‘ไอลอว์’ ชี้ประเด็นความสำคัญของ สว.๖๗ (ฉายา ‘เลือกกันเอง’) ว่าจะทำหน้าที่ ‘เคาะ’ ผู้เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรมนูญหลายหน่วย ชุดต่อไปเมื่อชุดปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของคณะสืบอำนาจรัฐประหารหมดวาระลงกันเป็นจำนวนมาก
นี่ทำให้ สว.ชุดนี้เริ่มออกอาการ ‘หมาหวงก้าง’ อ้างว่ามี พรรคการเมืองใหญ่ “ต้องการยึด สว. ยึดท้องถิ่น โดยส่งคนลงสมัคร” น่าจะหมายถึงการรณรงค์ของทั้งไอลอว์และคณะก้าวหน้า ชักชวนประชาชนไปสมัครเป็น สว.๖๗ กันมากๆ
กรณีที่เสรีกล่าวหาว่าการกระทำเช่นนั้น “นึกถึงแต่ตนเอง พวกตัวเอง ไม่ใช่ประชาชน เนื่องจากต้องการอำนาจ จึงต้องยึด สว.ให้ได้” เป็นการมุสาและบิดเบือนขิอเท็จจริงอย่างด้านได้ ในเมื่อการรณรงค์นั้นเพื่อกระตุ้นประชาชนทั่วไป
ทั้งที่ กกต.เองก็ยอมรับแล้วว่า “ไม่ผิด” เสรีก็ยังพยายามกดดัน กกต.ให้ปิดกั้นการรณรงค์ดังกล่าว ซึ่ง กกต.บอกกับเขาว่า “ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง” ออกมา ประชาชนจึงต้องช่วยกันระวังระไวว่า กฤษฎีกาฯ จะมีการกีดกันประชาชนทั่วไปหรือไม่
เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ในระบียบการสมัครเข้าเป็น สว.๖๗ ผู้สมัครต้องจ่ายค่าสมัคร ๒,๕๐๐ บาท นั้นจัดว่าเป็นวิธีการที่ไม่เสมอภาคและเท่าเทียมอยู่แล้ว เสียงครหาว่า “มีที่ไหนในโลก การใช้สิทธิต้องมีค่าใช้จ่าย” ชี้ว่าหลักเสรีภาพบกพร่อง
แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยฮึดสู้ ปรากฏมีผู้ประกอบอาชีพรายได้น้อยบางสาขาประกาศจะไปสมัครกัน ยิ่งถ้าทราบว่า สว.ชุดต่อไปสามารถให้ความเห็นชอบในการอนุมัติ ผู้เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ในศาลรัฐธรรมนูญ ได้ ๗ ใน ๙ คน
สว.๖๗ จะเป็นผู้เลือก กกต.ชุดใหม่ ๕ ใน ๗ คน “เคาะ ป.ป.ช.คนใหม่ได้อย่างน้อย ๔ ตำแหน่ง” เลือกผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่หมดทั้งสามคน เคาะตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ๖ คนจากทั้งหมด ๗ คน และ “เห็นชอบ กสม.ใหม่ได้ ๖ จาก ๗ คน”
ทั้งนี้เพราะ สว.ชุดใหม่ ๒๐๐ คน จะมีอายุปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่กลางกรกฎา ๖๗ ไปจนถึงกลางกรกฎา ๗๒ ขณะที่ตุลาการ และกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของ คสช. ล้วนหมดอายุลงในช่วงนี้
(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/WUFnF7pRoXCd และ https://www.bangkokbiznews.com/politics/1120996)