วันเสาร์, เมษายน 13, 2567

ชุชุ อย่าดังไป คำว่า “สรง” ใน สรงน้ำ สรงน้ำพระ เป็นคำยืมมาจาก “ภาษาเขมร” นะเธอ



“สรง” ใน สรงน้ำพระ คำจากภาษาเขมร

12 เมษายน พ.ศ.2567
ศิลปวัฒนธรรม

คำว่า “สรง” เป็นคำกริยา หมายถึง อาบน้ำ รดน้ำ ประพรม สำหรับใช้กับพระสงฆ์หรือเจ้านาย เช่น สรงพระบรมอัฐิ คำนี้ปรากฏหลักฐานว่ามีการใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

ดังปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเรื่อง อนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “แล้วเสด็จโสรจสรง” หรือ “ลูบองคพระพลเทพา เพียงทิพยสุรา มาโสจมาสรงทุกขทน”

อันที่จริง คำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรโบราณว่า ស្រង / สฺรง ส่วน ภาษาเขมร (ปัจจุบัน) เขียนว่า ស្រង់ / สฺรง่ ออกเสียงว่า ซฺร็อง เป็นคำกริยาที่แปลว่า สรง เหมือนที่ไทยใช้ โดยในสมณศัพท์จะใช้ว่า สฺรง่ทึก (อ่านว่า ซร็อง-ตึ๊ก) แปลว่า อาบน้ำ

ในภาษาไทยใช้ สรง เป็นคำราชาศัพท์และสมณศัพท์ แปลว่า อาบ ชำระล้าง เช่น สรงพระพักตร์ แปลว่า ล้างหน้า หรือ สรงน้ำ แปลว่า อาบน้ำ รดน้ำ เช่น “เวลาสงกรานต์ ประชาชนพากันไป ‘สรง’ น้ำพระพุทธสิหิงค์ นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เรา สรงน้ำพระ (ภิกษุ) ที่เคารพนับถือด้วย”

เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ ในสังคมไทยจึงใช้น้ำเป็นเครื่องหมายในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตหรือเสริมสร้างความสิริมงคลต่าง ๆ เช่น อาบน้ำเมื่อเกิด รดน้ำเมื่อให้พร ใช้น้ำรดในพิธีแต่งงาน รดน้ำในพิธีศพ

คำว่า “สรง” จึงถูกนำมาใช้ในเชิงยกย่องเชิดชูระหว่างประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำเหล่านี้นั่นเอง

(https://www.silpa-mag.com/culture/article_130723)