วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 07, 2560

จับตาหลังเลื่อนตั้ง (เลื่อน 58-59-60-61 ไป 62 ) กระทบลงทุนแน่





จับตาหลังเลือกตั้ง ปีทองของไทย ชี้หากเลื่อน กระทบแน่ลงทุน


6 ธ.ค. 2560
ไทยรัฐออนไลน์


ซีไอเอ็มบีไทย มองปี 62 ปีทองของไทย หลังเลือกตั้ง ดันใช้จ่ายลงทุนเพิ่ม รับการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ ชี้หากเลื่อนเลือกตั้ง ส่งผลลงทุนชะลอตัว มองปี 61 ดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 1.5% จากเฟดขึ้นดอกเบี้ย กดบาทอ่อน...

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ปีทองที่แท้จริงของประเทศไทยน่าจะเป็นปี 2562 เนื่องจากเป็นปีที่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนกลับมามีการจับจ่ายใช้สอย บริโภค หรือลงทุนเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศสามารถขับเคลื่อนงานไปได้จากสิ่งที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางโครงการไว้ ซึ่งรัฐบาลชุดถัดไปของ คสช.นับว่าเป็นรัฐบาลที่โชคดี เพราะสิ่งที่ คสช.ได้ทำและเดินหน้ามาแล้วนั้น เริ่มจะเห็นผล และจะขับเคลื่อนได้ในปีถัดไป

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ควรได้รับการแก้ไขต่อไป เช่น การขาดแคลนแรงงานมีทักษะ, การเข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนที่เป็นประเทศรายได้สูง และการมีกฎระเบียบและข้อจำกัดในการลงทุนอันบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเอกชน เป็นต้น ดังนั้นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจยังไม่จบแม้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วก็ตาม

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 61 นอกจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความมั่นใจทางการเมือง ความมั่นใจในการเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ มีผลต่อความมั่นใจต่อนักลงทุน และผู้บริโภค หากคนไม่มั่นใจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้

ทั้งนี้ธนาคารได้มองไว้เป็น 3 สถานการณ์ โดยสถานการณ์ที่ 1 เลื่อนการเลือกตั้ง จากเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ การติดขัดในกฎหมายย่อย หรือกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ การตกลงเจรจาไม่ได้ข้อสรุป หรืออาจไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทัน ทำให้แผนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.61 ต้องเลื่อนออกไป อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน คนชะลอการบริโภค ประมาณการ GDP ปี 61 จะอยู่ที่ 3.5-3.8%

ส่วนสถานการณ์ที่ 2 มีการเลือกตั้ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้สานต่อการบริหารประเทศ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของนโยบาย ประมาณการ GDP ปี 61 จะอยู่ที่ 3.7-4.0% และสถานการณ์ที่ 3 มีการเลือกตั้ง โดย คสช.เปลี่ยนผ่านรูปแบบมาใช้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในการกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐบาล ส่วนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย หรือพรรคใดๆ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่วุฒิสภายังคงมีอำนาจในการกำกับดูแล และควบคุมแนวทางของรัฐบาลให้เดินตามนโยบายปฏิรูปแห่งชาติ หรือนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สถานการณ์นี้ความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องด้านนโยบายจะยังคงอยู่ต่อไป การเมืองไทยมีภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งคาดว่าจะได้รับคะแนนนิยมและมุมมองที่ดีจากต่างชาติ อีกทั้งน่าจะทำให้เห็นภาพอนาคตที่มีความชัดเจนขึ้น โดยประมาณการ GDP จะเติบโตได้ถึง 3.9-4.5%

อย่างไรก็ตามปีหน้าไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะออกมารูปแบบใด เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้มเติบโตเหนือ 3.5% ด้วยปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวขับเคลื่อนที่กำลังเร่งตัวดีขึ้น ได้แก่ ปัจจัยต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยพลิกเป็นบวก และหากส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องใน 2 ไตรมาส จะเริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนเริ่มกลับมาลงทุน การบริโภคจะเริ่มกลับมา ซึ่งจะผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 61 คาดการณ์จะเติบโต 4% จากปี 60 ที่คาดว่าจะโต 3.9% โดยด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 61 จะคงที่ระดับ 1.5% ตลอดทั้งปี เพื่อรักษาสมดุลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ อีกทั้งเฟดมีความพร้อมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้ง จึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงน่าจะคงดอกเบี้ยได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้ไทยเกิดเงินไหลออก และการเข้ามาซื้อตราสารหนี้ของไทยลดลง ทำให้ค่าเงินบาทปี 61 อ่อนค่าที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ.