วันจันทร์, เมษายน 22, 2567

Ilaw จิกอีก เผยพวก "กากี่นั้ง" ส่งไปเรียนเอง เซ็นให้จบเอง (แบบนี้ต้องโดนเรื่องจริยธรรมนักการเมือง ตัดสิทธิ์ตลอดชีวิตนะ มีคนออกความเห็น)


iLaw
8h ·

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำดุษฎีนิพนธ์ หัวข้อ “รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย” และถูกค้นพบว่า ดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าวมีการคัดลอกเนื้อหาจากงานวิชาการหลายฉบับ https://www.ilaw.or.th/articles/29527 โดยคัดลอกส่วนทบทวนวรรณกรรมจากหนังสือของสถาบันพระปกเกล้าเป็นความยาวกว่า 30 หน้า และต่อมาสมชาย ชี้แจงว่าได้แก้ไขโดยเพิ่มฟุตโน็ตไว้แล้ว https://www.matichon.co.th/politics/news_4533354
ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ได้รับการตรวจสอบและอนุมัติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานดุษฎีนิพน์นี้ได้แก่ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ ศาสตราจารย์ดร.อุดม รัฐอมฤต ประธานกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต คือ ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ และกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตอีกสามท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ, รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด และอ.ดร.เชาวนะ ไตรมาศ
โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม, ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, นภดล เทพพิทักษ์, บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, อุดม รัฐอมฤต รวมทั้งพรทิภา ไสวสุวรรณวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต พร้อมกันกับศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ที่สำเร็จการศึกษาพร้อมกันอีกคนหนึ่งด้วย https://www.constitutionalcourt.or.th/occ.../ewt_news.php...
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 วุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการออกกฎหมายและการทำงานของวุฒิสภา รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการส่วนวุฒิสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกันตามหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยปกติแล้วจึงไม่ปรากฏภาพที่บุคลากรของทั้งสององค์กรจะร่วมกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่
การที่บุคลากรระดับสูงของศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมแสดงความยินดีในการจบการศึกษาของวุฒิสภานั้น มีที่มาที่ไปเบื้องหลังที่พออธิบายได้ ดังนี้
1. หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาเอกที่สมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ เข้าเรียนและจบการศึกษานั้น ชื่อเต็มว่า หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตร “พิเศษ” ที่ผู้เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทด้านนิติศาสตร์มาก่อน ใช้เวลาเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ นอกเวลาราชการเป็นระยะเวลา 3-6 ปีการศึกษา และมีค่าใช้จ่ายในการศึกษา 990,000 บาท https://www.law.tu.ac.th/.../doctor-of-philosophy.../
2. ก่อนหน้าที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมชาย แสวงการ ได้สมัครเข้าศึกษาหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.)” รุ่นที่ 3 ของวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ โดย มีเพื่อนร่วมรุ่น 52 คน เช่น ศุภชัย สมเจริญ ที่ขณะนั้นเป็นประธานกกต. และต่อมาได้มาเป็นรองประธานวุฒิสภา, ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, รองประธานศาลฎีกา, รองประธานศาลปกครองสูงสุด, ผู้พิพาษาศาลฎีกา, อัยการสูงสุด, ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วยนายทหารและนักธุรกิจชั้นนำอีกมากมาย และยังมีเพื่อนร่วมรุ่นอีกคนหนึ่ง คือ ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต ที่ขณะนั้นเป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ https://www.constitutionalcourt.or.th/.../ewt_dl_link.php...
3. หลังจากผ่านการอบรมหลักสูตร นธป. รุ่นที่ 3 แล้ว วันที่ 13 มิถุนายน 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็มีประกาศรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยจากประกาศดังกล่าวระบุว่า คุณสมบัติของผู้สมัครนั้นต้องผ่านการอบรมหลักสูตร นปธ. มาก่อน ส่วนวิธีการคัดเลือกนั้นใช้วิธีการ “สัมภาษณ์” ไม่ได้ระบุว่าต้องมีการสอบวัดความรู้ความสามารถ และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ประกาศผลการคัดเลือกว่า สมชาย แสวงการ ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวลงนามโดยดร.เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ https://constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php...
4. ในการทำดุษฎีนิพนธ์ ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตของสมชาย แสวงการ ได้รับเกียรติจากศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งศ.ดร.อุดม นั้นก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นในหลักสูตร นปธ. รุ่น 3 รุ่นเดียวกันกับสมชาย แสวงการ และขณะที่สมชายเข้าศึกษาในฐานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อุดม ก็ยังเป็นอาจารย์อยู่ แต่ขณะเดียวกัน ศ.ดร.อุดม เป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ผู้ที่ออกแบบกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาแบบพิเศษ จากการคัดเลือกของคสช. ที่สมชาย แสวงการ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกระบวนการนี้ และในเดือนธันวาคม 2565 เดือนที่ศ.ดร.อุดม ลงนามรับรองดุษฎีนิพนธ์ของสมชาย นั้น ศ.ดร.อุดม ก็ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยการลงมติของวุฒิสภา ที่มีสมชาย แสวงการ กับศุภชัย สมเจริญ อดีตเพื่อนร่วมรุ่นนปธ. รุ่นที่ 3 เป็นสมาชิกทำหน้าที่ลงมติให้ความเห็นชอบ และในกระบวนการคัดเลือกยังมี ชวน หลีกภัย อดีตเพื่อนร่วมรุ่นนปธ. รุ่นที่ 3 เป็นกรรมการสรรหาด้วย https://www.ilaw.or.th/articles/5491
5. นอกจากนี้ ในการทำดุษฎีนิพนธ์ฉบับดังกล่าว สมชาย แสวงการ ยังได้ผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนเป็นกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต เริ่มจากศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาก็เป็นกรรมการสอบด้วย ด้านเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในประกาศให้สมชายได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาก็มาเป็นกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิตด้วย นอกจากนี้ประธานกรรมการสอบดุษฎีบัณฑิต คือ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ก็ยังเป็นผู้เข้ารับการอบรมนปธ. รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันกับเชาวะ ไตรมาศ ด้วย https://www.constitutionalcourt.or.th/.../ewt_dl_link.php...
6. สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คน ที่มาร่วมแสดงความยินดีกับสมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ นั้น ปัญญา อุดชาชน ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2558 ซึ่งสมชาย แสวงการเป็นสมาชิกอยู่จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, นภดล เทพพิทักษ์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งโดยวุฒิสภาเมื่อปี 2563 ซึ่งสมชาย แสวงการ และศุภชัย สมเจริญ เป็นสมาชิกอยู่
ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงพอจะอธิบายได้ว่า เหตุใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมาร่วมแสดงความยินดีแก่วุฒิสมาชิกเนื่องในโอกาสที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก