วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 14, 2560

ศาลไม่น้อยหน้า ออกระเบียบจ่ายเบี้ยเลี้ยงตนเองก็ได้

ในกระบวนแกนอำนาจทางการปกครองของไทยยุครัฐประหาร อันประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ กองทัพ และตุลาการ หรือ ‘Tri-Axis’ นั้น ตลาการดูท่าจะรวยน้อยที่สุด

แต่การค้นพบของ อธึกกิต แสวงสุข (เขาเป็นทั้ง columnist, media personality และ critic) ชี้ให้เห็นว่า ตลก.ไม่ต้องเป็นน้ำใต้ศอกของอีกสองแขนงต่อไป ในเรื่องเงินน้ำเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ นานา

เพราะตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาลสามารถออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนแก่ตนเองได้ ประธานศาลฎีกาเซ็นแกร๊กก็รับเบี้ยประชุมกันได้ถ้วนหน้า

อธึกกิตบอกว่า จากการเสาะค้นข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมใหญ่เลือก กกต. ของคณะตุลาการ ที่ว่าต้องลงมติโดยเปิดเผยนั้น ก็ไปเจอเอา “ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ และการประชุมแผนกคดีในศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ ประธานศาลฎีกาเพิ่งลงนามวันที่ ๒๔ ตุลาคมนี่เอง”

เขาว่า “ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ตอนประชุมเลือก กกต.นี่ได้เบี้ยประชุมหรือเปล่า แต่ถ้าได้ก็เยอะน่าดูนะครับ ผู้พิพากษา ๑๗๖ คน เข้าประชุม ๑๖๐ กว่าคน คนละ ๘,๐๐๐ รวมแล้วราวๆ ๑.-.๔ ล้าน”

นอกนั้นยังพบอีกระเบียบของ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) ว่าด้วยเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนในการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งอัตราค่าเบี้ยประชุมสูงขึ้นไปอีก

“คือในการประชุมใหญ่เพื่อเลือกผู้พิพากษาไปเชือดนักการเมืองชั่ว ประธานได้ ๑๒,๐๐๐ องค์ประชุมได้ ๑๐,๐๐๐ เลขาฯ ผู้ช่วยฯ ผู้เข้าประชุมอื่นได้ ๘,๐๐๐”

เขาจึงคำนวณเอาว่าในการประชุมเลือกผู้พิพากษาไปดำเนินคดีกับทักษิณ ในคดีทุจริตแปลงสัมปทานที่สื่อพาดหัวว่าได้ครบแล้ว ๙ ท่านเปานั้นก็น่าจะต้องใช้งบประมาณสำหรับเป็นเบี้ยประชุมถึง ๑.๖-๑.๗ ล้านบาท

แล้วพวกท่านเปาเหล่านี้ เวลาประชุมเพื่อพิจารณาคดีเป็นองค์คณะ จะได้เบี้ยกันคนละ ๓ พันบาท หากมีการไต่สวนพยานด้วย ได้คนละ ๖ พัน

นี่นอกเหนือจากเงินเดือนพื้นฐานของผู้พิพากษาศาลฎีกา ๗๓,๒๔๐ บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง ๔๒,๕๐๐ บาท และค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่งอีก ๔๑,๐๐๐ บาท (รวมทั้งสิ้น ๑๕๖,๗๔๐ บาท)


เรื่องนี้ออกรสตรงที่มีคนไปร่วมสนทนากันถึงขิง เช่น Nuch Red เสริมประเด็นประธานศาลฎีกาเซ็นเองว่า “ประธานศาลศาลฏีกาสมัยนี้ชื่อ ชีพ จุลมนต์ ใจถึงพึ่งได้

ประธานฏีกาเป็นประธาน กบศ. โดยตำแหน่ง ซึ่งประธานศาลฏีกาคนก่อนๆ ถึงอยากทำแต่ไม่กล้า ท่านประธานคนนี้ใจถึงจริงๆ รับเลี้ยงฉลองตำแหน่งกับพ่อค้า เช่น ไทยซัมมิต ทีโอเอ ออกสื่อด้วย สังคมใครจะคิดอย่างไรไม่สนใจ ให้รู้ว่าไผเป็นไผ”

คนเดียวกันวิจารณ์ต่อ “รู้สึกว่าไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยมัง คงเป็นการหลบหลีกจากการรับรู้ของหน่วยงานราชการอื่น และเพื่อแก้ลำรัฐบาลที่ไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แต่กลับขึ้นเงินเดือนทหารพรวดๆ ตลอดเกือบสี่ปีที่ผ่านมานับแต่รัฐประหาร”

Teeratat In มาช่วยแจมให้กระจ่าง “ค่าเบี้ยประชุมถือเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดค่าตอบแทน จะไม่รวมมาคิดภาษีครับ” ตามด้วย Theeti Suwanasart แถมให้กระชับ “ค่าเบี้ยประชุมที่จ่ายโดยหน่วยงานรัฐ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี​ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๔๒ ()

Ekachai Chainuvati ร่วมแซะเวลาทำงานไม่ใช่เหรอครับ? ทำไมจ่ายเบี้ยเพิ่ม?? โอ้! อิสระๆๆ ลืมไป”

Nuch Red เลยกลับมาไขข้อข้องใจ “นี่ศาลนะ อย่าลืมว่า คสช.ต้องอาศัยมือใครในการจัดการฝ่ายตรงข้าม”



ด้วยเหตุนี้ละมังคดีการเมืองปิดปากฝ่ายตรงข้ามอย่าง หมวดเจี๊ยบรท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง ที่ถูก คสช. ฟ้องข้อหาบ่อนทำลายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖ ซึ่งถ้าหากถูกตัดสินความผิดครบทุกกระทง เธอจะต้องติดคุกอย่างน้อยๆ ๔๒ ปี

ถึงได้มี “ผู้แทนทางการทูตจากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป อังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตุการณ์เป็นจำนวนมาก”

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของหมวดเจี๊ยบ แถลงต่อสื่อมวลชนว่าหมวดเจี๊ยบวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ตามสิทธิของเธอที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ รับรอง การตั้งข้อหาบ่อนทำลายชาติ ม.๑๑๖ หนักเกินกว่าฐานความผิด

“ตำรวจไม่ควรจะทำตัวเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจใน คสช. ใช้ข่มเหงรังควาญประชาชน” ทนายนรินท์พงศ์ยืนยันในข้อต่อสู้ที่ว่าการวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ดีแต่โอ้โอ๋ต้อนรับ พี่ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย แต่ไม่ยอมพบแกนนำชาวสวนยางปักใต้ ไม่ใช้ความผิดร้ายแรงอะไร