ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี (คนที่สองจากขวา) เพิ่งผ่านการทำคีโมครั้งแรก กำลังถ่ายรูปพร้อมหน้ากับครอบครัว จากนั้นไม่นาน เธอต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิต เมื่อ 3 เม.ย. 2567
การตายจากมะเร็งปอดที่ “ไม่ยุติธรรม” ของคณบดี ม.เชียงใหม่ ผ่านการต่อสู้ของครอบครัว
การตายจากมะเร็งปอดที่ “ไม่ยุติธรรม” ของคณบดี ม.เชียงใหม่ ผ่านการต่อสู้ของครอบครัว
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
17 เมษายน 2024
คำเตือน: บทความนี้มีเนื้อหาที่อาจทำให้รู้สึกสะเทือนใจ
“อาจารย์ต้อมบอกว่า ถ้าเลือกได้ เขาขอตายก่อนนะ เพราะเขาจะอยู่ไม่ได้ถ้าผมตายก่อน แต่เขารู้ว่าถ้าเขาไปก่อน ผมน่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”
เมื่อสิ้นประโยค จิตรกร โอฬารรัตน์มณี ร้องไห้ออกมา บีบีซีไทยจึงหยุดการสัมภาษณ์ครู่หนึ่ง เหลือเพียงความเงียบปนเสียงสะอื้นจาง ๆ ภายในห้องขนาดเล็กที่รายล้อมด้วยภาพอันอบอุ่นของ ระวิวรรณ ภรรยาผู้ยิ้มง่ายและรักผ้าไทยเป็นชีวิตจิตใจ
ประโยคตอนต้นนั้น เป็นคำพูดทีเล่นทีจริงของภรรยาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ครอบครัวมีความสุข ทุกคนประสบความสำเร็จทางอาชีพและการศึกษา ด้วยสุขภาพดีไม่ค่อยป่วยไข้ แต่จิตรกรไม่คาดคิดเลยว่า บทสนทนาดังกล่าวจะกลายเป็นความทรงจำที่ “กรีดหัวใจ” เขา ซึ่งต้องกลายเป็นพ่อหม้ายลูกสอง เมื่อไม่นานมานี้
“คำว่าเหมือนมีดกรีดไปที่หัวใจ ใครไม่เคยเจอ จะไม่เข้าใจถึงคำนี้ มันบีบหัวใจ มันกรีดลงไป” เจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ ในเชียงใหม่ กล่าว “การสูญเสียนี้มันโหด[ร้าย]มาก”
ภรรยาของจิตรกร คือ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หรือที่ลูกศิษย์มักเรียก “อาจารย์ต้อม” เธอถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ด้วยอายุ 55 ปี จากมะเร็งปอดระยะ 4 ที่แพทย์วินิจฉัยว่า “เกิดจากยีนกลายพันธุ์ที่เป็นผลจาก PM 2.5”
พิธีศพ ศ.ดร.ระวิวรรณ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วัดสวนดอกพระอารามหลวง วันที่ 4 เม.ย. 2567
ศ.ดร.ระวิวรรณ คือบุคลากรสำคัญคนที่ 4 ของ มช. ที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควรจากมะเร็งปอด แต่สำหรับผู้คนในเชียงใหม่ เธอคือ “เหยื่อ” จาก PM 2.5 เพียงส่วนน้อยที่เป็นข่าวในจังหวัดที่ได้สมญานามว่า “เมืองอากาศแย่ที่สุดในโลก” จากดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ที่ติดอันดับโลกอยู่บ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี
“ขนาดข่าวมันออกมาขนาดนี้ ทำไมปัญหามันยังอยู่” จิรวรรณ โอฬารรัตน์มณี กล่าวในฐานะลูกสาวที่ต้องสูญเสียมารดา และเสาหลักของครอบครัว “คุณแม่และคนป่วยมะเร็งปอดหลายคน ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเลย ไม่ได้สูบบุหรี่”
และนี่คือเรื่องราวของสามีและลูก ๆ ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักให้กับฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ผ่านความทรงจำตลอด 1 ปี 4 เดือนแห่งความหวัง สิ้นหวัง และการจากลา ที่พวกเขาอยากถ่ายทอดเพื่อให้สังคมตระหนักว่า “มหันตภัย PM 2.5 มันอยู่ใกล้ตัว” กว่าที่คิด
จาก “จุดสูงสุด” สู่มะเร็งระยะ 4
แม้พื้นเพเป็นคนเชียงใหม่ แต่ชีวิตการงานช่วงต้นของจิตรกรอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำงานเป็นวิศวกรก่อสร้าง ที่ทำให้ได้พบกับ ระวิวรรณ สถาปนิกหญิงจากชลบุรี ซึ่งวันแรกที่พบกัน จิตรกร เล่าว่ามันเหมือน “บุพเพสันนิวาส”
คบหากันได้ราว 10 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่บ้านเกิดของจิตรกรใน จ.เชียงใหม่ เมื่อราว 20 กว่าปีก่อน เพื่อดูแลบุพการีที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ และอีกเหตุผลคือ เบื่อหน่ายความวุ่นวายในกรุงเทพฯ
จิตรกร โอฬารรัตน์มณี อยู่เคียงข้างภรรยาจวบจนวันสุดท้าย
ช่วงเวลานั้น ระวิวรรณ ที่เพิ่งศึกษาจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา ก็ได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และด้วยความเป็นคนรักงานวิจัย เธอจึงได้โอกาสศึกษาต่อปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร แล้วกลับมาไต่เต้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง จนเมื่ออายุเข้าเลขห้า เธอขึ้นเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ระวิวรรณ เป็นคนที่ไม่ลังเลกับวิธีคิด เขาจะมุ่งทำเลย เจอปัญหาก็แก้” จิตรกร กล่าวถึงภรรยาที่เขาภูมิใจ ก่อนเล่าต่อว่า ในฐานะแม่ของลูกสาวสองคน ภรรยาของเขาค่อนข้างจะ “สปอยล์” [ตามใจ] ลูก แต่หากลูกทำผิดก็พร้อมจะอบรมอย่างเคร่งครัด
เดือนปีผ่านไป อาชีพการงานของ ระวิวรรณ ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกัน เชียงใหม่ที่ “ครอบครัวโอฬารรัตน์มณี” รู้จัก ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเช่นกัน จากอากาศเย็นสดชื่นและสิ่งแวดล้อมที่คน กทม. เคยอิจฉา กลายเป็นจังหวัดที่มักปกคลุมด้วยฝุ่นควัน โดยเฉพาะช่วงต้นปี ถึงหลังสงกรานต์เดือน เม.ย.
“ฝุ่นควันเป็นเรื่องที่เราเห็นประจำ แต่ตอนนั้น ผมยังเฉย ๆ” อดีตวิศวกรที่ผันตัวมาทำร้านกาแฟ กล่าว “เราไม่เคยสนใจ PM 2.5 มองว่า เดี๋ยวร่างกายก็ปรับภูมิได้เอง ค่า AQI 500-700 เรายังผ่านมาได้เลย ไม่เห็นจะเป็นอะไร”
ศ.ดร.ระวิวรรณ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทั้งโยคะ วิ่ง และปั่นจักรยาน เธอไม่สูบบุหรี่ และตรวจสุขภาพทุกปี
ความคิดนั้นของ จิตรกร เปลี่ยนไป เมื่อครอบครัวได้รับข่าวร้ายเมื่อต้นปี 2566
มันเริ่มจากอาการไอที่ค่อย ๆ รุนแรงขึ้นของ ศ.ดร.ระวิวรรณ จนเมื่อเธอเริ่มไอเป็นเลือด จิตรกรจึงพาภรรยาไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าระบบทางเดินหายใจอาจเป็นแผล
“พอตรวจละเอียด ทั้งทำ CT-Scan และ MRI พบว่า เป็นมะเร็งที่ปอด แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นระยะ 4 เลย ตอนนั้น ทุกคนอึ้งกันไปหมด ทั้งลูก ทั้งตัวอาจารย์ต้อม แบบเฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ” เพราะ ศ.ดร.ระวิวรรณ ดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี เธอตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกปี ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารคลีน และชอบออกกำลังกาย โดยเฉพาะโยคะและวิ่ง
“ตอนนั้น พี่สาวโทรมาแจ้งข่าว หนูนั่งอยู่ในรถตรงนั้น” จิรวรรณ โอฬารรัตน์มณี ลูกสาวคนเล็ก วัย 20 ปี ชี้ไปบริเวณลานจอดรถข้างตึกคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ตอนรู้ครั้งแรก หนูร้องไห้อยู่ตรงนั้น มันตั้งตัวไม่ทัน ไม่มีใครตั้งตัวทัน”
นิสิตสาวคณะนิเทศศาสตร์ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักพากย์ ยอมรับว่า ข่าวการป่วยของมารดา สะเทือนจิตใจของครอบครัว และทำให้เธอกังวลถึงอนาคต เพราะแม่เป็นทั้งเสาหลัก และ “ศูนย์รวมใจของคนในครอบครัว เขาเป็นคนดึงทุกคนกลับมารวมกัน”
จิรวรรษ ลูกสาวคนเล็กของระวิวรรณ ปัจจุบัน เป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เธอฝันอยากเป็นนักพากย์
“คุณแม่เป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งมาก ๆ” จิรวรรณ เล่าต่อว่า การป่วยเป็นมะเร็งขั้นวิกฤตอย่างไม่คาดฝัน ในวันที่ชีวิตถึงจุดสูงสุดของความสำเร็จ ทำให้มารดา “ท้อ” และรู้สึกเสียคุณค่าในตัวเอง
“แม่คือคนที่ขึ้นไปจุดสูงที่สุดในอาชีพ เขาเป็นคณบดี ทุกอย่างมันกำลังจะรุ่งโรจน์ แล้วต้องมาเป็นมะเร็ง เขาก็มีความไขว้เขวอยู่”
ย้อนไปไม่กี่เดือนก่อนข่าวร้ายของครอบครัวโอฬารรัตน์มณี กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์แพทย์หนุ่ม ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว มช. ได้ประกาศการป่วยเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ในไทย เพราะเขาเล่าถึงชีวิตที่กำลังมีความสุข เตรียมแต่งงาน และอีกคุณลักษณะที่คล้ายกับ ศ.ดร.ระวิวรรณ คือ อาจารย์นายแพทย์วัย 28 ปี ไม่สูบบุหรี่และรักการออกกำลังกาย
อ.นพ.กฤตไท ที่เปิดเพจ “สู้ดิวะ” เพื่อสร้างพลังใจและสะท้อนให้สังคมไทยเห็นภัยของ PM 2.5 ได้เสียชีวิตเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2566 และหากนับ ศ.ดร.ระวิวรรณ ที่เสียชีวิตในอีก 5 เดือนต่อมา (เม.ย. 2567) ทำให้นับแต่ปี 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สูญเสียคณาจารย์จากมะเร็งปอด รวม 4 คน
อาจารย์แพทย์หนุ่มอนาคตไกล กับการต่อสู้ "มะเร็งปอดระยะสุดท้าย"
ความหวัง สิ้นหวัง และซ้อมการตาย
ภายหลังรู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็งปอด คณบดีหญิงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เอ่ยถามลอย ๆ อย่างไม่คาดหวังคำตอบว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร”
ทั้งนี้ พวกเขายังมีความหวัง เพราะแพทย์ระบุว่า ยังมีโอกาสรักษาด้วยการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด หรือคีโม แต่ทางครอบครัวก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง เพราะเบิกประกันสังคมไม่ได้
ผลจากการใช้ยามุ่งเป้า คือ “เซลล์มะเร็งเริ่มมีขนาดลดลง และการใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเลย เราไม่เคยบอกใครว่าเป็นมะเร็งนะ ถ้าเพื่อนไม่สนิทจริง ๆ” จิตรกร กล่าว ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ศ.ดร.ระวิวรรณ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป รวมถึงเดินทางไปร่วมงานวิชาการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
แต่จิตรกรขอใช้คำว่า “โชคไม่เข้าข้าง” เพราะหลังผ่านไป 6 เดือน เซลล์มะเร็งเกิดการดื้อยา และไม่เพียงกลับมามีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังลุกลามไปที่ตับและกระดูกด้วย จนถึงจุดที่แพทย์แนะนำว่าต้องทำคีโมเพื่อรักษา พร้อมการทานยาคล้ายมอร์ฟีนทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพื่อลดความเจ็บปวดทางกายที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น ส่วนทางใจนั้น พวกเขาใช้ธรรมะเพื่อปลอมประโลมซึ่งกันและกัน
จิตรกร ชมภาพความทรงจำของภรรยา ที่เหล่าลูกศิษย์ของ ศ.ดร.ระวิวรรณ จัดทำให้
ภายหลังเริ่มทำคีโมได้ 2 ครั้ง จิรวรรณ สังเกตเห็นร่างกายที่ทรุดลงของแม่ได้อย่างชัดเจน
“ความสดใสมันเริ่มหายไป ช่วงนั้นไม่ค่อยกล้ามองหน้าคุณแม่ เพราะมันรู้สึกหดหู่ มันรู้สึกว่า ความหวังมันริบหรี่ลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ตอนทำคีโมแรก ๆ แม่ยังเดินได้ ไปเที่ยวได้ ไปรับปริญญากับพี่สาวได้อยู่”
ภาพในวันรับปริญญาของ จิตบุญญา โอฬารรัตน์มณี ลูกสาวคนโต ที่ปัจจุบันเป็นวิศวกรอยู่ใน กทม. คือภาพสุดท้ายที่ครอบครัวยังอยู่พร้อมหน้า เพราะก่อนจะเข้ารับเคมีบำบัดรอบที่ 3 ช่วง มี.ค. 2567 แพทย์ได้วินิจฉัยว่า “อาการไม่ไหวแล้ว” และต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลมหาราช
“แทบจะเหมือนนอนติดเตียงแล้ว พอลุกเดินได้เล็กน้อย แต่ต้องประคอง” จิตรกร บรรยายอาการของภรรยาในเวลานั้น ตัวเขาเองก็ต้องปรับตารางชีวิตใหม่ เพื่อให้มีเวลามาเยี่ยม ระวิวรรณ ทุกวัน “เราสงสารเขา ถ้าเขาตื่นขึ้นมาไม่เห็นใคร เขาจะจิตตกแค่ไหน มันโหดมาก ๆ”
ในขณะเดียวกัน จิตรกร เริ่มตระเตรียมฉากการเสียชีวิตของภรรยาแล้ว
“เราเคยคุยกันว่า วันหนึ่งไม่ว่าผมหรือเขา ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรืออะไรก็ตาม อย่าใส่เครื่องช่วยหายใจ เจาะคอนั่นนี่ เพราะมันทรมาน... ถ้าต้องเป็นเจ้าชายนิทรา เจ้าหญิงนิทรา ไม่เอา ไม่ต้องยื้อ”
วันรับปริญญาของ จิตบุญญา โอฬารรัตน์มณี บุตรสาวคนโต (คนที่สองจากทางขวา)
แต่สำหรับลูกสาวอย่างจิรวรรณ วันที่เห็นคุณแม่หลับไม่ได้สติจากมะเร็งที่ลุกลามจน “กินสมอง” คือ วันที่หนักที่สุดในชีวิตเธอ เพราะปลงใจแล้วว่า ความหวังไม่เหลืออีกต่อไป
“หนูรู้สึกว่าแม่เสียไปตั้งแต่วันนั้น” น้ำตาของจิรวรรณ พรั่งพรูออกมา แต่เธอยังให้สัมภาษณ์ต่อแม้เสียงสั่นเครือ “มันไม่มีความหวังเลยหรือ หนูไม่กล้าตอบแชทใครที่มาให้กำลังใจเลย ไม่กล้าตอบคนที่บอกว่า ‘เดี๋ยวแม่ก็หาย’ เพราะหนูรู้ว่า มันเป็นไปไม่ได้”
แต่ภาพที่สะเทือนใจที่สุด คือ มารดาที่ถูกรัดข้อมือไว้กับเตียง ดิ้นรนทุรนทุราย จนเหมือนไม่ใช่คุณแม่ผู้ใจดีที่เธอรู้จักมาตลอดชีวิต
“คุณแม่คิดว่าตัวเองโดนขัง โดนจับไปทารุณ บอกให้โทรหาตำรวจ... แล้วจ้องตาเราเขม็งเลย บอกว่า ถ้าไม่ปล่อย เขาจะตายนะ” ลูกสาวคนเล็ก บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้น ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มไม่กล้าเข้าไปเยี่ยมแม่อีก “เรากลัวว่า เขาเห็นเราแล้ว เขาจะมีความหวังว่าจะได้ออกไป”
สงครามที่สิ้นสุด... กับคนที่ยังอยู่
“หนูรักอาจารย์นะ” และ “หนูมาหาอาจารย์แล้วนะคะ”
นี่เป็นคำที่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่กล่าวกับ ศ.ดร.ระวิวรรณ เมื่อครั้งมาเยี่ยมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของคณบดีสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตามคำบอกเล่าของ จิตรกร
ช่วงต้น เม.ย. 2567 หรือหลังยื้ออาการในห้องฉุกเฉิน (ICU) มานาน 2 สัปดาห์ ครอบครัวโอฬารรัตน์มณี ตัดสินใจให้ ระวิวรรณ เข้ารับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือระยะประคับประคอง (palliative care) ที่เน้นการให้คุณค่าของการมีชีวิตก่อน “จากโลกนี้ไป” โดยไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อยื้อชีวิต
อยู่สบายตายสงบ (ที่บ้าน) ประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้กำหนดฉากสุดท้ายของชีวิต
“ทุกเวลามันสำคัญแล้ว เราฟังเสียงหายใจของเขาตลอด” จิตรกร ระบุ และก็เป็นเวลาที่เขาตระเตรียม “ฉากการเสียชีวิต” ตามที่ได้สัญญากับภรรยาไว้ ไม่ว่าจะการเปิดคลิปธรรมะ เปิดเพลง Live and Learn ขับร้องโดย กมลา สุโกศล ที่ระวิวรรณชอบ และอยู่เคียงข้างกันให้มากที่สุด
จิตรกร เล่าว่า ภรรยาของเขาไม่เคยถือตัว รักลูกศิษย์ทุกคนเหมือนลูก จนได้ชื่อว่า "อาจารย์แม่"
จนเข้าสู่เช้าวันที่ 3 เม.ย. “เขานอน แล้วหายใจเริ่มแผ่วลง” ถึงจุดนี้ จิตรกร รู้ดีว่าเวลานั้นมาถึงแล้ว และก้มลงพูดกับ ระวิวรรณ ว่า “ต้อม [ระวิวรรณ] ไม่ต้องห่วงแล้วนะ ไม่มีห่วงใด ๆ ลูกก็ไม่ต้องห่วงนะ ลูกดูแลตัวเองได้ ที่คณะก็ไม่ต้องห่วง”
“จากนั้นพอเห็นใกล้ช่วงท้าย เราก็บอกว่าเมื่อกายนี้แตกสลาย ดับจิตสุดท้ายทันที มุ่งนิพพาน ไม่ขอกลับมาเกิด” ผู้เป็นสามีเล่าต่อทั้งน้ำตา จนเมื่อ ระวิวรรณ นิ่งลงไม่หายใจ จึงหันไปบอกลูกสาวคนโตว่า “คุณแม่ไปแล้ว”
“เขานอนเหมือนคนนอนหลับที่สบายที่สุด หน้าเขาอิ่มมาก ๆ... ความรู้สึกตอนนั้นมี 2 อย่าง คือ ปลื้มใจที่ส่งเขาถึงฝั่งตามที่เขาต้องการ แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ ความเจ็บปวด”
ครอบครัวโอฬารรัตน์มณี ทำตามความมุ่งหมายที่ ศ.ดร.ระวิวรรณ เคยกล่าวไว้ คือ อุทิศร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” แก่คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี จิตบุญญา ลูกสาวคนโตขอทำหน้าที่ครั้งสุดท้าย ประทินโฉมให้มารดา สวมชุดไทยที่แม่รัก และวิกปกปิดผมที่ร่วงหล่นจากการทำคีโม เพื่อให้แม่ดูดีที่สุด ก่อนจะอุทิศร่างให้ทางมหาวิทยาลัย
"ปลื้มใจที่ส่งเขาถึงฝั่งตามที่เขาต้องการ" จิตรกร
“เหมือนสงครามมันจบ รู้สึกว่าคุณแม่ไม่ต้องทรมาน ทุกอย่างมันจบแล้ว” จิรวรรณ ลูกสาวคนเล็ก ย้อนความรู้สึกตอนที่ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของมารดา
แต่ในขณะเดียวกัน “มันก็เป็นความน่าใจหายที่ แม่จะไม่อยู่อีกแล้ว เอาจริง ๆ ทุกวันนี้ เวลานึกภาพคุณแม่ หนูยังนึกภาพตอนที่เขายังปกติอยู่เลย... ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้กำลังใจพ่อ เพราะแม่เป็นครึ่งชีวิตของพ่อ มันมีวันที่เรารู้สึกว่าพ่อเขาตรอมใจ”
การตายที่ดูไร้ค่า ?
ช่วงต้นปีถึง เม.ย. เป็น "ฤดูฝุ่น" ของคนเชียงใหม่
เมื่อถามเธอว่า การเสียชีวิตของมารดา ทำให้มองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิด เหมือนเดิมอีกไหม
จิรวรรณ ตอบว่า “ทุกวันนี้คิดตลอดว่า อยากให้พ่อกับย่าย้ายมาอยู่ที่อื่น ไม่อยากให้อยู่เชียงใหม่แล้วด้วยซ้ำ... ขนาดแม่ยังเป็นเลย เราเลยกลัวว่าพ่อจะเป็นอะไรขึ้นมา”
เชียงใหม่ในความทรงจำที่เธอเติบโต คือ อากาศเย็น ๆ ยามเช้าที่เธอมักไปออกไปเล่นกับหมาแมว การออกกำลังกายกลางแจ้งกับครอบครัว และยอดดอยต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ชัดเจนจากตัวเมือง
แต่ทุกวันนี้ เชียงใหม่ที่เธอรู้จัก คือ ฝุ่นควันที่ทำให้ผู้คนนับไม่ถ้วนต้องเข้าโรงพยาบาล เชียงใหม่ที่น่าหดหู่จากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และเชียงใหม่ที่พรากชีวิตคุณแม่ที่เธอรักไปอย่าง “ไม่ยุติธรรม”
“เจ็บใจแทนคุณแม่” เธอร้องไห้อีกครั้ง “แล้วก็เจ็บใจกับตัวเองด้วย แม่รักษาสุขภาพมาดีตลอด ทำชีวิตของเขามาดีตลอด แต่มันมาพลาดเพราะปัจจัยภายนอกที่เขาไม่สามารถควบคุมมันได้... มันเป็นการตายที่ไม่ยุติธรรม”
ส่วนตัวแล้ว จิรวรรณ ไม่ได้โกรธแค้นผู้คนที่เผาตอซังข้าว-อ้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดฝุ่นควันและ PM 2.5 ในภาคเหนือ เพราะเธอเข้าใจดีว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการ หรือเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้เกษตรกร “เขาก็ไม่มีวันหยุดเผา”
กลับกัน เธอโกรธผู้คนที่มาแสดงความเห็นถึงปัญหาสุขภาพของคนเชียงใหม่ว่า ไม่ได้เป็นผลจากมลพิษทางอากาศ “หนูโกรธคนที่พยายามปกป้อง PM 2.5 มากกว่า คุณไม่ได้เดือดร้อน คุณก็พูดได้สิ”
เมื่อถามเธอว่า การเสียชีวิตของมารดา ทำให้มองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิด เหมือนเดิมอีกไหม
จิรวรรณ ตอบว่า “ทุกวันนี้คิดตลอดว่า อยากให้พ่อกับย่าย้ายมาอยู่ที่อื่น ไม่อยากให้อยู่เชียงใหม่แล้วด้วยซ้ำ... ขนาดแม่ยังเป็นเลย เราเลยกลัวว่าพ่อจะเป็นอะไรขึ้นมา”
เชียงใหม่ในความทรงจำที่เธอเติบโต คือ อากาศเย็น ๆ ยามเช้าที่เธอมักไปออกไปเล่นกับหมาแมว การออกกำลังกายกลางแจ้งกับครอบครัว และยอดดอยต่าง ๆ ที่มองเห็นได้ชัดเจนจากตัวเมือง
แต่ทุกวันนี้ เชียงใหม่ที่เธอรู้จัก คือ ฝุ่นควันที่ทำให้ผู้คนนับไม่ถ้วนต้องเข้าโรงพยาบาล เชียงใหม่ที่น่าหดหู่จากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และเชียงใหม่ที่พรากชีวิตคุณแม่ที่เธอรักไปอย่าง “ไม่ยุติธรรม”
“เจ็บใจแทนคุณแม่” เธอร้องไห้อีกครั้ง “แล้วก็เจ็บใจกับตัวเองด้วย แม่รักษาสุขภาพมาดีตลอด ทำชีวิตของเขามาดีตลอด แต่มันมาพลาดเพราะปัจจัยภายนอกที่เขาไม่สามารถควบคุมมันได้... มันเป็นการตายที่ไม่ยุติธรรม”
ส่วนตัวแล้ว จิรวรรณ ไม่ได้โกรธแค้นผู้คนที่เผาตอซังข้าว-อ้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดฝุ่นควันและ PM 2.5 ในภาคเหนือ เพราะเธอเข้าใจดีว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการ หรือเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้เกษตรกร “เขาก็ไม่มีวันหยุดเผา”
กลับกัน เธอโกรธผู้คนที่มาแสดงความเห็นถึงปัญหาสุขภาพของคนเชียงใหม่ว่า ไม่ได้เป็นผลจากมลพิษทางอากาศ “หนูโกรธคนที่พยายามปกป้อง PM 2.5 มากกว่า คุณไม่ได้เดือดร้อน คุณก็พูดได้สิ”
บทสนทนาสุดท้ายกับมารดาในห้วงเวลาที่ยังมีสติ คือ การได้บอกแม่ว่า ผลงานพากย์เสียงจะได้เผยแพร่แล้ว “เขาก็จับมือ แล้วทำปากบอกว่า ‘เก่งมาก เก่งมาก’”
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่า พ่อของเธอคงไม่ย้ายออกจากเชียงใหม่ตามที่เธอปรารถนา เพราะชีวิตและการงานของพ่ออยู่ที่เชียงใหม่ ที่สำคัญ เธอเชื่อว่าพ่อยังมีความหวังอยู่ว่า สักวันปัญหาฝุ่นควันจะหายไป
“เชียงใหม่ ยังเป็นเมืองที่ผมรัก” จิตรกร ยอมรับ แต่ก็เห็นตรงกับลูกสาวว่า เชียงใหม่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
สิ่งที่เขาอยากให้สังคมได้จดจำ จากเรื่องราวการเสียชีวิตของ ศ.ดร.ระวิวรรณ คือ ความเป็นนักสู้ของคณบดีหญิงแห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ที่แม้จะป่วยติดเตียง ก็ยังสอบนักศึกษาปริญญาเอกผ่าน Zoom เป็นวาระสุดท้าย
และอีกความหวังของเขา จากการที่อนุญาตให้บีบีซีไทยได้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ คือ อยากให้สังคมและรัฐบาลตระหนักว่า ภัยของ PM 2.5 มันใกล้ตัวเรามากแค่ไหน และอย่ารอช้าในการแก้ปัญหา
“ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวใครอีก เพราะมันทารุณ... การต้องมาตายเพราะฝุ่น PM 2.5 มันเหมือนการตายที่ไร้ค่า” จิตรกร ทิ้งท้าย
https://www.bbc.com/thai/articles/c1vwg10p201o