วันอังคาร, มกราคม 19, 2559

สรุปรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แบบสั้นๆง่ายๆ 'ณัฐวุฒิ' ลั่นรณรงค์ 'ไม่รับ' ร่าง รธน.




สรุปรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย แบบสั้นๆง่ายๆ

1. ศาลรัฐธรรมนูญ / ป.ป.ช. / กกต. มีอำนาจเหนือรัฐบาล
สามารถสั่งการ ควบคุม ยับยั้ง นโยบายของรัฐบาลได้

2. ส.ว. ส่วนใหญ่มาจากการสรรหา (หน้าเดิมๆ ใน สนช. สปท. อดีต สปช.)

3. นายกไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

4. เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คนชนะไม่อาจตั้งรัฐบาลได้ถ้าไม่มีพรรคร่วม

แค่ 4 ข้อนี้ก็เดินจะรับได้แล้ว ดังนั้นขอประกาศล่วงหน้าว่า "ไม่รับร่าง" แน่นอน


ศิริพันธุ์ วัฒนวาณิชย์กุล


ooo

'ณัฐวุฒิ' ลั่นรณรงค์ 'ไม่รับ' ร่าง รธน. ชี้ 'ประชามติ' ไม่ได้มีแค่พิจารณาชิ้นงานของเนติบริกร




'ณัฐวุฒิ' ลั่นรณรงค์ 'ไม่รับ' ร่าง รธน. เหตุร่างเพื่อดำรงความมุ่งหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม บอนไซประชาธิปไตยและขยายอำนาจให้องค์กรอิสระมีอิทธิพลเหนือตัวแทน เปิดช่องนายกฯคนนอก ชี้ 'ประชามติ' ไม่ได้มีแค่พิจารณาชิ้นงานของเนติบริกร

ที่มา ประชาไท
Mon, 2016-01-18



18 ม.ค. 2559 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ตนไม่อาจยอมรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏได้ และจะต้องรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ เพราะเชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำรงความมุ่งหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อเนื่องจากการรัฐประหารครั้งที่แล้ว คือการบอนไซประชาธิปไตยและขยายอำนาจให้องค์กรอิสระมีอิทธิพลเหนือตัวแทนที่มาจากประชาชน ที่แตกต่างคือ รัฐธรรมนูญปี 50 มุ่งกำหนดผลเลือกตั้งให้พรรคการเมืองที่อยู่ในอาณัติเป็นรัฐบาล พร้อมกับวางกลไกอำนาจไว้เพื่อสร้างเงื่อนไขทางการเมืองตามที่ต้องการ แต่ร่างปัจจุบันสะท้อนว่า ผู้ถืออำนาจไม่คาดหวังกับพรรคการเมืองเดิม จึงเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก และให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญลงดาบรัฐบาลเลือกตั้ง พร้อมทั้งขยายอำนาจองค์กรอิสระอื่นให้เชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลสูงสุด

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า เนื้อหาแบบนี้รัฐบาลของประชาชนจะมีสถานะเพียงนกเขาในกรง ที่โก่งคอขันได้ แต่ไร้อิสรภาพ บังคับใช้ไปสักระยะสภาพการณ์เดิมๆ จะวนกลับมา เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นความต้องการลึกๆของฝ่ายอำนาจ เพราะผลของความขัดแย้งที่ผ่านมาทำให้ประชาธิปไตยไม่อาจหยั่งรากได้ ทั้งนี้ ตนเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แม้มั่นใจว่าสามารถเอาชนะได้อีกในสนามเลือกตั้ง แต่จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าชัยชนะนั้นนำระบอบประชาธิปไตยไปพ่ายแพ้อีกครั้ง

"ถ้าทุกคนคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ผลลัพธ์ก็จะเหมือนเดิม วันนี้ทั้งฝ่ายการเมืองและประชาชนต้องกำหนดวิธีคิดใหม่ คือสร้างกติกาที่เป็นประชาธิปไตย จัดอำนาจพิเศษ และองค์กรบริวารทั้งหลายอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง ถูกหลักการเสียก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง หัวใจของปัญหาที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะคนไทยใส่เสื้อสีต่างกัน แต่เป็นเพราะเรายังมีปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุก็ออกจากวังวนนี้ไม่ได้ สนามประชามติจึงมีความหมายมากกว่าแค่พิจารณาชิ้นงานของเนติบริกร แต่หมายถึงการยืนยันหลักการประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ" นายณัฐวุฒิกล่าว

อัครมหาเนติบริกร

ขณะที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เขียนวิพากษ์วิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจตนเอง โดยใช้ชื่อบทความว่า "อัครมหาเนติบริกร"




ooo




http://news.voicetv.co.th/thailand/313938.html

เปิดร่างรธน. 'มีชัย' ฉบับที่แทบแก้ไขไม่ได้

by Nititorn Surabundith
18 มกราคม 2559

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเนื้อหารายมาตรา ครบ 261 มาตราแล้ว ยืนยัน การเพิ่มอำนาจให้แก่องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเพิ่มเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น แบ่งบทบัญญัติออกเป็น 13 หมวด 261 มาตรา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพจำนวน 200 คน โดยห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น

ส่วนส.ส.มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน โดยระบบจัดสรรปันส่วนผสม พร้อมกำหนดให้พรรคการเมือง ยื่นรายชื่อผู้ที่พรรคสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ต่อ กกต.ก่อนการเลือกตั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.

กรธ.ยังเพิ่มอำนาจแก่องค์กรอิสระ อาทิ ให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งฝ่ายเดียว กกต. สตง.และ ป.ป.ช.มีอำนาจออกคำเตือนรัฐบาล หากพบการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย พร้อมให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรชี้ขาดวิกฤตการณ์ทางการเมือง

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้น โดยให้ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในขั้นรับหลักการ และต้องมี ส.ส.จากพรรคที่มีจำนวนที่นั่งเกิน 10 เห็นชอบอย่างน้อยร้อยละ 10 ในขั้นลงมติ ส่วนหมวดสำคัญ อาทิ อำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ องค์กรอิสระ ต้องผ่านการทำประชามติ ปิดท้ายด้วยบทเฉพาะกาลที่นิรโทษกรรมคสช.

ด้านนายสุขุม นวลสกุล ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งจำกัดอำนาจนักการเมือง หลังพบอำนาจองค์กรอิสระที่ครอบคลุมการทำงานฝ่ายบริหาร เปรียบเสมือนระบบประชาธิปไตยครึ่งใบ

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับทำได้ยาก เพราะต้องมีเสียงอย่างน้อยร้อยละ 10 จากพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างทางตันขึ้นมา โดยไม่สามารถแก้ไขได้ จนอาจจะนำไปสู่การอาศัยมวลชนกดดัน และนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งในที่สุด

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มกราคมนี้ ก่อนนำไปสู่การจัดประชามติในปลายเดือนกรกฎาคม