วันพุธ, มิถุนายน 19, 2567

บันทึกเยี่ยม 5 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: “เราต้องต่อสู้ต่อ…ไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหน

18/06/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ระหว่างวันที่ 5-14 มิ.ย. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง และผู้ถูกคุมตัวจากคดีมาตรา 112 รวม 5 ราย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้แก่ “เก็ท” ที่เรียกร้องสิทธิการส่งจดหมายไปยังภายนอก หลังจดหมายถูกตีกลับอีกครั้ง, “นารา” ได้ระบายความเครียดจากการใช้ชีวิตข้างใน และหวังจะได้จดหมายเพื่อเป็นกำลังใจใช้ชีวิต, “น้ำ” วารุณี ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตอนนี้ได้รับยาที่ทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น

“แม็กกี้” ผู้ต้องขัง LGBTQIAN+ เรือนจำกลางคลองเปรม ที่เห็นภาพกิจกรรม Pride รณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้น อยากออกมาสัมผัสบรรยากาศด้านนอก ยังมีเรื่องราวของ “พรชัย” ผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่ยืนยันว่าชีวิตของเขาไม่สมควรถูกจองจำแบบนี้ตั้งแต่แรก และมีความหวังจะออกไปให้เร็วที่สุด

.
เก็ท: รู้สึกถูกละเมิดสิทธิ หลังจดหมายไว้อาลัย “บุ้ง” ถูกตีกลับ


วันที่ 6 มิ.ย. 2567 เก็ทย้อนเล่าถึงเนื้อหาในหนังสือที่เขาเขียนออกมา แต่ทางเรือนจำไม่อนุญาตให้ส่งออก โดยเป็นจดหมาย ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2567 มีเนื้อหารำลึกและไว้อาลัย “บุ้ง” เนติพร ระบุถึงการต่อสู้ของประชาชน และการนิ่งเฉยต่อปัญหาของผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ถูกห้ามส่งออก และถูกตีกลับมา โดยมีข้อความระบุว่า “จดหมายที่ผมเขียนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของเรือนจำ และส่งผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม”

เก็ทระบายว่า “การที่ผมเข้ามาในอยู่ในเรือนจำเป็นเพราะถูกกล่าวหาด้วยคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมือง การแสดงออกของผมนั้นทำไปโดยอยากให้สังคมดีขึ้น จดหมายที่ผมเขียนก็เขียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เนื้อหาไม่ได้ละเมิดสิทธิใคร ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความสงบสุข และศีลธรรมอันดี การกล่าวหาเช่นนี้เป็นการหมิ่นประมาทที่รุนแรง และคำสั่งห้ามส่งจดหมายออกมานั้น เป็นการละเมิดสิทธิในการสื่อสาร”

“ผมมีข้อสงสัยว่าระหว่างที่ผมถูกกล่าวหา กับ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานนี้ ใครกันแน่คือภัยความมั่นคง ทั้งนี้การแจ้งว่าจดหมายไม่สามารถส่งออกมาได้ แจ้งวันที่ 27 พ.ค. 2567 เป็นการแจ้งที่ล่าช้า เหตุใดจึงช้าขนาดนี้ จึงขอยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ส่งจดหมาย Domimail ให้ได้ส่งออกไปตามปกติ”

นอกจากนี้ เก็ทเล่าต่อว่าตอนนี้เขากับเพื่อน ๆ แดน 4 คุยกันเรื่องการเมืองทุกวัน พวกเขามีข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีรัฐบาลใหม่ แต่เหตุใดคดีการเมืองถึงเพิ่มขึ้น มีผู้คนถูกส่งเข้าเรือนจำแทบจะทุกวัน “ไหนบอกจะแก้ปัญหา ตอนหาเสียงบอกแก้ไข 112 ผลักดันนิรโทษกรรม แต่ประชาชนทวงถาม ก็ตอบไม่เหมือนที่หาเสียงไว้เลย ผมยังยืนหยัดว่าเราต้องต่อสู้ต่อไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหน ทุกวันที่เราอยู่ในนี้ คือการต่อสู้ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว”

เก็ทระบุอีกว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อประเทศที่ดีขึ้น เพื่อความเท่าเทียม “ตั้งแต่พี่บุ้งเสีย ก็ยังมีคนถูกส่งเข้าเรือนจำเรื่อย ๆ ทั้งธนพร หรือ ยงยุทธ ทั้งสองคนคดีถึงที่สุดจากศาลฎีกาแล้ว ผมมองว่ามันไม่ปกติ ทั้งๆ ที่เขาอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอได้เป็นรัฐบาลเค้าก็เมินเฉยต่อเสียงประชาชน” เก็ทกล่าวทิ้งท้ายว่า “ อยากอ่านบทความที่อาจารย์ธงชัยพูดเมื่อวันครบรอบ 10 ปี ศูนย์ทนายฯ หากส่งมาได้ ก็อยากให้ส่งเข้ามา ให้ผมกับเพื่อน ๆ ได้อ่านกันด้วย”

ปัจจุบัน (18 มิ.ย. 2567) เก็ทถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 300 วัน

.
นารา : “เราที่ยังไม่ถูกลืม” เมื่อ การอ่านจดหมายคือความสุข
 


วันที่ 6 มิ.ย. 2567 ทนายยังคงต้องเยี่ยมนาราผ่านวิดิโอคอล เวลาพูดคุย 15 นาทีเช่นเดิม สีหน้าและแววตานาราดูเฉย ๆ ไม่สดใสนัก เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ นาราตอบว่า “ตอนนี้ไม่อยากคิดอะไร ไม่อยากคิดล่วงหน้าพยายามไม่เครียด พยายามเข้มแข็ง การเข้ามาอยู่ในนี้ไม่รู้ต้องเสียอะไรไปบ้าง หนูรู้สึกเสียใจแต่มันผิดพลาดไปแล้ว แล้วมันก็รู้สึกว่าพอเสร็จคดีนึง ก็จะมีอีกคดีโผล่มา บางทีมันก็ท้อ เลยไม่อยากคิดอะไร ไม่อยากเครียด”

นาราถามถึงสถานการณ์นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ทนายแจ้งว่า ร่างกฎหมายกำลังเข้าสู่รัฐสภา ยังประเมินไม่ได้ เพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนตลอดเวลา หลังจากนั้นทนายให้ดูโพสต์ของศูนย์ทนายฯ ที่มีนาราให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหา LGBTQ+ ถูกปฏิบัติระหว่างอยู่ในเรือนจำ นารามีแววตาสดชื่นขึ้นมาบ้าง นั่งไล่อ่าน แล้วบอกดีใจที่ข้างนอกยังไม่ลืม

นอกจากนี้ ทนายยังเปิดรูปขบวนงานไพรด์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567 ให้ดู นาราเงียบไปสักพัก แล้วพูดว่า “ตอนนี้หนูลืมโลกข้างนอกไปแล้ว เมื่อวานออกไปศาล เห็นถนนเส้นลาดพร้าว แปลกใจมาก มันมีร้านค้า มีอะไรเยอะแยะไปหมด คิดแล้วก็เศร้า ไม่อยากคิด ไม่อยากเครียด”

วันที่ 13 มิ.ย. 2567 วันนี้นาราแต่งหน้าโทนสีส้ม ผมดูยาวขึ้นกว่าเดิม ก่อนถามถึงสถานการณ์ข้างนอกเรือนจำ โดยทนายระบุความคืบหน้าว่าเรื่องที่ใกล้ ๆ ตัว และเกี่ยวข้องกับนักโทษการเมือง น่าจะเป็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ซึ่งล่าสุดเสียงที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มีน้อยกว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า พ.ร.บ. นี้จะถูกปัดตกทันที ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้ารัฐสภาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทางรัฐสภาจะรวบรวมความคิดเห็น ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณาของรัฐสภาได้ นารารับฟังนิ่ง ๆ แล้วให้ความคิดว่า การกดไม่เห็นด้วยมันก็คงง่ายกว่า

นารายังเล่าให้เราฟังว่า ล่าสุดเธอได้ดูเอ็มวี เพลง ‘ไทเท่’ ของวงไททศมิตร ร่วมกับไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งเนื้อหาใน MV มีประเด็นทางการเมือง โดยเป็นธีมงานวัด มีฉากปั้นน้ำตาล เป็นรูปตราชั่งแทนกฎหมาย หรือฉากคนปากระป๋องที่ตั้งเรียงกัน มีทั้งสีแดง สีเขียว และสีเหลือง โดยกระป๋องสีแดง และสีเขียวถูกปาจนล้ม ต่างจากกระป๋องสีเหลืองที่ไม่ล้ม จนสุดท้ายถูกปาจนล้ม จึงเห็นว่าสีเหลืองมีกระดาษติดดันด้านหลังไว้ มันเหมือนบอกว่ามีคนหนุนหลังไว้อยู่ นอกจากนี้ยังมีฉากคนไปจับฉลากได้หมายเลข 112 แล้วหมายเลข 112 คือพิชซ่า หรือฉากยิงลูกดอกใส่ตัวการ์ตูน แล้วตัวการ์ตูนหน้าคล้ายประวิตร ซึ่งนาราพูดไปหัวเราะไปด้วย

ส่วนภาพรวมความเป็นอยู่ในเรือนจำ นาราระบุว่า ชีวิตประจำวันจำเจ สุขภาพกายปกติ น้ำหนักขึ้น 10 กิโลกรัม แต่เรื่องจิตใจมีความเครียด “อยากให้ช่วยสื่อสารให้หนูว่า ต้องการจดหมาย ต้องการกำลังใจมาก เพราะเหมือนติดคุกมานานแล้ว การได้อ่านจดหมายมันทำให้มีความสุข ทำให้รู้สึกว่ามีคนยังไม่ลืมเรา”

ปัจจุบัน (18 มิ.ย. 2567) นาราถูกคุมขังระหว่างพิจารณาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดี 112 คดีที่ 2 มาแล้ว 96 วัน

.
แม็กกี้ กับ งานไพรด์ที่คิดถึง : “ถ้าอยู่ข้างนอก หนูคงได้ไปร่วมงาน”
 


วันที่ 6 มิ.ย. 2567 ที่เรือนจำกลางคลองเปรม “แม็กกี้” อยู่ในชุดสีน้ำตาลอ่อน เขาเล่าว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เรือนจำแดน 6 ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัด โดยแม็กกี้ระบุว่า รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดเท่านั้น โดยภาพรวมไม่มีอาการอะไรผิดปกติ ส่วนสัปดาห์นี้ สภาพจิตใจปกติดี สุขภาพกายแข็งแรง ไม่ได้กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ

ทนายให้แม็กกี้ดูภาพข่าวงานไพรด์ แม็กกี้ดูตื่นเต้นมาก พร้อมกับชี้รูปผืนธงสีรุ้ง ที่ถูกปูไปตามถนน พร้อมบอกว่าปีที่แล้วได้ไปร่วมงานสนุกมาก อยากสัมผัสบรรยากาศแบบนั้นอีก “คนเยอะมากแม่ ขบวนสวยมาก หนูคิดถึงข้างนอก ถ้าอยู่ข้างนอกหนูคงได้ไปร่วมงาน”

ทนายยังให้แม็กกี้ดูโพสต์ของศูนย์ทนายฯ และอ่านเนื้อหาในโพสต์ให้ฟัง เมื่อแม็กกี้เห็นรูปตัวเองในชุดจีน ก็ร้องกรี๊ดกร๊าด ดูมีความสุขมาก แม็กกี้เล่าว่าเสื้อจีนนี้ ใส่ทำงานเพราะตอนนั้นเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน แม็กกี้ทำงานที่โรงแรม เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ในห้องอาหาร ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังทบทวนความทรงจำการทำงานในอดีตของตนเอง

“หนูเคยไปทำงานเสิร์ฟที่เรือของทหาร รูปแบบเป็นงานสังสรรค์ แล้วมีช่วงจังหวะเวลาที่เรือแล่นผ่านไอคอนสยาม ความรู้สึกบรรยากาศมันดีมาก ๆ จนหนูจำเป็นภาพติดตา ไม่ลืมเลย เรือวิ่งอยู่ราว 2 ชั่วโมง พูดแล้วก็อยากกลับไปอีกครั้ง”

แม็กกี้อธิบายว่า พนักงานพาร์ตไทม์จะทำงานอยู่ที่ 8 ชั่วโมง โรงแรมธรรมดา ค่าแรงจะอยู่ราว 400 ถึง 450 บาท ส่วนโรงแรมหรูจะเป็นเรท 500 ถึง 800 บาท บางโรงแรมย่านราชประสงค์ค่าแรงเฉลี่ยเริ่มต้นชั่วโมงละ 60 ถึง 80 บาท เมื่อมีงาน เขาก็ประกาศ และคัดคน โดยจะคัดทั้งหน้าตา และบุคลิกภาพ

“ถ้าเทียบกันหนูมองว่าพาร์ตไทม์ได้เงินเยอะกว่าพนักงานประจำเสียอีก งานส่วนใหญ่ที่หนูทำเป็นงานสายบริการ หนูก็ชอบงานพวกนี้อยู่แล้ว ฝากบอกคนที่ทำโพสต์ด้วยว่า ขอบคุณที่ทำโพสต์นี้ให้ หนูชอบรูปที่เอามาทำมาก และมันทำให้หนูรู้สึกดีใจมาก ๆ เหมือนมีจุดเชื่อมโยงหนูกับโลกภายนอกไว้”

วันที่ 14 มิ.ย. 2567 ทนายทักแม็กกี้ว่าผมยาวขึ้น แม็กกี้บอกว่า “ใช่” และทางแดน ให้แม็กกี้ตัดผมแล้ว แต่ยังไม่ตัด บอกว่าจะตัดช่วงสัปดาห์หน้า “หนูอยากชื่นชมผมของหนูก่อนอ่ะแม่ กว่าจะยาว”

แม็กกี้ ย้อนเล่าว่าวันจันทร์ที่ผ่านมา แดน 6 มีการเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิด “พอเห็นคนอื่นเยี่ยม หนูก็รู้สึกเหงา แต่ว่ามีเรื่องดีคือหนูได้ลงมาอยู่ห้องข้างล่าง เพราะว่าห้องนอนของหนูถูกทำเป็นห้องกักตัวสำหรับคนที่เยี่ยมญาติใกล้ชิดเสร็จ หนูเลยได้มีโอกาสดูวอลเลย์บอลนัดไทยแข่งกับตุรกี มันสนุกมากแม่ เยียวยาใจกระเทยสุด”

แม็กกี้เล่าว่าอีก 2 สัปดาห์ จะได้ออกไปแดนศึกษา ที่เป็นแดนทำกิจกรรมของทางเรือนจำ เพราะมีโครงการทูบีนัมเบอร์วัน หลัก ๆ กิจกรรมเป็นแคมเปญต่อต้านยาเสพติด มีกิจกรรมสันทนาการ “หนูก็เลยลงชื่อเต้น นี่หนูรู้สึกตื่นเต้น เพราะนาน ๆ ทีจะได้ปลดปล่อย”

ส่วนชีวิตข้างในเรือนจำยัง แม็กกี้บอกว่ายังคงเดิม ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเพิ่ม อาบน้ำเป็นเวลา กินข้าวเป็นเวลา จากนั้นก็นั่งเล่นรอเวลาขึ้นห้องนอน เรื่องอารมณ์ช่วงนี้บางทีหนูก็รู้สึกเหงามาก ๆ เพราะอารมณ์เหงามันเข้ามาเป็นช่วง ๆ

ปัจจุบัน (18 มิ.ย. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 241 วัน

.
น้ำ วารุณี: หมอให้ปรับยา ทำให้ทานอาหารได้มากขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น
 


วันที่ 13 มิถุนายน 2567 น้ำเล่าว่า สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ช่วงนี้น้ำหนักขึ้นมาเป็น 40.3 กิโลกรัม จากเดิมน้ำหนัก 38.6 กิโลกรัม คงเป็นเพราะยาที่หมอให้กิน ทำให้น้ำหนักยังเพิ่มขึ้นอยู่ และมีความรู้สึกอยากอาหาร น้ำเล่าว่ายากระตุ้นความอยากอาหารที่หมอให้นี้เป็นยาชนิดเดียวกันกับที่เอาไว้ให้ผู้ป่วยมะเร็งกิน เพราะผู้ป่วยมะเร็งจะเจ็บปวดในร่างกายมาก ทำให้ทานข้าวไม่ลงหรือทานไม่ได้ “ซึ่งพอเราได้กินยาชนิดนี้ก็มีความมั่นใจ ว่าจะไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เพราะแม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งก็ยังกินได้”

ส่วนเรื่องจิตใจก็เป็นปกติ กินยาปรับอาการไฮเปอร์ และยาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเหมือนเดิม ตอนนี้ลุ้นใบเด็ดขาด ว่าจะมาเมื่อไหร น้ำยังถามทนายว่า หลังจากบุ้งเสียสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ทนายระบุความคืบหน้าว่า เรื่องความเห็นของประชาชนต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ล่าสุดเสียงเห็นด้วยน้อยกว่าเสียงไม่เห็นด้วย แล้วต่างก็เงียบไปสักพัก ทนายพูดต่อว่ามี เพื่อน ๆ นักกิจกรรม จัดงานร่วมรำลึกครบรอบ 1 เดือนการเสียชีวิตของบุ้งอยู่

ปัจจุบัน (18 มิ.ย. 2567) น้ำถูกคุมขังมาแล้ว 357 วัน

.
พรชัย: การนำคนมาคุมขังไว้เพราะการแสดงออกก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร



วันที่ 14 มิ.ย. 2567 พรชัย แจ้งว่าตอนนี้เขาถูกย้ายตัวจากแดน 4 ไปอยู่ที่แดน 5 แล้ว เบื้องต้นคิดว่ายังไม่มีอะไรแตกต่างกันเท่าไร เขายืนยันว่า ตนเองไม่ควรต้องเข้ามาอยู่ในนี้แต่แรก แม้ต้องถูกจองจำแล้ว ก็ยังคงมีความหวังว่าจะได้ออกไปโดยเร็วที่สุด โดยพยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงเอาไว้

พรชัยยังอยากย้อนกล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของบุ้งระหว่างถูกคุมขังว่า เขายังคงรู้สึกใจหาย และย้อนว่าเคยมีโอกาสได้เจอบุ้งอยู่เหมือนกัน โดยเคยพูดคุยในประเด็นปัญหาของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

พรชัยเห็นว่า บุ้งเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็นที่สะท้อนอุดมการณ์ของตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงอยากให้คนในสังคม และกระบวนการยุติธรรมตระหนักถึงการเสียสละของบุ้ง และช่วยกันผลักดันการสร้างความยุติธรรมในสังคมอนาคตต่อไป

พรชัยได้ฝากข้อความถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ต้องโทษคดีมาตรา 112 ที่ควรถือว่าเป็นนักโทษการเมือง ว่าเหตุใดคดีลักษณะนี้ถึงต้องมาถูกคุมขังอยู่ที่นี่ เรือนจำไม่ใช่วิธีจัดการหรือการลงโทษอย่างคนที่มีสติปัญญาหรือมีความเป็นมนุษย์เขาทำกัน การนำคนมาคุมขังไว้เพราะการแสดงออกก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร อยากให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเราไม่ใช่อาชญากร เราไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมือง ไม่ได้มีอำนาจ เราก็แค่คน ๆ หนึ่งที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับของประชาชนจริง ๆ

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังมีปัญหาของการนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง อย่างคดีของตนที่มีคนไปกล่าวหาทั้งที่เชียงใหม่และยะลา อยากให้รัฐมนตรีคำนึงถึงประเด็นนี้ เปิดพื้นที่ให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น

จนถึงปัจจุบัน (18 มิ.ย. 2567) พรชัย ศาลลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา ทำให้เขาตัดสินใจไม่สู้คดีต่อ พรชัยถูกคุมขังมาแล้ว 76 วัน

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยม 5 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ต่อให้ขังเราอยู่ในคุก ไม่ได้ทำให้อุดมการณ์หายไป

https://tlhr2014.com/archives/67989