู้ๆ คือ รัฐธรรมนูญขอสหรัฐฯ ยังใช้ฉบับเดิม เพราะว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้แก้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ จึงแก้ไปแล้วหลายครั้ง

สมชัย กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของเจฟเฟอร์สัน มองว่า รัฐธรรมนูญถูกสร้างไม่ได้ถูกค้นพบ ดังนั้นมันมีกาลเทศะ รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ต้องเปิดโอกาสให้มีการแก้ด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือรัฐธรรมนูญที่ดีพร้อม ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านจึงอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของสังคมที่ดำรงอยู่ รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นด้วยระบบคุณค่าหนึ่ง และค่อยๆ เปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เรื่องนี้จึงทำให้รัฐธรรมนุญมีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนผ่าน

ประเด็นที่ 3 รัฐธรรมนูญไทยกับการเปลี่ยนผ่านนั้น สมชาย กล่าวว่า ใน 85 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีรัฐธรรมนุญ 20 ฉบับ เฉลี่ย 4 ปี 3 เดือน และมีรัฐประหาร เฉลี่ย 7 ปีครั้ง เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยจึงมักไม่สืบเนื่อง หรือเปิดโอกาสให้ระบบได้แก้ไขตัวเอง

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะไม่ใช้วิธีการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือโยนฉบับเก่าทิ้ง เช่น ค่อยๆ แก้รัฐธรรมนูญ อย่างรัฐธรรมนูญ 40 ก็ค่อยๆ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตรงกันข้ามถ้าเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบอำนาจนิยมจะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง การเปลี่ยนผ่านที่ไม่สืบเนื่องกับระบอบเดิม หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งนั้น มันมักจะเปิดช่องให้เกิด อสูรกาย หรือสัตว์ประหลาดทางการเมือง เช่น ม.44 เกิดขึ้นภายใต้ยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยม รวมถึงรัฐสภาเผด็จการและศาลที่สนับสนุนอำนาจนิยม เป็นต้น

สำหรับคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญ 60 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหรือไม่นั้น สมชาย กล่าวว่า โดยรวมๆ เราจะตระหนักร่วมกันว่า คนร่างคาดหวังรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขยากมาก เขียนไว้จนแทบจะแก้ในระบบได้ยากมากๆ ทั้งกระบวนการแก้และในแง่ตัวศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามามีบทบาท ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญ 60 นั้นไม่ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้เลย ในประวัติศาสตร์เราเห็นระบอบอำนาจนิยมมามากแล้ว แต่ความนิยมที่เสื่อมลง มันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่มาจากอารมณ์ปะทุของประชาชนมันมีบทเรียนบางเรื่อง เพราะกรณีรัฐบาลขาลงนั้น หากใครไปนั่งตรงนั้น ก็จะเป็นแบบนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เป็นตัวระบบ ด้วยเหตุนี้จึงมีบทเรียน 3 ประเด็น สำหรับการเปลี่ยนแปลงจากการปะทุจากอารมณ์ของประชาชน คือ เรามักจบลงด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคล ไม่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการเกิดอำนาจนิยม เช่น การไปไม่ถึงของเครือข่ายของ คสช. หรืออุดมการณ์ของศาล ดังนั้นมันพร้อมจะกลับมาได้

เรามักจะคาดหวังกับการเดินไปข้างหน้า แต่เรามักจะละเลยพลังที่เป็นปฎิปักษ์กับประชาธิปไตย เราไม่คิดถึงการปฏิรูปกองทัพเลยในตอนปี 40 ดังนั้น พลังที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อระบอบประชาธิปไตยควรได้รับการคิดถึงมากขึ้นด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะได้คือการเปลี่ยนเพียงแค่คนที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

(ภาพประกอบ สมชาย จากแฟ้มภาพประชาไท)




ประชาไท Prachatai.com