วันอาทิตย์, มิถุนายน 16, 2567

ความไม่เท่าเทียมกันของมหาลัยในประเทศไทย มหาวิทยาลัย (ชน) ชั้นนำ กับ มหาวิทยาลัย (ชน) ชายขอบ



ระหว่างมหาวิทยาลัย (ชน) ชั้นนำ และมหาวิทยาลัย (ชน) ชายขอบ

เรื่อง สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพ ณัฐพล อุปฮาด
12 Jun 2024
101 World

หากไม่นับรวมมหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยมีมหาวิทยาลัยอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นสถาบันขนาดใหญ่ซึ่งได้รับการจัดประเภทให้เป็น ‘มหาวิทยาลัยวิจัย’ หรืออาจมีการยกย่องตนเองว่าเป็นสถาบันการศึกษาในระดับ ‘เสาหลัก’, ‘ปัญญา’ ฯลฯ ของแผ่นดิน บ้างก็เชื่อว่าตนเองเป็นสถาบันการศึกษาในระดับโลก ส่วนกลุ่มที่สองเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก มักถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีไว้เพื่อชุมชนหรือท้องถิ่น แต่ความข้อนี้จะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผลที่ติดตามมาอย่างสำคัญของการจำแนกประเภทดังกล่าวก็คือ บรรดามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่จะได้รับการอุดหนุนด้วยงบประมาณที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยในกลุ่มที่สองอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจมีงบประมาณในระดับพันล้านขึ้น หากเป็นมหาวิทยาลัยในระดับเกรดเอ ก็จะมีงบตั้งแต่ห้าพันล้านถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท ขณะที่มหาวิทยาลัยที่เป็นปัญญาของท้องถิ่นจะได้รับงบประมาณในหลักร้อยล้าน

มักมีการให้เหตุผลว่ามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีคณะและสาขาวิชาที่มากกว่า เฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อันหมายถึงคณะแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้งบประมาณอยู่ในระดับที่สูงมากกว่ามหาวิทยาลัยขนาดเล็กอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ความข้อนี้เป็นจริงอย่างไม่อาจปฏิเสธ งบประมาณของสถาบันการศึกษาหลายแห่งนั้น สัดส่วนข้างมากไปกองอยู่ในส่วนงานที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ขณะที่สาขาวิชาด้านสังคม/มนุษยศาสตร์มีสัดส่วนในระดับที่ต่ำมาก จนในบางสถาบันนั้นสามารถกล่าวได้ว่า “ไม่ใช่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ แต่เป็นคณะแพทย์ที่มีมหาวิทยาลัย”

แต่ไม่ใช่เพียงการมีสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเท่านั้น งบประมาณระหว่างมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และขนาดเล็กก็นำมาซึ่งความแตกต่างกันอย่างมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่สามารถจ่ายค่าจ้างเริ่มต้นให้กับอาจารย์ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกได้ด้วยเงินเดือน 41,000 บาท สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ส่วนมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก (มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ) จะจ่ายเงินเดือนได้ประมาณ 30,000 บาท

ผมตกใจแทบตกเก้าอี้เมื่อเห็นข่าวประกาศมหาวิทยาลัยขนาดเล็กแห่งหนึ่งในต่างจังหวัดรับสมัครอาจารย์วุฒิปริญญาเอกด้วยเงินเดือน 25,000 บาท

ไม่รวมไปถึงค่าตอบแทนในด้านอื่นๆ ก็จะแตกต่างไปอย่างมาก เช่น มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่สามารถจ่ายค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์, ศาสตราจารย์) ได้มากกว่ามหาวิทยาลัยขนาดเล็กเป็นสัดส่วนกว่าเท่าตัว เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่จะจ่ายให้ ‘สองขา’ 11,200 บาทต่อเดือน ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กจะจ่ายเพียง ‘ขาเดียว’ ด้วยจำนวนเงิน 5,600 บาท

ยิ่งตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าตอบแทนทางวิชาการก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าค่าตอบแทนที่ห่างไกลกันราวฟ้ากับเหวเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งคุณภาพของบุคลากรที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บุคคลที่จบการศึกษาจากต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งเพียบพร้อมด้วยความรู้มีโอกาสที่จะได้งานในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่โดยไม่ยากลำบาก ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็ยิ่งเป็นไปง่ายดายมากขึ้น

ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กก็มักจะได้ผู้สำเร็จการศึกษาจาก Micky Mouse University หรือไม่ก็จบจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ จำนวนหนึ่งก็สำเร็จการศึกษามาจากหลักสูตรอันเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายว่า ‘จ่ายครบ จบแน่’

ไม่ใช่เพียงค่าตอบแทนที่แตกต่างกันเท่านั้น งบประมาณที่เหลื่อมล้ำทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีโอกาสทำงานการสอนและการวิจัยอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถพัฒนาและต่อยอดความรู้ความสามารถออกไปได้อย่างกว้างขวาง (จำเป็นต้องกล่าวไว้ว่ามีอาจารย์จำนวนมากที่ได้รับโอกาสดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ขวนขวายในการทำงานทางวิชาการอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด)

แต่สำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก นอกจากการถูกเรียกร้องให้สอนและทำวิจัย (ตอบสนองต่อท้องถิ่น) ยังต้องลงมือทำงานในงานอีกมากมายหลายประเภท เช่น การเขียนโครงการเมื่อต้องทำกิจกรรมทุกประเภท การเขียนรายงานประกันคุณภาพ การทำข้อมูลเพื่อรายงานมหาวิทยาลัย การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การออกไปหา ‘ลูกค้า’ ฯลฯ

ไม่นับรวมกิจกรรมอีกหลายประเภทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนรวม ถึงไม่อยากจะเข้าร่วมแต่ก็เป็นกิจกรรมที่ไม่อาจปฏิเสธ เพราะมีการเช็กชื่อจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น เช่น การฟังธรรมข้ามวันข้ามคืน การจัดกิจกรรมฟ้อน/เต้น/ให้สัตยาบันในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น

ที่กล่าวมาคงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองกลุ่ม บุคคลที่เป็นอาจารย์ในสถาบันแบบใดจะสามารถมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการได้อย่างเต็มที่มากกว่ากัน เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขนาดเล็กจึงมีผลงานวิชาการ งานวิจัย ที่น้อยกว่ามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก เงื่อนไขสำคัญอาจไม่ใช่เรื่องความโง่ความฉลาดส่วนตัวของแต่ละคน ระบบการทำงานที่เอื้อ/ไม่เอื้อต่อคนทำงานต่างหากที่จะกำกับให้เกิดผลในลักษณะเช่นนี้

ด้วยความแตกต่างอย่างสุดขั้วอันส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีที่นั่งจำนวนจำกัดจะกลายเป็นพื้นที่แย่งชิงสำหรับชนชั้นกลางที่ต้องให้ลูกหลานสามารถไต่เต้าสถานะทางสังคมได้ในภายภาคหน้า (สำหรับชนชั้นสูง พวกเขาส่งลูกหลานไปร่ำเรียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่พวกเขามักพร่ำด่าว่าเข้ามาครอบงำเยาวชนคนรุ่นใหม่นั่นแหละ)

การประกาศรับผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ การตั้งข้อสงสัยต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ล้วนเป็นการตอกย้ำถึงความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ครอบครัวต่างต้องลงทุนไปอย่างมากกับการพัฒนาทักษะและความรู้ที่เตรียมไว้สำหรับการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา พวกเขาและเธอต้องพร้อมเป็นอย่างมากสำหรับการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทุนทางเศรษฐกิจ ความรู้ทางภาษา เวลาสำหรับการทุ่มเท การสนับสนุนจากครอบครัว

ขณะที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยขนาดเล็กจะกลายเป็นผู้ที่ตกหล่นหรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ได้ ไม่ว่าจะด้วยระบบความรู้ที่กระท่อนกระแท่นมาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ระดับรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการจ่ายสำหรับค่าเทอมที่สูง ค่าใช้จ่ายในระหว่างการศึกษา รวมไปถึงสำนึกว่ามหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ไม่ใช่มีไว้สำหรับคนอย่างตนเอง

คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ต่างมีประสบการณ์กับนักศึกษาที่ต้องขาดเรียนหรือไม่ก็มาสัปหงกในชั้นเรียน ด้วยเหตุผลว่าต้องไปทำงานพิเศษนอกเวลาเรียนเพื่อหารายได้มาจุนเจือตนเอง หรือบางคนก็รวมไปถึงการจุนเจือครอบครัว ชั้นเรียนที่มีนักศึกษาไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการเรียนย่อมไม่เอื้อต่อบรรยากาศโดยที่จะสามารถกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของคนเรียนได้อย่างเต็มที่

การรับมือกับชีวิตเฉพาะหน้าก็ยากลำบากไม่น้อยแล้ว จะให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีการเรียนในระดับดีคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับเครือข่ายของชนชั้นนำ ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีคุณภาพด้อยกว่าก็ไม่ใช่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยชายขอบ หากแต่ยังกลายเป็นพื้นที่สำหรับตรึงคนชายขอบในสังคมในอยู่ในสถานะดั้งเดิมต่อไป

มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่พื้นที่ที่เท่าเทียมกันแต่อย่างใด คำกล่าวที่ว่า “เรียนที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน” คือคำโกหกคำโตที่ไม่ควรเชื่อถือแต่อย่างใดในสังคมแห่งนี้

https://www.the101.world/university-inequality/