วันพุธ, พฤศจิกายน 01, 2560

31 ตุลาคม 4ปีก่อนเป็นวันเริ่มต้นของการชุมนุมของม็อบ กปปส. เป็นจุดเริ่มต้นของการปูทางไปสู่การรัฐประหารคสช. ประเทศไทยถอยหลังไปแค่ไหน?





ไขปม: 4 ปีม็อบกปปส. ประเทศไทยได้อะไรกับการต่อต้านประชาธิปไตย





By พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
31 ตุลาคม 2560 
Voice TV


31 ตุลาคม เมื่อ4ปีก่อนเป็นวันเริ่มต้นของการชุมนุมของม็อบกปปส.ที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน เป็นจุดเริ่มต้นของการปูทางไปสู่การรัฐประหารคสช. สังคมได้อะไรบ้าง?

การชุมนุมของม็อบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 เป็นสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศมาถึงจุดนี้ จะจุดเรียกร้องให้ถอดพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ "เหมาเข่ง" เป้าหมายของกปปส.เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถึงการกดดันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยุบสภา

ขยายไปเป็นการพยายามขัดขวางการเลือกตั้งตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครที่ไปขัดขวางผู้สมัคร แกนนำบางคนที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวจนทำให้พรรคบอยคอตการเลือกตั้ง ถึงแม้จะเกิดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมก็ยังมีการไปปิดล้อมคูหาเลือกตั้งจนเกิดการปะทะขึ้นในหลายแห่งจนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้งว่าเป็นโมฆะเพราะไม่สามารถจัดเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วประเทศ ปิดล้อมรัฐสภาในขณะที่มีการประชุมร่วมส.ส.-ส.ว.ในการหาทางออกประเทศ และการปูทางไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้น โดยภายหลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.ออกมายอมรับว่ามีการ "เตี๊ยมกัน"มาก่อน 4ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน?

กปปส.คือคนทำลายประชาธิปไตย อย่าให้ใครมาบิดเบือนประวัติศาสตร์

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกปปส. ว่าถือว่าเป็นขบวนการล้มล้างประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่ากปปส.คือมรดกที่สืบทอดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เกิดขึ้นจากพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง อัษฎางค์ชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องระหว่างพรรคกับม็อบกปปส.ได้เลย เพราะเมื่อการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นสมาชิกของพรรคที่ไปเข้าร่วมและได้ประกาศลาออก ย่อมรู้อยู่แล้วว่าถ้าหากลาออกไปจะนำไปสู่อะไรและมีแผนการอะไรบ้าง

กับสิ่งที่กปปส.ยกมาอ้างเรื่อง "การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ใน 3 ปีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไร? อัษฎางค์กล่าวว่า ตัวคุณสุเทพรู้เองหรือไม่ว่าการปฏิรูปคืออะไร? และปฏิรูปอย่างไร?เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีไม่ได้เป็นการปฏิรูป อีกทั้งยังเป็นแค่การดึงคนที่เป็นแนวร่วมกับกปปส.เข้าไปทำงานด้วยแค่นั้น เหมือนแนวคิดเรื่อง "คนดี" ในทุกวันนี้คนที่อ้างว่าเป็นคนดีเข้าไปทำงานให้คสช.ทั้งนั้น

อัษฎางค์พูดถึงมรดกของกปปส.ที่สำคัญก็คือการทำให้ประชาชนเกลียดประชาธิปไตย เกลียดนักการเมือง จริงๆแล้วมันเป็นค่านิยมของชนชั้นนำ ซึ่งชนชั้นกลางในเมืองรับความคิดมาเพราะต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้แม้จะมีจำนวนน้อยแต่เป็นกลุ่มคนที่เสียงดี ซึ่งไม่เคยมีการสำรวจจริงๆว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกปปส.หรือไม่ กลุ่มชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่จึงได้รับเหลือเศษผลประโยชน์แบบสังคมสงเคราะห์เท่านั้น

สิ่งที่อัษฎางค์เน้นย้ำก็คือ การบันทึกประวัติศาสตร์ในสิ่งที่กปปส.ได้ทำไป อย่างไรถึงไม่ถูกบิดเบือนเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี่เข้าไปมีอำนาจมีโอกาสที่พวกเขาจะเขียนประวัติศาสตร์ในแบบที่พวกเขาเป็นคนที่มาแก้ปัญหา อีกทั้งนักวิชาการใหญ่ๆก็เข้าไปมีอำนาจในคสช.กันทั้งนั้น สื่อและสถาบันการศึกษาควรกล้าที่จะมีปากมีเสียงในการตรวจสอบไม่ให้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์

สุดท้ายถ้าเราไม่อยากให้มีขบวนการแบบกปปส. ออกมาในอนาคตเราต้องทำอย่างไร จากประสบการณ์อัษฎางค์กล่าวว่า ในเชิงกฎหมายเราต้องแก้รัฐธรรมนูญระบุว่าไม่สามารถนิรโทษกรรมได้หากเกิดการทำรัฐประหาร อีกทั้งต้องแก้ระบบสังคมอุปถัมภ์ ส่วนคนรุ่นใหม่นั้นอัษฎางค์กล่าวว่าสมัยที่เขาทำงานให้กับสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองเคยผลักดันให้เกิด การศึกษาภาคพลเมือง (Civic Education) ตั้งแต่ระดับประถมให้ทุกคนเข้าใจ รักและลูกหน้าที่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย