วันอาทิตย์, เมษายน 21, 2567

ข้อคิดสำหรับอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ

ภาพจาก บีบีซีไทย

Athikhom Khoms Khunawut
11h
·
เพื่อนวัยนักเรียน ทักมากลางดึกว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ เขาพูดแบบคนมีมารยาทว่า - ต้องให้มึงแนะนำแล้ว
ผมตอบแบบไม่มีมารยาทว่า 555 กูจะไปแนะนำอะไรได้
นี่ไม่ใช่การถ่อมตัว ตั้งแต่งานขายหนังสือย้ายกลับมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ผมไปเดินสำรวจทุกครั้ง (ยกเว้นครั้งนี้) จากการสำรวจ ผมได้คำตอบเดิมเสมอว่า มีหนังสือขายได้ขายดีที่เราไม่รู้จักเยอะมาก
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อวานคุยกับเพื่อนรุ่นพี่เจ้าของบูทใหญ่เพื่อประเมินสถานการณ์ ได้รับคำตอบคล้ายๆ เดิมคือ หนังสือที่เด็กรุ่นใหม่ชอบอ่านและขายดี ไม่ใช่หนังสือแบบที่พวกเราชอบอ่านและชอบทำ กระทั่งหนังสือแนวประวัติศาสตร์การเมืองที่เคยขายดีเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา ก็อยู่ในช่วงขายหนืดชะลอตัว
ภาพรวมของงานหนังสือจึงเป็นอย่างที่หลายคนพูดคือ มีโซนขายดีกับโซนที่เงียบเหงา ราวกับอยู่กันคนละงาน
มันหมดยุครับประกันยอดขายขั้นต่ำ 10 เท่าของค่าเช่าบูทไปนานแล้ว ทุกวันนี้ค่าเช่าบูทเล็กสุดประมาณ 3 หมื่นบาท ระยะเวลาขายราว 10 วัน หลายเจ้ายังขาดทุน
.
ผมไม่เคยมีปัญหากับรสนิยมการอ่านของใคร แต่มีข้อสงสัยอยู่เสมอว่า เหตุใดการขายหนังสือจึงหวังพึ่งแต่กำลังซื้อเด็กรุ่นใหม่
คล้ายๆ กับที่เคยตั้งคำถามกับคอนเทนท์หรือสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ชอบโฆษณาว่า ...สำหรับคนรุ่นใหม่ (และให้สังเกตได้เลยว่า อะไรที่โฆษณาแบบนี้ มักมีโอกาสเด๋อสูงมาก เพราะคนทำเป็นคนแก่แต่แอ๊บเด็ก)
จริงอยู่ว่างานขายหนังสือ พัฒนามาจากสัปดาห์หนังสือจัดที่คุรุสภาข้างกระทรวงศึกษา เป้าหมายคือให้เด็กอ่านหนังสือ ใส่อินพุทให้พวกเขาในวัยเรียนรู้และเติบโต
แต่ไหนบอกว่าทุกวันนี้ สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ไหนใครต่อใครชูคำขวัญว่า life long learning ไง
หากเราเป็นสังคมผู้สูงวัย ประชากรเด็กลดลงเรื่อยๆ สิ่งที่เราควรโฟกัสและให้น้ำหนักเพิ่มคือ ตลาดและกำลังซื้อของกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงวัยมิใช่หรือ
ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่า เอะอะก็อย่าเพิ่งโทษรสนิยม เอะอะก็อย่าคิดแต่จะพึ่งพากำลังซื้อจากเด็ก พวกเขาอยู่ในวัยทดลองเรียนรู้ความชอบความสนใจ วันนี้ชอบการ์ตูน พรุ่งนี้อ่านไลท์โนเวล มะรืนอ่านนิยายสืบสวนสอบสวน เดือนหน้าทิ้งนิยายวายหันไปอ่านนิยายยูริ มันก็เป็นช่วงเวลาเรียนรู้ของพวกเขา ถ้าเขาไม่ถามไม่เอ่ยขอคำแนะนำ คนแก่ก็อย่าเข้าไปเผือก
ที่ควรถามตนเองอย่างซื่อสัตย์คือ ทุกวันนี้คนเจนX และบูมเมอร์ อ่านหนังสือน้อยลงใช่หรือไม่ ทุกวันนี้อ่านหนังสือเดือนละกี่เล่ม และที่อ่านน่ะเป็นหนังสือประเภทไหน ได้อัพเดทความรู้และข้อมูลใหม่ๆ บ้างหรือเปล่า
ปรากฏการณ์ชี้วัดการไม่อัพเดทไม่อ่านหนังสือของคนวัย 40 ปลายๆ ขึ้นไปก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องถกเถียงกับคนรุ่นใหม่ๆ พวกเขาจำนวนมากมักเปิดเผยคะแนนความรู้วิชาพื้นฐานว่าเข้าข่ายสอบตกครั้งแล้วครั้งเล่า หลายคนยังใช้โวหาร สุภาษิต คำคล้องจอง เป็นเครื่องมือถกเถียงอยู่เลย
ในทางธุรกิจ กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้น่าจะมีมหาศาล คำถามมีแค่ว่า พวกเขาพร้อมจ่ายเพื่ออาหารทางปัญญาและสุนทรียะหรือไม่ พวกเขามองเห็นความจำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับโลกปัจจุบันที่ต้องหายใจต่ออีก 20-30 ปีหรือไม่ พวกเขาอยากจะรับฟังพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเป็นมิตรหรือไม่
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงธุรกิจหนังสือ แต่มันเป็นประเด็นทางสังคม