วันจันทร์, มิถุนายน 24, 2567
สำหรับคนที่ชอบอ่านมากกว่าฟังคลิป ลิงค์ข้างล่างจากเวป ศิลปวัฒนธรรม สรุปปาฐกถา อ.ธงชัย “สังคมไทยกับพลวัต 2475”
Puangthong Pawakapan
8 hours ago·
ประเด็นหนึ่งที่เราชอบมากในปาฐกถา “สังคมไทยกับพลวัต 2475” ของ อ.ธงชัย คือคำอธิบายของปวศ.แบบกษัตริย์นิยมที่ต้องเน้นย้ำถึง “ความต่อเนื่อง” ของบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
คือ ชาติไทยจะผ่านทุกข์ผ่านร้อนอย่างไร ก็รอดพ้นมาได้เพราะเรามีสถาบันกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นเสาหลักของชาติ ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ผู้ขจัดปัดเป่าความขัดแย้ง ผู้ทรงงานหนักเพื่อชาติ ผู้ทรงความยุติธรรมและความดีอันสูงสุด ฯลฯ เรามีชาติไทยทุกวันนี้ได้ก็เพราะมีความต่อเนื่องนี้ สถาบันกษัตริย์จึงเป็นความจำเป็นและผลดีอย่างมหาศาลต่อชาติไทย
เมื่อมีกรอบอธิบายเช่นนี้ 2475 จึงต้องถูกทำให้เป็นแค่จุดสะดุดทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งเท่านั้น เป็นแค่การรัฐประหารของคนกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่มีคุณูปการใดต่อชาติไทย แล้วก็ถูกปราบ ถูกขจัดออกไปในที่สุด ธรรมะย่อมชนะอธรรม
อ.ธงชัยชี้ว่าคำอธิบายข้างต้นยังเป็นฐานรองรับนิติศาสตร์แบบไทย หรือ “ราชนิติธรรม” เช่น ศ.บวรศักดิ์พยายามอธิบายว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก เพราะเป็นผู้ทรงคุณธรรม เป็นต้นธารของความยุติธรรม แม้ว่าการเมืองจะวิปริตอย่างไร กษัตริย์ก็ยังดำรงอยู่ในความยุติธรรม กษัตริย์ไทยจึงเป็นอำนาจสถาปนากฎหมายทั้งระบบ
แต่ถ้าเราอธิบายคุณูปการของ 2475 ไปอีกทางหนึ่งว่า มันคือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดจากความล้มเหลวในการปรับตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขุนนางและข้าราชการของระบอบคือตัวถ่วงรั้งการปรับตัวเปลี่ยนแปลง ประชาชนจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง – คำอธิบายเช่นนี้ย่อมทำให้ “ราชนิติธรรม” ก็ขาดฐานความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง -- ที่จริงงานชิ้นสำคัญที่อธิบาย 2475 ด้วยกรอบนี้ก็คืองาน “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475” ของ ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์นั่นแหละ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าท่านคิดว่าคำอธิบาย 2475 ของท่าน สามารถนำมาอธิบายบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ และองค์กรอิสระในปัจจุบันได้หรือไม่