วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 09, 2560

6 คำถามประยุทธ์ = เป็นการถามตรง ๆ ว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ (ชื่อนี้เลยครับ... "พรรคชาติหน้า(ค่อย)พัฒนา"...!!! มิตรสหายท่านหนึ่ง)



AFP/GETTY IMAGE


ถอดรหัส “6 คำถามประยุทธ์” ล็อคคำตอบตั้งพรรค คสช.?


8 พฤศจิกายน 2017
ที่มา บีบีซีไทย

นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคำถามถึงประชาชน

เอกสาร "6 คำถามถึงพี่น้องประชาชน" ที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "เขียนขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 8 พ.ย." ถูกนำออกแจกจ่ายสื่อมวลชนเพื่อเชิญชวนประชาชนร่วม "ส่งคำตอบ" ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอีกครั้ง

"ที่ผมถามเพราะอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจตอบคำถามผม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว พร้อมย้ำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

คำถาม 6 ข้อของนายกฯ

  • วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?
  • การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว
  • สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่
  • การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่? เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าที่ คสช. และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่ ?
  • รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจนเพียงพอหรือไม่?
  • ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ ฝากถามพี่น้องประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร

บีบีซีไทยชวนนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิจัยการเมืองสำนักโพล ร่วมถอดรหัส "ประยุทธ์โพล"

"เป็นการถามตรง ๆ ว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่" ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับบีบีซีไทย

ก่อนขยายความเพิ่มว่าคำถามในข้อ 1 และ 2 เป็นลักษณะดึงให้ประชาชนคล้อยตาม แล้วไปตบที่ข้อ 3 ด้วยการโชว์ผลงานของรัฐบาล

ส่วนการตอกย้ำในคำถามว่า "นายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว" ดร.สติธรระบุว่า เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่านัยที่ซ่อนอยู่ในคำถามคืออนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกได้ 2 แนวทาง ระหว่างเป็น "นายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง" หรือรอรับเทียบเชิญเป็น "นายกฯ คนนอก"



AFP/GETTY IMAGES


"ถ้าจะเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรคตั้งแต่ก๊อกแรก เจ้าตัวต้องยินยอมให้ใส่ชื่อตั้งแต่ช่วงหาเสียง เอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคนั้น เรียกว่าเปิดหน้าสู้ในสนามเลือกตั้งเลย ถ้าได้เข้ามาจริงก็จะสง่างาม แต่ความเสี่ยงคือหากพรรค คสช.ไม่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แล้วไปรวมพรรคอื่น ๆ ตั้งรัฐบาลเสนอชื่อนายกฯ แข่ง มันจะประหลาด แต่ถ้าเลือกมาในก๊อก 2 จะเป็นอารมณ์ว่าสมาชิกรัฐสภา 750 คนหาคนดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ต้องเสนอชื่อคนนอกบัญชี ก็จะมาแบบ 'นายกฯ คนดี' 'อัศวินขี่ม้าขาว' แต่ก็อาจเกิดกระแสต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ซ้ำรอยเหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' ได้" ดร.สติธรกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกปล่อย 6 คำถามออกมาในช่วงนี้ ดร.สติธรชี้ว่าน่าจะเป็นเพราะเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อน คสช. ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ จึงต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยมีประสบการณ์การเมืองของนายพลรุ่นอย่างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่แอบสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดินในการเลือกตั้งปี 2550 เป็นบทเรียน "การแอบอยู่ข้างหลัง อาจทำให้กระแสไม่พุ่ง นี่เป็นสิ่งที่ คสช.นำมาทบทวน แล้วเลือกเปิดตัวแบบโจ่งแจ้ง"


AFP/GETTY IMAGES
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (นั่ง) ลงพื้นที่ จ.ยะลาหาเสียงร่วมกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2554


"ทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเมืองแบบ '3 ก๊ก' ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่น ๆ ภายใต้สมมุติฐานไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา ดังนั้นพรรคทหารก็ต้องเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองสูงสุดในการเมือง 3 ฝ่าย ในการโหวตเลือกนายกฯ" ดร.สติธรกล่าว

ขณะที่มุมมองของผู้ที่ถูกมองว่าเป็น "มือทำโพล" อย่าง ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เห็นว่าคำถามทั้ง 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ล้วนมีนัยซ่อนอยู่ โดยถือเป็น "การสื่อสารทางการเมือง" ที่มีเป้าหมายอย่างน้อย 5 ประการคือ 1. จุดประกายทางความคิดของประชาชนให้คิดตามกรอบคำถามที่ตั้งขึ้น 2. กระตุ้นให้ฝ่ายสนับสนุน คสช. ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนสิ่งที่รัฐบาลทำมา 3. แสดงผลงานของรัฐบาลที่ฝ่ายการเมืองทำไม่ได้ 4. เคลื่อนไหวตอบโต้ทางการเมืองฝ่ายการเมืองที่กำลังรุกหนัก และ 5. นำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจทบทวนเปลี่ยนแปลงการทำงานในบางประการ

เขาเชื่อว่า คำถาม 6 ข้อของหัวหน้า คสช. เป็นส่วนหนึ่งของ "ยุทธศาสตร์ทางลงจากอำนาจ" หรือ exit strategy


GETTY IMAGES
ประชาชนราว 100 คนชุมนุมกลางกรุงเทพฯ 3 วันหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557


"ความจริงคนที่จะเข้าสู่อำนาจต้องคิด exit strategy ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะทหารเป็นนักยุทธศาสตร์ ต้องคิดตั้งแต่มาวันแรก ๆ เลยว่าจะจบอย่างไรให้สวย ซึ่งในการลง อาจลงจากตรงนี้ แล้วไปต่อที่ตรงอื่น" ดร.นพดลกล่าว

อย่างไรก็ตามนักวิจัยการเมืองมองต่างมุมจากนักรัฐศาสตร์ นพดลไม่คิดว่าชุดคำถามทั้ง 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการปูทางไปสู่การจัดตั้งพรรคทหาร แต่คิดว่าเป็นแผน "เปลี่ยนเกม" กลบกระแสด้านลบที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล คสช.เท่านั้น

"ในทางทหารเขาเรียก 'วอร์เกม' หรือเกมสงคราม เมื่อเล่นเกมเดิมไม่ได้ ก็ต้องขึ้นเกมใหม่ นี่คือการเบี่ยงประเด็น คือการชิงพื้นที่สื่อเพื่อบริหารจัดการอารมณ์สาธารณชน" ดร.นพดลกล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยโยน "คำถาม 4 ข้อ" ขึ้นกลางรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ก่อนเปิดศูนย์ดำรงธรรมรับคำตอบจากประชาชนเดือน มิ.ย. 2560



หลายคำเห็นจากประชาชนถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อของรัฐ ในทำนอง "ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รัฐบาลที่ดีมีธรรมาภิบาล" และ "สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ บริหารประเทศอีกสักระยะ"

ดร.สติธรชี้ว่า "คำถาม 6 ข้อ" ในครั้งนี้ เป็นประเด็นต่อเนื่องจาก "คำถาม 4 ข้อ" ในครั้งก่อน โดยมีคำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" "ปฏิรูป" "ธรรมาภิบาล" ถูกเวียนกลับมาใช้ใหม่

"ตอนตั้งคำถามรอบแรก อยู่บนฐานคิดว่าอาจอยู่ยาวโดยไม่ต้องเลือกตั้ง แต่มาตั้งรอบนี้ ประกาศโรดแมปเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2561 ก็ต้องตั้งคำถามใหม่ โดยชูจุดขาย 3 คำนี้ที่ต้องทำต่อเนื่อง ถ้าเอาคนไม่รู้เรื่องมาทำ จะดีหรือ สะท้อนให้เห็นวาเจ้าของคำถามคิดอะไรในใจ"

นี่คือชุดคำถามที่มีคำตอบอยู่ในนั้น!!!