วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 03, 2567

คาดปม "กางเกงช้าง" ทำบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น "ลาออกยกชุด"


2 ก.พ. 67
Thai PBS

ไม่มีการยืนยันแน่ชัดถึงการลาออกของ น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี หรือ "อุ้ง" และทีมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ว่ามาจากเหตุผลใด แต่ท่าทีในโลกออนไลน์สังเกตได้ว่าท่าทีของอุ้งต่อประเด็นกิจกรรมสวมกางเกงช้างสร้างเวิลด์เรคคอร์ด อาจเป็น 1 ในที่มาของการลาออกยกชุด

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 น.ส.กมลนาถ องค์วรรณดี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เรื่อง ขอยุติการดำเนินงานในตำแหน่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหรรมด้านแฟชั่น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2567

แม้ในหนังสือการลาออก จะระบุถึงการจากลาด้วยดีก็ตาม แต่หากติดตามการโพสต์เฟสบุ๊กของ น.ส.กมลนาถ เคยโพสต์ข้อความถึง "กางเกงช้าง" ที่ระบุว่า



คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับไอเดียกินเนส (Guinness) นี้ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมาก ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเอง เห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไร ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมาก เพื่อวางกรอบคิด การพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนต์จุดพลุแล้วไงต่อ สร้างแวลู่ (Value) อะไรขึ้นมา ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วย เงินภาษีประชาชน รวมทั้งมีการตอบคอมเม้นท์ว่า "ไร้สาระ"



ส่วนการจัดกิจกรรม THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE ที่เป็นประเด็นนั้น น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้แจงถึงการจัด 5 กิจกรรมว่า เพื่อต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยมีการสอดแทรกเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสร้างความท้าทายผ่านการแข่งขัน เพื่อบันทึกสถิติโลก มีกติกาชัดเจนโดยกินเนส เวิลด์เรคคอร์ต ซึ่ง 2 ใน 5 กิจกรรมเพื่อทำลายสถิติ เช่น การชกมวยต่อยลูกโป่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ใส่หน้ากากผีตาโขน กินป๊อบคอร์นกินปาท่องโก๋ แข่งใส่กางเกงช้าง

ส่วนการกินป๊อปคอร์ เป็นการเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ไทย และโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก และหน้ากากผีตาโขน ต้องการประชาสัมพันธ์เทศกาลของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
กางเกงช้างจีนตีตลาดไทย

กางเกงช้างเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลพยายามผลักดันและโปรโมทผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักแต่กางเกงช้างที่นักท่องเที่ยวใส่ในเวลานี้ อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นกางเกงช้างของไทย ทีมข่าวไทยพีบีเอสไปสำรวจการจำหน่ายกางเกงช้างย่านค้าส่ง-ค้าปลีก พบว่า มีกางเกงช้างจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาด ขายในราคาถูกกว่าไทยถึงครึ่งหนึ่ง และได้รับความนิยมจากพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายต่อ

พ่อค้าแม่ค้าให้ความสนใจเลือกซื้อกางเกงช้างย่านโบ๊เบ๊อย่างคึกคัก สะท้อนกระแสกางเกงช้างที่ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจ กางช้างเหล่านี้ราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป เช่น ขาสั้นขายเพียงตัวละ 55 บาทส่วนขายาวตัวละ 70 บาทแต่ต้องซื้อ 3 ตัวขึ้นไป เมื่อสอบถาม ที่มาของกางเกงช้างเหล่านี้ แม่ค้าบอกว่ามาจากจีน โดยมีตัวแทนมาเสนอขายที่โบ๊เบ๊ มีร้านขายเกงกางช้างอยู่หลายร้าน บางร้านขายของไทย บางร้านขายของจีน

แม่ค้ายังบอกอีกว่า กางเกงช้างได้รับความนิยมมาก ทำให้มีกางเกงช้างราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาดราคาถูกกว่าและถูกส่งขายไปยังที่ต่างๆ ทำให้ผู้ค้าที่ขายของไทยต้องปรับตัว ปรับแบบขายและต้องแข่งเรื่องของคุณภาพ



ย่านประตูน้ำเป็นอีกแหล่ง ที่มีการจำหน่ายกางเกงช้างจากจีน มีป้ายติดกางกาง ระบุชัดเจนว่า มาจากจีน กางเกงขาสั้นขายตัวละ 65 บาท ส่วนขายาวขายตัวละ 75 บาท ราคานี้ต้องซื้อ 2 ตัวขึ้นไป พ่อค้าบอกว่า ยอดขายร้อยละ 70 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 30 ส่วนกำไรตัวละไม่ถึง 10 บาท เน้นขายเร็ว ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้สนใจที่มา แต่สนใจราคาเป็นหลัก

จากการสังเกต การจำหน่ายการเกงและเสื้อผ้าลายช้าง พบว่า ถ้าเป็นกางเกงช้างของไทย กางเกงขาสั้นจะอยู่ที่ตัวละ 90-100 บาท ส่วนขายาวอยู่ที่ 150-160 บาท หากเทียบราคาพบว่า กางเกงช้างจากจีนถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเข้าไปดูการขายกางเกงช้างผ่านแอปพลิเคชันขายสินค้าออนไลน์ กลับพบว่าราคายิ่งถูกกว่า อยู่ที่ตัวละ 30-35 บาทเท่านั้น

นางกิ่งกาญจน์ สมร ผู้บริหารโรงงานผลิตกางเกงช้างของไทยที่ จ.เชียงใหม่ ระบุว่า แม้ผู้ประกอบการจีนจะทำกางเกงช้างที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาแข่งขัน แต่งานไม่ได้คุณภาพ ลายช้างไม่ต่อเนื่อง คุณภาพการตัดเย็บต่ำ ขณะที่สินค้าจากโรงงานมีกว่า 10 รูปแบบ มีลายให้เลือกมากกว่า 200-300 ลาย สินค้ามีคุณภาพและได้รับการยอมรับจึงไม่กังวลว่าสินค้าจีนที่คุณภาพต่ำกว่าจะมาแย่งลูกค้า

อ่าน : ลาออกยกทีม คณะอนุกรรมการฯ ซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่น

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุแนวทางป้องกันกางเกงช้างจีนทะลักไทย จะต้องใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-Dumping) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non- tariff barriers) ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ต้องให้ความรู้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว เข้าใจในอัตลักษณ์ของกางเกงช้างไทย เช่น ลายผ้า อาจจะมี ป้าย หรือสติกเกอร์ ระบุแหล่งผลิต ผู้ผลิต ส่วนระยะยาว ต้องส่งเสริมการพัฒนาให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อนำไปโปรโมตในต่างประเทศ เช่น การออกแบบลายต้องมีการจดลิขสิทธิ์ การส่งเสริมการออกแบบดีไซน์ที่เป็นสากลมากขึ้น หรือ การนำไปผูกกับแบรนด์สินค้าขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้กางเกงช้างไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

(https://www.thaipbs.or.th/news/content/336628)