วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2567

หนังสือน่าอ่าน “ครองแผ่นดินโดยธรรม 🙂) อ่านประวัติศาสตร์ผ่านพระบรมราโชวาทและเครือข่ายในหลวง” (อาสา คำภา, 2567) - ชวนอ่าน ริวิว


Thanakorn Karisuk
Yesterday·

วิจารณ์ (รีวิว) หนังสือ “ครองแผ่นดินโดยธรรม ) อ่านประวัติศาสตร์ผ่านพระบรมราโชวาทและเครือข่ายในหลวง” (อาสา คำภา, 2567)

หลังจากได้เจอหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์อาสา คำภา (ต่อไปขออนุญาตใช้ “อาสา” ตามที่ใช้ในงานวิชาการ) เมื่อวานนี้และอ่านจบทั้งเล่มภายในวันนี้ ผมก็เห็นว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจพอควรและน่าจะเขียนรีวิวไว้สำหรับคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่านเล่มจริง (เพราะหนังสือค่อนข้างใหม่และเชื่อว่ายังไม่ค่อยตีตลาดมากนัก) โดยที่ผมจะสรุปใจความสำคัญของหนังสือพร้อมกับแทรกความเห็นไว้ท้ายบทด้วย (ปีที่ใช้จะใช้ พ.ศ. ตามที่หนังสือใช้)

…ภาพรวมของหนังสือ…

อาสาอธิบายไว้ในคำนำของผู้เขียนว่า “ครองแผ่นดินโดยธรรม” เป็นเชิงอรรถภาคขยายของ “กว่าจะครองอำนาจนำ” ที่พิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน จริง ๆ ผมก็อยากแนะนำว่า ในกรณีที่ยังไม่เคยอ่านเล่มใดเลย สามารถอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งในสองเล่มนี้ก่อนก็ได้เพราะเชื่อมโยงกัน โดยที่งานทั้งสองมองสถาบันกษัตริย์ในแง่ที่มีพลวัตและตัวแสดงหลากหลายในเชิง “เครือข่าย” (Network, Network Monarchy) และอธิบายความเปลี่ยนแปลงของ “เครือข่าย” นั้นอย่างเป็น “ประวัติศาสตร์” และ “เป็นกลาง” (ตามคำนำเสนอของสายชล สัตยานุรักษ์)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความ 5 เรื่อง ที่อาสาเขียนเผยแพร่ในวารสารและโอกาสหลายวาระ โดยชื่อแต่ละบทคือ

— บทที่ 1 ก่อนจะครองอำนาจนำ : การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

— บทที่ 2 ปฐมบทของ “เครือข่ายในหลวง” : การก่อรูปและพัฒนาการ

— บทที่ 3 ทัศนะชนชั้นนำไทยต่อ “จีนแดง” : ก่อน 6 ตุลาคม 2519

— บทที่ 4 ราชสำนักกับ “พระป่าธรรมยุตอีสาน” : การประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์

— บทที่ 5 ครองแผ่นดินโดยธรรม : มองสังคมการเมือง “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ผ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท

อย่างไรก็ตามผมเห็นว่า ผู้อ่านสามารถอ่านบทใดบทหนึ่งแยกตามความสนใจได้ เนื่องจากแต่ละบทไม่ได้เชื่อมโยงด้านเนื้อหาอย่างมีนัยสำคัญ แต่เชื่อมโยงผ่านบริบท (ที่วิพากษ์สถาบันกษัตริย์และเครือข่าย)

…บทวิจารณ์หนังสือ…

บทที่ 1 ก่อนจะครองอำนาจนำ : การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทนี้เป็นการปูพื้นฐานปัญหาทางการเมืองไทยระยะแรกเริ่มหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือ อาสาต้องการนำเสนอแง่มุมใหม่ของการตีความการสละราชสมบัติของร.7 ผ่านความขัดแย้งระหว่าง ร.7 และรัฐบาลคณะราษฎร ตั้งแต่ความไม่พอใจของร.7 ต่อประกาศคณะราษฎรที่ด่าราชวงศ์อย่างรุนแรง, การประนีประนอมและขับเคี่ยวทางอำนาจระหว่างระบอบเดิมกับระบอบใหม่ ผ่านนายกรัฐมนตรีคนกลางอย่างพระยามโนปกรณ์ฯ, ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ประกาศใช้ในปี 2475, กบฏบวรเดช, ไปจนถึงการต่อรองหรือต่อสู้เพื่อกู้คืนหรือจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ระหว่างร.7 กับคณะราษฎร ซึ่งท้ายที่สุด ความขัดแย้งทุกอย่างจบลงด้วยการสละราชสมบัติของร.7 และอาสาชี้ให้เห็นว่า การสละราชสมบัติไม่ใช่การยอมสละอำนาจของกษัตริยแก่ราษฎร แต่เป็นความพ่ายแพ้ในการต่อรองทางอำนาจที่ยาวนานนี้

: สำหรับผมแล้ว บทนี้อ่านค่อนข้างสนุกเพราะมีการแทรกข้อความจากเอกสารชั้นต้นไว้เยอะ สามารถทำให้เห็นบริบทได้อย่างเด่นชัดและกว้างขวาง

บทที่ 2 ปฐมบทของ “เครือข่ายในหลวง” : การก่อรูปและพัฒนาการ
บทนี้อธิบายการก่อตัวของเครือข่ายในหลวงที่ตัวแสดงหลาย ๆ คนโดยรอบองค์กษัตริย์ได้มารวมกลุ่มกันเพื่อการต่อรองทางอำนาจ ใจความสำคัญอยู่ที่การก่อตัวของเครือข่ายนี้ตั้งแต่การขึ้นมาของยุวกษัตริย์หลังการสละราชสมบัติของร.7 – หลังทศวรรษ 2500 ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ผ่านการสร้างเครือข่ายตั้งแต่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการการเมืองสายกษัตริย์นิยม กองทัพ นักธุรกิจ นักศึกษา ประชาชน หรือที่เรียกได้ว่าทุกภาคส่วนในสังคม โดยที่ทั้งหมดต่างเข้ามาสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทางการเมืองและสังคม นับตั้งแต่พิธีการในราชสำนัก การแต่งงานในหมู่ราชวงศ์ งานสังสรรค์ของชนชั้นนำ การสาธารณประโยชน์เพื่อคนยากไร้ กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย กิจกรรมทางศาสนา และการถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล

: บทนี้น่าสนใจที่ให้ภาพการสร้างและขยายเครือข่ายในหลวงในลักษณะกว้าง ๆ และทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าในหนังสือ “กว่าจะครองอำนาจนำ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับมาจากวิทยานิพนธ์ สามารถอ่านเพื่อเป็นการปูพื้นฐานได้เป็นอย่างดี

บทที่ 3 ทัศนะชนชั้นนำไทยต่อ “จีนแดง” : ก่อน 6 ตุลาคม 2519
บทนี้นำเสนอความเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนะของชนชั้นนำไทย (โดยเฉพาะรัฐและกองทัพ) ต่อจีนแดงหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยอธิบายภาพความกลัวคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่อดีต - ต้นทศวรรษ 2490 ของชนชั้นนำไทย, ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปของชนชั้นนำไทยต่อจีนคอมมิวนิสต์, การพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์เพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์สายโซเวียต, การเปิดทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในระยะต่าง ๆ - ปี 2518, ความอิหลักอิเหลื่อของตัวแสดงที่เคยประณามจีนคอมมิวนิสต์แต่ต้องหันกลับมาจับมือกัน, ปัญหาความสัมพันธ์ที่ชะงักไปในช่วงปี 2519 และการแสดงท่าทีบางอย่างของราชสำนักไทยต่อรัฐบาลจีน

: ถ้าบทความของผมเกี่ยวกับทิเบตได้ตีพิมพ์แล้วเอามาอ่านประกอบกัน ผมเชื่อว่าเข้ากันได้และสามารถอธิบายกันและกันได้ดีพอสมควร

บทที่ 4 ราชสำนักกับ “พระป่าธรรมยุตอีสาน” : การประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์
บทนี้อธิบายภาพความสัมพันธ์ระหว่างพระป่าอีสานกับราชสำนักที่เหมือนจะห่างไกลแต่ก็ใกล้ชิด อาสาปูพื้นฐานความสัมพันธ์นี้ตั้งแต่ลักษณะของวัตรปฏิบัติในพระสงฆ์อีสานก่อนการเข้ามาของธรรมยุต, การที่พระอีสานเข้าเป็นศิษย์ของร.4 ขณะทรงผนวช, เรื่อยมาจนถึงการสร้างเครือข่ายวัดธรรมยุตในอีสาน, ลักษณะพระสงฆ์ธรรมยุตสายหลวงปู่มั่น, ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมยุตหรือพระป่าในอีสานกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่อมาจะแปรเปลี่ยนไปสัมพันธ์กับคนเมืองมากขึ้น, และกล่าวถึงความสัมพันธ์ของราชสำนักและพระป่าอีสานในช่วงสงครามเย็น – ไม่กี่สิบปีมานี้

: บทนี้น่าอ่านเพราะมีเรื่องอีสาน (ฮา) หรืออย่างน้อยก็สามารถอธิบายสรรพสาระของพระป่าอีสานได้โดยที่เข้าใจง่ายกว่าอ่านจากหนังสือที่พระเหล่านั้นเขียนเอง

บทที่ 5 ครองแผ่นดินโดยธรรม : มองสังคมการเมือง “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ผ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท
บทสุดท้ายนี้เป็นการวิเคราะห์พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของร.9 ที่กล่าวในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา (งานชุมนุมของข้าราชการที่สวนจิตรลดาในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี) ในแง่ “ธรรมวิทยาแห่งพลเมือง” หรือคำสอนที่พลเมืองต้องปฏิบัติตาม ผมอ่านบทนี้และเข้าใจว่าอาสาพยายามเสนอภาพพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในฐานะเครื่องชี้นำสังคม โดยบทนี้อธิบายสารจากกษัตริย์เชิงหน้าที่นิยมที่เน้นให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีซึ่งจะส่งผลดีต่อชาติด้วย รวมทั้งวิพากษ์สารดังกล่าวในฐานะสารที่ต้องการวิพากษ์สังคมโดยผู้พูด (ร.9) และความคาดหวังของพระองค์ต่อสังคมไทย

: บทนี้ผมอ่านแล้วยังไม่สามารถจับใจความได้ดีเท่าที่ควร เพราะเต็มไปด้วยการโควทคำพูดและมีการวิเคราะห์เชิงแนวคิดซึ่งผมไม่ถนัด แต่มีข้อดีในแง่ที่สามารถทำให้เห็นภาพพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือ “คำสอน” เฉย ๆ

โดยรวมแล้วผมมองว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย เพราะอย่างที่เข้าใจกัน การกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในเชิงวิพากษ์ (เชิงวิชาการ) เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในวงวิชาการไทย (หรือสังคมไทย) และคนไทยก็ไม่ค่อยรู้แง่มุมที่หลากหลายของสถาบันที่ตนเองบอกว่า “เคารพสักการะ” เท่าไหร่นัก
ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านซื้อมาอ่าน เพราะโพสต์นี้ของผมคงไม่สามารถทำให้ท่านเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้เท่ากับการอ่านของท่านเอง และเอาเข้าจริงผมก็ไม่แน่ใจนักว่าที่ผมวิจารณ์ไว้นี้ ผมเองได้สรุปข้อเสนอไว้อย่างถูกต้องจริง ๆ หรือเปล่า