วันอังคาร, เมษายน 02, 2567

มีกินมีใช้ไปด้วยกันค่าา... ไม่เหมือนที่คุยไว้ ขึ้นค่าแรง 400 บาทเพื่อนำร่อง หรือทำแบบเสียไม่ได้



ไม่เหมือนที่คุยกันไว้… ขึ้นค่าแรง 400 บาท เฉพาะโรงแรมหรู เพื่อแก้ปัญหาปากท้องจริงจัง หรือเป็นการเร่งสปีดสร้างผลงานของรัฐบาล

1 เม.ย. 67
Thairath Plus

Summary
  • รัฐบาลมีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยปรับนำร่องในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด
  • แต่เงื่อนไขขึ้นค่าแรง 400 บาท ทำไมถึงเลือกเป็นธุรกิจโรงแรมหรู และวัดระดับโรงแรมจากอะไร เนื่องจากบางโรงแรมก็ไม่ได้เข้า ไทยแลนด์ โฮเทล สแตนดาร์ด แล้วแรงงานส่วนอื่นมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร
  • ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยจำนวนแรงงานยังไม่กลับเข้ามาในระบบอย่างเต็มที่ หลังถูกกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จึงต้องมีแรงจูงใจเป็นพิเศษ
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับขึ้นอีกครั้งเป็นวันละ 400 บาท ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 แม้การขึ้นค่าแรงจะเป็นไปตามกระบวนการปกติของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่การขึ้นค่าแรงครั้งนี้จัดว่ามีความหมายสำหรับพรรคเพื่อไทย เพราะตลอดระยะเวลาร่วม 7 เดือนของการเข้ามาบริหารประเทศ การขึ้นค่าแรงเป็นผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่จับต้องได้และตรงปกที่สุด (นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยคือค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ในปี 2570)

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลได้หลุดเป้าหมายไปจากกรอบเวลาเดิม และยังไม่รู้ว่าโครงการจะได้ไปต่อหรือไม่ และจะได้ทำเมื่อไร เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้นำเงินงบประมาณแผ่นดินมาแจกประชาชนคนละ 10,000 บาทตามที่หาเสียงไว้ แต่รัฐบาลเลือกวิธีทำ พ.ร.บ.กู้เงิน 600,000 ล้านบาทมาแจก จึงเกิดข้อติดขัดและแรงต้านจากหลายฝ่าย กระทั่งล่าสุด จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า 10 เมษายน จะมีคำตอบที่แน่ชัดถึงแหล่งเงินและกรอบเวลาในการแจก

ที่มาของการขึ้นค่าแรง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป (ระดับของโรงแรมมี 5 ระดับ 4 ดาวและ 5 ดาว คือระดับหรูหรา) และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยปรับนำร่องในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่

1. กรุงเทพฯ เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา

2. กระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง

3. ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา

4. เชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

5. ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน

6. พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก

7. ภูเก็ต เท่ากันทั้งจังหวัด

8. ระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ

9. สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่

10. สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

ขึ้นค่าแรงกิจการโรงแรมเพราะธุรกิจขยายตัวสูง

ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และ 10 จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง คณะกรรมการค่าจ้างจึงได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการพิจารณาครั้งต่อไป นอกจากท่องเที่ยวแล้วจะมีกลุ่มธุรกิจภาคการส่งออกและโลจิสติกส์ที่จะปรับขึ้น

“ในส่วนของภูเก็ต ตอนแรกจะปรับแค่เขตป่าตอง แต่คณะกรรมการเห็นว่าควรปรับเท่ากันทั้งจังหวัด ซึ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวในโรงแรมก็มีการจ่ายเกิน 400 บาทอยู่แล้ว นายจ้างก็พร้อมจ่าย และการปรับค่าจ้างมาถึงอัตรานี้ได้ทำให้รู้สึกโล่งใจ” ไพโรจน์ กล่าว

รัฐมนตรีแรงงานอ้างขึ้นค่าจ้าง 400 บาท กระทบ SMEs

หลังจากรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามาทำงาน ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 1 ครั้ง ในอัตรา 2-16 บาทตามแต่ละพื้นที่ โดยขึ้นเป็นวันละ 330-370 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตขึ้น 16 บาท และมีค่าแรงสูงสุด 370 บาท ส่วนจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ขึ้น 2 บาทและมีค่าแรงต่ำที่สุด 330 บาท การปรับขึ้นเป็น 400 บาท จึงเป็นครั้งที่ 2

ก่อนหน้านี้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบายสาเหตุที่ต้องปรับขึ้นค่าจ้างเฉพาะบางสาขาอาชีพ และบางพื้นที่ว่า ต้องคำนึงถึงวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีการจ้างงานอยู่ประมาณร้อยละ 80 เพราะหากปรับค่าจ้างเป็น 400 บาททุกพื้นที่ จะทำให้ SMEs ร้อยละ 30 ได้รับผลกระทบ หรือแรงงานประมาณ 6 ล้านคนจะต้องตกงาน

“ปี 2570 จะเห็นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทแน่นอน แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกสายอาชีพ แต่ได้เฉพาะบางอาชีพ บางพื้นที่สามารถทำได้เท่านั้น”

เศรษฐาไม่พยายามผลักดันค่าแรง 400 บาทเท่าที่ควร

ความเห็นของรัฐมนตรีแรงงานจากพรรคภูมิใจไทย พรรคที่ไม่เน้นหาเสียงด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพรรคเพื่อไทยพรรคแกนนำรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทในปีแรกของการทำงาน และขึ้นเป็นวันละ 600 บาทในปีสุดท้ายของรัฐบาล (ปี 2570) โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็คาดหมายว่า ค่าแรงจะขึ้นเป็น 400 บาทในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น

ประเด็นนี้ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐาควรหารือกันเพื่อหาทางออก เพราะถ้าพรรคแกนนำรัฐบาลมีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการดันค่าแรงให้แตะ 400 บาทให้ได้ ก็เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยคงไม่ขัดขวาง ส่วนหากขึ้นค่าจ้างเป็น 400 บาทแล้วอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ รัฐบาลก็สามารถออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจได้ อาทิ มาตรการทางภาษี หรือมีข้อยกเว้นให้ SMEs ยังไม่ต้องขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทก็ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีข่าวว่าเศรษฐา ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะกระทำการอะไรนอกจากแสดงความเห็นผ่านสื่อเท่านั้น เหมือนจำยอมว่าค่าแรงวันละ 600 บาทในปี 2570 จะไม่ใกล้ความจริง

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้ลูกจ้างโรงแรมก็เหมือนไม่ขึ้น

มาที่ผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ เป็นการปรับที่ถี่เกินไป เพราะเพิ่งปรับเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ตนคิดว่า 1 ปี ไม่ควรปรับเกิน 1 ครั้ง

ส่วนเงื่อนไขขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่กำหนดให้ว่าจะต้องเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ทำไมถึงเลือกเป็นธุรกิจโรงแรม รวมถึงต้องกำหนดระดับโรงแรมด้วย และวัดระดับโรงแรมจากอะไร เนื่องจากบางโรงแรมก็ไม่ได้เข้า ไทยแลนด์ โฮเทล สแตนดาร์ด เพื่อวัดมาตรฐานระดับโรงแรมไทย ทำให้ไม่ชัดเจนว่าการเลือกระดับดาวของโรงแรมจะวัดจากอะไร

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยความเห็นว่า หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาที่ 400 บาทต่อวัน แม้จะมีผลไม่มากต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรม แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการจะปรับสูงขึ้นแน่นอน

ปัจจุบัน สถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่ที่กำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเบื้องต้นในระดับ 4 ดาวขึ้นไป มีประมาณ 770 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของโรงแรมทั่วประเทศ มีปริมาณนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวสูง เช่น ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และเกาะสมุย

ข้อมูลยังระบุอีกว่า ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยจำนวนแรงงานยังไม่กลับเข้ามาในระบบอย่างเต็มที่ หลังถูกกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจ้างแรงงานสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และอาจมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว โดนเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/วันขึ้นไป

ฉะนั้น การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะมีประโยชน์อะไรต่อลูกจ้างเดิมบ้าง นอกจากให้รัฐบาลนำไปประชาสัมพันธ์ว่าเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนแล้ว แต่ถ้านับกันจริงๆ ก็จะมีลูกจ้างเพียงจำนวนน้อยมาก จากลูกจ้างรายวันทั้งสิ้น 20 ล้านคนทั่วประเทศที่จะได้รับประโยชน์

ขึ้นค่าแรง 400 บาทเพื่อนำร่อง หรือทำแบบเสียไม่ได้

การขึ้นค่าแรงรอบนี้ แม้จะขึ้นเพียงราย 10 จังหวัดแต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้ว 50 ครั้ง แบ่งเป็นการขึ้นเป็นรายจังหวัด 21 ครั้ง และการขึ้นทุกจังหวัด 29 ครั้ง (ข้อมูลจาก Rockrt Media Lab) แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ซอยย่อยลงไปถึงระดับอำเภอ ตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ กรุงเทพฯ ก็ขึ้นค่าแรงแค่ 2 เขต และตีวงแค่ธุรกิจโรงแรม จึงน่าสงสัยว่าทำไมต้องลงรายละเอียดลึกไปถึงขนาดนั้น

หากเทียบเคียงกับการขยายเวลาเปิดบริการของสถานบริการไปจนถึงตี 4 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ได้แก่ สถานบริการในท้องที่กรุงเทพฯ จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็จะพบว่าในท้องที่ดังกล่าวมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทด้วยเช่นกัน แต่ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ ยกเว้นจังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย ที่ขึ้นเต็มพื้นที่

การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ยังเป็นการขึ้นเฉพาะในกิจการโรงแรม และเป็นโรงแรมหรูหราระดับ 4 ดาวขึ้นไป จึงมีคำถามว่า ลูกจ้างหลากหลายสาขาอาชีพที่ทำงานอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ย่อมต้องมีค่าครองชีพไม่แตกต่างกันใช่หรือไม่ แล้วเพราะอะไรคณะกรรมการค่าจ้างจึงเจาะจงขึ้นค่าจ้างเฉพาะธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ลูกจ้างในภาคธุรกิจอื่นไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินหรือ ตัวอย่างเช่น การแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลยังแจก 10,000 บาทถ้วนหน้าทุกคนในทุกจังหวัดทุกพื้นที่เลย

อีกทั้งลูกจ้างที่ทำงานให้โรงแรมระดับ 1 ดาว ถึงระดับ 5 ดาว ย่อมมีเวลาทำงานเท่ากัน และมีความเหน็ดเหนื่อยไม่แตกต่างกันนัก แต่ทำไมลูกจ้างที่ทำงานในโรงแรมระดับ 1-3 ดาวถึงไม่ได้ขึ้นค่าแรง แล้วเพราะเหตุใดต้องขึ้นค่าแรงเฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป ซึ่งถือเป็นโรงแรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เพราะถ้าวัดจากผลประกอบการก็ไม่ได้หมายความว่าโรงแรมขนาดกลางและใหญ่จะมีผลประกอบการดีกว่าโรงแรมขนาดเล็ก คำถามนี้ยังต้องการคำอธิบายจากรัฐบาลอยู่

อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ ในเมื่อต้นปีนี้เพิ่งมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16 บาทไปแล้ว ทำไมอีก 3 เดือนต่อมาถึงต้องมาปรับขึ้นค่าแรงอีก เหมือนเป็นการทำงานยอกย้อนและไม่ถี่ถ้วน และถ้าไม่ปรับขึ้นค่าแรงถ้วนหน้าทุกจังหวัดเป็น 400 บาท หลักการค่าแรงขั้นต่ำจะมีความหมายได้อย่างไร

มีสิ่งที่น่าคิดอีกคือ ขนาดการขึ้นไม่ราบรื่นขนาดนี้ แล้วการขึ้นเงินเดือนคนจบปริญญาตรี เป็นเดือนละ 25,000 บาทในปี 2570 จะสำเร็จหรือไม่ สุดท้ายจากเรื่องที่ควรสร้างผลงานให้รัฐบาล อาจเป็นการทำให้ประชาชนผิดหวังอีกครั้ง

ควรกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างไร

ตามหลักการแล้ว การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานไม่ต่ำจนเกินไป จนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง คณะกรรมการค่าจ้างจะมีสูตรคำนวณอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็เพิ่งเปลี่ยนสูตรคำนวณที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ไปเมื่อสองเดือนที่แล้ว การขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมาโดยตลอดจึงเหมือนถูกทำให้เป็นเรื่องเชิงเทคนิค โดยไม่มีคุณภาพชีวิตของลูกจ้างอยู่ในนั้น

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่ใช้สูตรคำนวณว่าควรขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งกี่บาทดี และการจะขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งต้องมาจากมติของคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 5 คนทุกครั้ง เป็นเรื่องที่เหมาะสมแค่ไหน หรือควรยึดถือนิยามอื่นในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นค่าจ้างที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและพักผ่อนของแรงงาน และครอบครัว อาทิ วันละ 400-450 บาท

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างควรกำหนดให้ขึ้นโดยอัตโนมัติเป็นประจำทุกปี เช่น ร้อยละ 5-7 หรือตามอัตราอื่นที่เหมาะสม แต่ต้องคำนึงว่าข้าราชการและพนักงานบริษัทก็ได้รับเงินเดือนขึ้นในทุกปี แล้วทำไมลูกจ้างรายวันที่ต้องกินต้องใช้เช่นกันถึงจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทุกปีไม่ได้

ถ้ามองนอกกรอบจะพบว่าแนวทางใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกจ้างไม่น้อยกว่าการขึ้นค่าจ้างแนวทางเดิม และจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างในการจัดเตรียมงบประมาณในปีถัดไปด้วย แต่แนวทางเช่นนี้ก็มีข้อจำกัดด้วย เพราะรัฐบาลจะสูญเสียอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และพรรคการเมืองจะไม่สามารถหาเสียงว่าจะขึ้นค่าจ้างเป็นวันละกี่บาทได้ เพราะค่าจ้างจะขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

สุดท้ายอยู่ที่ฝ่ายบริหารอย่างพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล และพรรคภูมิใจไทยที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน จะมองเห็นว่าแรงงานเป็นแค่ต้นทุนของการทำธุรกิจ หรือมองเห็นแรงงานเป็นคนเท่ากัน

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104331
.....