วันอาทิตย์, ธันวาคม 10, 2560

‘หมัดเหล็ก’ ไทยรัฐช่วยแถ นำมาสู่ "การต่อสู้ด้วยความเกลียด"

“แหวนของแม่ นาฬิกายืมมาจากเพื่อน...หูย ไทยรัฐ ช่วยแถ” เป็นข้อคิดเชิงวิพากษ์ที่ดูจะต้องตรงกับสภาพเป็นจริงในพฤติกรรมของสื่อไทยสายหลักบางส่วน ต่อการนบนอบพิเทากับอำนาจเผด็จการ คสช.

เนื่องมาจากกรณีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมแหวนเพชรและนาฬิกาอาร์เอ็มมูลค่าสิบล้านไปร่วมการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดที่ ๕ ของรัฐบาล คสช. เป็นที่วิพากษืวิจารณ์กันมากเนื่องจากไม่ได้แจ้งทรัพย์สินต่อ ปปช. ตามระเบียบกฎหมาย

แม้น ปปช. จะเปิดทำการตรวจสอบ แต่ก็มีคอมเม้นต์ล่องลอยมาจากประธาน ปปช. ว่าอาจไม่มีความผิดใดๆ หากทรัพย์สินที่ไม่ได้แจ้งนั้นเป็นของหยิบยืมมาใช้ หรือได้รับตกทอดในระหว่างยังดำรงตำแหน่ง

ผลสอบยังไม่ปรากฏเพราะมีเวลาหนึ่งเดือน แต่ หมัดเหล็ก คอลัมนิสต์เอกของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เขียนบทความอ้างถึงเครื่องประดับค่าล้นหลามทั้งสองชิ้นของ บิ๊กป้อมนำร่องไว้แล้วว่า

“แหวนวงดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดจากพ่อเอามาใส่เป็นสิริมงคลในวันสำคัญ...หรือแม้แต่นาฬิกา ที่เพื่อนรักซึ่งเป็นนักธุรกิจดังให้หยิบยืมมาชั่วครั้งชั่วคราว”


จึงเกิดคอมเม้นต์จากนักรบไซเบอร์รายหนึ่ง จัสตินนี่, ลูกสมมุติ @whatsapp4456เย้าว่า “โอ้ยยย!! ไทยรัฐ ช่วยแถ หรือข้อมูลจากไหนเนี่ย ถ้าจากประวิตรเองถือว่าแถได้ไม่ผิดคาดเลย 5555”

ซึ่งสะท้อนไปถึงเนื้อหาในการเสวนาของกลุ่ม มีเดี่ยอินไซ้ด์เอ๊าท์หัวข้อ การทำข่าวการเมือง-สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน” ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ศกนี้ ถ่ายทอดเนื้อความและคลิปโดยว้อยซ์ทีวีเมื่อ ๘ ธันวาคม

ทั้งนี้ ในการเสวนาวิทยากรแต่ละคนได้เล่าประสบการณ์การทำข่าวในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน” ซึ่งวิทยากรมีด้วยกันสามคน ล้วนเป็นผู้ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน

โดย นิติธร สุรบัณฑิตย์ เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์แน้ทชั่นแนล ปี ค.ศ.๒๐๑๕ กล่าวถึงสภาพที่สื่อมวลชนโดนตั้งข้อหามาตรา ๑๑๖ โดนแล้วโดนอีกตลอดสามปีที่ผ่านมา “เพียงแค่หยิบรายงานมาอ่านออกอากาศ

นิติธรยังเล่าประสบการณ์หลังย้ายจากไทยพีบีเอสมาอยู่ว้อยซ์ทีวีว่า ทหารใช้วิธีการควบคุมสื่อผ่าน กสทช. “มีการเซ็น MOU กับ กสทช.เยอะ เป็นที่รับทราบกันว่าเราสามารถรายงานข่าวอะไรได้และอะไรไม่ได้ เป็นพันธะที่ไม่ใช่กับทหารแต่กับ กสทช.

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ หรือ CPJ สำหรับปี ค.ศ.๒๐๑๗ กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างเสวนาว่า “สื่อไทยจำนวนหนึ่งเลือกแล้วที่จะตัดสินใจแล้ว พวกเขามองว่าระบอบทหารน่าจะดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”

ประวิตรเสริมต่อด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นการมองการณ์สั้นอย่างแน่นอน เพราะว่าเรากำลังทำลายระบบ โดยการเอื้อหรือสนับสนุนการยึดอำนาจโดยไม่ยึดตัวบทกฎหมาย

เรากำลังเอื้อให้สังคมไม่มีขื่อไม่มีแป ไม่มีพันธะทางสังคมร่วมกัน ไม่มีโซเชียลคอนแทรคร่วมกัน มันก็จะถึงจุดที่ทุกคนใช้กำลังใช้อำนาจใช้ความรุนแรง โดยที่ไม่มีใครฟังใคร

เหล่านั้นเป็นภาวะการณ์บ่มฟักก่อความเกลียดชัง คสช. ในหมู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จบีบรัดและกดดัน เพื่อไม่ให้มีการคัดค้านและประท้วงการ ครองเมือง ของ คสช. จนเกิดมีการรณรงค์เชิงสัญญลักษณ์ด้วยข้อความ “รังเกียจเผด็จการ” แพร่หลาย

ซึ่งนักข่าวรางวัลสิทธิฯ ผู้ร่วมเสวนาทั้งสาม รวมทั้ง มุทิตา เชื้อชั่ง อดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ผู้ได้รับรางวัล เอเอฟพี เคท เวบบ์ ประจำปี ๒๐๑๕ ให้ความเห็นหลากหลายกันไป

“ประวิตร กล่าวว่า อยากให้คนไทยต่อสู้เพื่อความรักในสิทธิเสรีภาพ เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ไม่ใช้ความเกลียดชัง เพราะถ้าไม่พูดด้วยเหตุผลเราก็จะไม่ต่างจากทหารที่ไม่ได้ใช้เหตุผลแต่ใช้อำนาจทำให้กลัว

ส่วนมุทิตา ชี้ว่า “ความเกลียดชังเกิดจากบริบทที่มีการยึดอำนาจทางการเมือง เอาสิทธิการเลือกตั้งไป มีการจำกัดเสรีภาพและมีการกระทำต่างๆ...

แต่การสู้ด้วยความเกลียดก็เผาตัวเอง ทำให้ไม่มีพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นของฝ่ายตรงข้าม

สำหรับนิติธร เห็นว่า “เข้าใจคนที่ถูกรังแกถูกกดทับมาตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาเพราะมีการใช้อำนาจเยอะมาก คนที่ถูกกระทำหลายคนก็ไม่ได้เป็นที่รู้จัก ไม่มีอาวุธจะสู้ จึงเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้

และจากประสบการณ์ของเขาในการทำข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ก็สัมผัสได้จริงๆ ว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้นจะบอกว่าไม่เกลียดก็ยากมากต่อการเยียวยาความรู้สึก


มันจึงมิใช่เพียงประเด็นการ อยู่เป็นหรือไม่เท่านั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ ผลกระทบที่คนหลายกลุ่มได้รับ บ้างทางกายภาพและไม่น้อยทางด้านจิตใจ ต่อการได้เห็นทหารใช้อำนาจบาดใหญ่ โดยที่พวกเขาไม่สามารถต้านทาน

ไม่แม้แต่การระบายความรู้สึกอัดอั้น เมื่อทหารใช้วิธีการแบบฟ้าสซิสต์-นาซี เข้าไปกำกับควบคุมทุกกระเบียดนิ้ว การครอบงำของทหารยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่าไร ก็ยิ่งก่อให้เกิดความชิงชังหาญสู้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

หลักกลศาสตร์ย่อมนำมาใช้ได้เสมอกับภาวะจิตใจ ความอัดอั้นย่อมผลักดันให้เกิดการระเบิด ความค่นแค้นย่อมทดแทนด้วย ตาต่อตา ฟันต่อฟัน