วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 08, 2567

เหตุใด ป.ป.ช. เข้ามาเกี่ยวข้องกับ "ดิจิทัลวอลเล็ต"


ผมกังวลว่า ผมจะเป็นลูกหนี้ร่วมก็เท่านั้นเอง" นายนิวัติไชย กล่าวตอบสื่อมวลชนเมื่อถูกถามถึงความกังวลต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ที่มา บีบีซีไทย

ส่วนหนึ่งของบทความ
ป.ป.ช. ย้ำเฝ้าระวังการทุจริตในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังยื่นข้อเสนอแนะ 8 ข้อต่อรัฐบาล
(https://www.bbc.com/thai/articles/c03qe5584l1o)

เหตุใด ป.ป.ช. เข้ามาเกี่ยวข้องกับ "ดิจิทัลวอลเล็ต"

นายนิวัติไชย อธิบายว่า ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในมาตรา 32 ซึ่งระบุไว้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือการวางแผนงานโครงการในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อปกป้องและปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ด้านยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณค่อนข้างสูง และอาจจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่อาจจะสร้างภาระการเงินการคลังในระยะยาวได้

ดังนั้น จึงทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลในการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อศึกษาถึงรายละเอียด ผลกระทบ ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงจากเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของทางรัฐบาลกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการ หน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย


จากการศึกษาพบว่ามีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา 4 ประเด็นหลัก

1. ความเสี่ยงต่อการทุจริต เช่น ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงจากการทุจริตต่อกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการ

2. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ

3. ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย การดำเนินการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลควรตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายในบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561, พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฏหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง

ป.ป.ช. ยังคงเฝ้าระวังโครงการต่อไป แม้จะไม่มีอำนาจยับยั้ง



เลขาธิการ ป.ป.ช. ย้ำว่าเป็นเพียงข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ และต้องการให้ประชาชนรับทราบเท่านั้น

"ทุกอย่างทำต้องมีเหตุผล มีข้อเท็จจริงประกอบกัน ตอบสังคมได้ ผมคิดว่าประชาชนมีเหตุมีผลเพียงพอที่จะใช้วิจารณญาณคิดว่าอะไรควรไม่ควร" นายนิวัติไชย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะมีต่อประชาชนในอนาคต เนื่องจากหากพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชน

"ประชาชนอาจจะได้ 10,000 บาท แต่อีกหน่อยอาจถูกจัดเก็บภาษี จัดเก็บค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งอาจจะมากกว่า 10,000 บาทก็ได้ ประชาชนบางคนอาจจะบอกว่า ไม่เอา บางคนอาจจะเอา ก็แล้วแต่ความต้องการ แต่ก็แล้วแต่การดำเนินการของรัฐบาลต่อไป... ผมกังวลว่า ผมจะเป็นลูกหนี้ร่วมก็เท่านั้นเอง" นายนิวัติไชย กล่าวตอบสื่อมวลชนเมื่อถูกสอบถามถึงความกังวลต่อนโยบายดังกล่าว