วันพุธ, พฤศจิกายน 15, 2560

'แม่ค้าหัวเราะก๊าก' กับ 'ภาวะเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบแข็งบนอ่อนล่าง'

ขำกลิ้งจริงแหละอย่างไทยรัฐว่า ตำรวจไปจับแม่ค้าหวยชุดของกองสลากฯ ๓ ราย ขายเกินราคา หน้าตั๋ว ๘๐ ขาย ๑๐๐

แม่ค้าหัวเราะก๊าก บอกทั่นเจ้าพนักงาน อิฉันซื้อมาก็ ๙๖ บาทแล้ว ขาย ๑๐๐ บาทก็ได้แค่ ๔ บาท จะไม่ให้กำไรบ้างเลยเหรอ

เอารายละเอียดเสียหน่อย ทั่นรองผู้กำกับฯ ภูธร คลองหลวง ปทุมฯ ยกพวกไปยังแผงล็อตเตอรี่ริมถนนเลียบคลองตามเบาะแสพลเมืองดีแจ้ง พบสามสามขายหวยชุดราคาเกิน ๘๐ บาทต่อใบ จึงทำการจับกุม

“ตามนโยบายของรัฐบาลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแม่ค้าพ่อค้าที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา” พ.ต.ต.ฐานพันธ์ เฉลิมพัชรพรกุล อ้างทำตามหน้าที่ “นำตัวแม่ค้าทั้ง ๓ คน ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป”


หนึ่งในสามแม่ค้าหวยอายุมากที่สุด ๓๖ ปี (อีกสองคนยังเป็นนางสาว วัยยี่สิบกว่าๆ) ให้การตามตรงว่า สลากใบเดี่ยวที่ไม่ได้เป็นชุดนั่นถึงขาย ๘๐ บาทได้ เพราะต้นทุนอยู่ที่ ๗๔ ถึง ๗๙ บาท

แต่สลากแบบชุดที่คนชอบซื้อนั่นต้นทุน ๙๖ บาท แล้วจะให้ขาย ๘๐ ได้ไง คุณตำรวจควรต้องไปศึกษา ทฤษฎีทำกำไร ของโจเซ็ฟ ชัมพีเตอร์ ไว้บ้างก็ดีนะ จะให้ลงแรงวิ่งเหนื่อยเพื่อคนออกเงินบริจาคซื้อเครื่องมือการแพทย์ช่วยโรงพยาบาลแทนอย่าง ตูน บอดี้สแลม ไม่ได้หรอก

คนละเรื่องทำนองเดียวกัน รัฐบาลขี้ตู่ไม่รู้วิธีช่วยคนจนด้วยการให้เบ็ด ก็เลยให้ปลา แต่ปลาก็หายากแม้จะปลาซิวปลาสร้อย จึงให้ปลากระป๋องแทน อีกน่ะแหละบางทีบ่อยครั้งกระป๋องเก่าปลาข้างในเน่าก็มี

อย่างเช่นนโยบายแจกบัตรเครดิตแก่ผู้มีรายได้น้อยใช้ซื้อข้าวของจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ปรากฏบ่นกันอุบว่าของราคาแพงกว่าข้างนอก ดังตัวอย่างการสนทนาที่เก็บมาจากเพจของหมอชัยวุฒิ สุวรรณโณ

ชลิต ลลิตาภรพงศ์ ว่า “สินค้าก็ไม่ใช่ราคาประหยัดนะครับ...ผมเจอมากับตัว น้ำมันตราทับทิม พวกขาย ๔๒.- มาดูร้าน 711 ราคาแค่ ๓๒.- เอง

รถดีถุงขนาดกลางพวกขายราคาเต็มตามที่ระบุข้างซองเลย ซึ่งตามตลาดทั่วไปจะขายไม่ถึง แล้วแบบนี้จะเป็นสินค้าราคาประหยัดได้อย่างไร”

ด้าน สมใจ หมอยา ขานรับ “ใช่ค่ะ...ธงฟ้าไปขายตามบริษัทต่างๆ ลูกเราซื้อมา...บางอย่างแพงกว่าที่เราไปซื้อที่โลตัสซะอีกนะ”

เบญ เบญ ก็เช่นกัน บอก “คนที่เช่าอยู่ตึกเดียวกัน เขาไปใช้บัตร แพงกว่าเยอะเลย ธงฟ้าราคาเต็มข้างกล่องข้างซองข้างขวดเลย แต่ข้างนอกเขามีลดเยอะแยะ

ป้าแกไปใช้บัตร แกบอกว่าผงซักผ้า ๙๐๐ กรัมแกซื้อข้างนอกตามตลาดร้านค้า ๔๐ บาท แต่ร้านธงฟ้า ๖๐บาท เรายังอุทานเลยว่าป้าจำผิดหรือเปล่า ปริมาณมันน้อยมากกว่ากันหรือเปล่า แกบอกว่าเท่ากันเลย”

ซ้ำร้าย “เวลาเราซื้อเงินเราไม่หมด ๔, ๕ บาท ร้านก็จะยึด แต่ถ้าเราซื้อเกิน ๔, ๕ บาทเราก็ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะบัตรใช้ได้แต่ละครั้งให้หมดภายใน ๑ เดือน สะสมเงินที่เหลือไปเดือนหน้าไม่ได้

นี่แหละวิธีช่วยคนจนของเขา คนจนเป็นหมากตัวหนึ่ง”

จึงมีคนคิดโครงการขอดเกล็ดล้อเลียน คสช. ใช้ชื่อเพจอะไรนิวส์ๆ นี่ละ ว่า “ตู่ บอดี้สลิ่ม เตรียมผุดโครงการใหม่วิ่งรีดภาษีจากแม่สายกลับไปเบตง”

เนื่องจาก “เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนมีศักยภาพที่พร้อมจะบริจาค...ก็ต้องมีศักยภาพ พร้อมที่จะจ่ายภาษี...” เพื่อที่ทีม คสช. ของประยุทธ์จะได้วิ่งซื้ออาวุธคล่องๆ

ว่าถึงการซื้ออาวุธนี่ ประชาไท เขาทำ สาระ+ภาพเกี่ยวกับงบประมาณกลาโหมไว้น่าคิด ควรที่พวกนิยมทหารควรดู จะเห็นว่าทหารสามารถช่วยสาธารณะสุขได้โดยไม่ต้องออกแรงวิ่งอย่างพี่ตูน

“ด้วยการตัดงบกระทรวงงบกลาโหม ๑% จนถึง ๑๐% เพื่อเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ”

เขาคำนวณออกมา งบฯ กลาโหมปีหน้า ๒๒๐,๕๒๓ ล้านบาท (เท่ากับร้อยละ ๗.๖ ของงบประมาณทั้งแผ่นดิน) หากผันเอา ๑ เปอร์เซ็นต์ไปให้โรงพยาบาลในโครงการ ก้าวคนละก้าวจะได้ ๒,๒๐๕ ล้านบาท ช่วยโรงพยาบาลได้ ๓๓ แห่ง มากกว่าการวิ่งครั้งที่สองของตูน ๓ เท่า


ยิ่งถ้าสามารถลดงบกลาโหมได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะช่วยโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ได้ถึง ๓๓๐ แห่ง มิดีกว่าหรือ ไม่ต้องวิ่ง แล้วยังจะลบภาพ “กะลาใบใหญ่ที่สุดที่ครอบประเทศไทย” ได้ด้วย

ซ้ำยังไม่ต้องคอยโกหกพกลมต่อประชาชนว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ประเดี๋ยวก็รวย อยู่นั่นแล้วสามปีกว่า ประชาชนไม่เพียงเป็น กบในกะลาแต่กำลังจะ ตายหยังเขียดกันเกือบถ้วนหน้ามหภาค

ดังนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ชี้ชัด “ภาวการณ์คึกคักทางเศรษฐกิจดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในภาพรวมของเศรษฐกิจฐานราก...การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะกับกลุ่มธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่บางกลุ่ม” เท่านั้น

อจ.เดชรัต สุขกำเนิด นำรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อภาวะเศรษฐกิจสังคมในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๐ มาวิเคราะห์ พบว่า

“ครัวเรือนถึง ๔๐% ที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศมีรายได้ลดลงหรือจนลง ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุดยังมีรายได้เพิ่มขึ้น...

ย่อมส่งผลให้ดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้ (หรือค่าสัมประสิทธิ์จินี่) เพิ่มมากขึ้นจาก ๐.๓๓๗ เป็น ๐.๓๔๑ ในปี ๒๕๖๐ หรือมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ๑.% ในช่วงเวลา ๒ ปี”

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากปี ๕๘ จำนวน ๕.๘ เท่าของรายได้ มาเป็น ๖.๖ เท่าของรายได้ในปี ๖๐ “ภาวะฝืดเคืองในเศรษฐกิจในประเทศจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมา”


ดร.เดชรัตชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบแข็งนอกอ่อนใน หรือ แข็งบนอ่อนล่างนี้ “น่าจะเป็นคำถามที่ คสช. ต้องตอบพี่น้องประชาชน มากกว่า...

เพราะปัญหาของประชาชนสำคัญกว่าการสืบทอดอำนาจเสมอ”