วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 15, 2567

เหตุการณ์ขบวนเสด็จ : มองให้เห็นถึงมูลเหตุที่มา สร้างพื้นที่ปลอดภัย แก้ปัญหาด้วยสติ - พรรคก้าวไกล


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
5h·

[ เหตุการณ์ขบวนเสด็จ : มองให้เห็นถึงมูลเหตุที่มา สร้างพื้นที่ปลอดภัย แก้ปัญหาด้วยสติ ]
.
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2567) มีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง “ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนำมาสู่บทสนทนาในสังคมที่เต็มไปด้วยการโต้แย้งรุนแรงระหว่างสองฝ่าย ไปจนถึงขั้นการปะทะรุนแรงที่สยามพารากอนในเวลาต่อมา
.
การเสนอญัตติในวันนี้จึงเป็นเรื่องดีที่สภาฯ จะได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยความเห็นต่าง และหาทางออกร่วมกัน
.
แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าสำคัญที่สุดในเวลานี้ ก็คือการตั้งสติ มองให้เห็นมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สืบเสาะถึงที่มาที่ไปของปัญหานี้ สร้างพื้นที่ตรงกลางและพื้นที่ปลอดภัยให้ปัญหานี้คลี่คลายลงไปได้ด้วยการพูดคุยกัน มิใช่การนำอารมณ์มาเป็นที่ตั้ง และออกใบอนุญาตให้ทำร้าย ทำลาย หรือกระทั่งเข่นฆ่ากัน
.
ดังคำอภิปรายของ สส. พรรคก้าวไกลทั้ง 6 คน ที่ได้ลุกขึ้นอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล มองไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ชวนพินิจถึงต้นตอของปัญหาและอารมณ์ในใจของเราเอง
.
#ก้าวไกล #ประชุมสภา #ขบวนเสด็จ


[ ไม่เห็นด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องทำลายล้างกัน ]
.
Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มต้นอภิปรายว่า การดูแลความปลอดภัยและการอารักขาบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพระราชอาคันตุกะ ประมุขแห่งรัฐอื่น หรือแขกของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของรัฐ และกระบวนการในการถวายอารักขาในครั้งนี้ก็เป็นกระบวนการตามปกติ ดังนั้น การรบกวนมาตรการการอารักขาที่เป็นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
.
แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่เสมอ ก็คือการทำให้กระบวนการอารักขามีประสิทธิภาพสูงสุดและส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นขบวนเสด็จ จะปิดปากประชาชนไม่ให้พูดไม่ได้ จะบังคับประชาชนไม่ให้รู้สึกอะไรเลยไม่ได้
.
ดังนั้น ผู้ที่จะป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ดีที่สุด ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา และทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือการทบทวน พ.ร.บ. การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 โดยเพิ่มเติมให้การปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัยมีการคำนึงถึงประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่มากเกินควร และมีการเตรียมแผนในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในกรณีที่จำเป็น จึงจะทำให้การถวายความปลอดภัยและการถวายอารักขามีประสิทธิภาพ สอดรับกับยุคสมัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
.
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่น โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องสถาบันฯ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด หากรัฐปล่อยให้กลุ่มคนที่นิยมความรุนแรงเหล่านี้ลอยนวล มีอำนาจบาตรใหญ่ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ไปทำร้ายคนที่คิดต่างอย่างไรก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
.
“การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่ว่าเอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่งแบบจัดเต็ม แต่อีกฝ่ายลอยนวลอยู่เหนือกฎหมาย ความไร้ขื่อแปและการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะให้ประชาชนรู้สึกอย่างไร”
.
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็คือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่แค่ในสภาฯ แต่หมายรวมถึงเวทีสาธารณะทั่วไป เพื่อให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาสุจริต อย่างมีวุฒิภาวะ เป็นเรื่องปกติ ไม่มีการมาจับผิด ไม่มีใครมาแฝงตัว หรือใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งรังแกกัน
.
หากไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ยิ่งใช้ความรุนแรง สร้างความเกลียดชัง ผลักให้คนเห็นต่างเป็นศัตรู ป้ายสีให้พวกเขาเป็นภัยความมั่นคง การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยไม่สบายใจ ก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกใบนี้ล้วนแก้ไขด้วยการพูดคุย และพยายามที่จะเข้าใจกัน และในที่สุดก็จะทำให้เกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างสันติ
.
ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในหลายวงสนทนาเวลาที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าจะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตาม ก็ต้องมีบางคนในวงสนทนานั้นเกิดความกลัว สะท้อนว่าปัจจุบันการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งห่างเหินจากประชาชน บั่นทอนแรงยึดเหนี่ยวจิตใจที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อประชาชนอย่างที่เคยเป็นมา
.
“แล้วเลิกได้แล้วกับการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการดูถูกประชาชนอย่างชัดเจน ทำไมไม่ตั้งคำถามนี้กับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงบ้างว่าที่ผ่านมาทำร้ายใครก็ไม่เคยถูกกฎหมายเอาผิดได้ อย่างนี้ต่างหากที่ควรสงสัยว่ามีผู้มีอำนาจคอยให้ท้าย ให้คนเหล่านี้กระทำความรุนแรงโดยไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมายหรือไม่”
.....

[ โปรดดึง ‘สติ’ อย่าให้เรื่องนี้บานปลายเกินความจำเป็น ]
.
Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายว่า เหตุปะทะที่สยามพารากอน โดยกลุ่มคนที่อ้างความจงรักภักดี เกิดขึ้นต่อหน้าสื่อมวลชนและธารกำนันกลางเมืองหลวง และจนถึงวันนี้ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อความรุนแรงดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
.
ในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หากเราพิจารณากันอย่างละเอียด เราจะพบว่าเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใจเย็น การควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามบานปลาย เป็นวิธีการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและมีวุฒิภาวะ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหากกลุ่มนักเคลื่อนไหวมีความพยายามกระทำบางอย่างมากกว่าที่เห็น ก็เชื่อว่าตำรวจที่รักษาความปลอดภัยก็จะมีมาตรการที่มากขึ้น เพื่อรักษาความปลอดภัยให้บรรลุผลให้ได้
.
หากลองพิจารณาตามตัวบทกฎหมายอย่าง พ.ร.บ. การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 7 ก็จะพบว่ากฎหมายได้ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและเพียงพอที่จะรักษาความปลอดภัยได้อยู่แล้ว โดยกฎหมายอนุญาตให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้ดุลยพินิจในการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง
.
ดังนั้น สิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติมในวันนี้คือ ‘สติ’ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว หากมีความผิดจริงจะว่ากันไปตามกฎหมายก็เข้าใจได้ แต่ถึงที่สุดหากจะมีการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งสำคัญที่มากไปกว่านั้นก็คือต้องมีการใช้อย่างโปร่งใส ได้สัดส่วนกับความผิดที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งคำถามสำคัญก็คือวันนี้ความผิดดังกล่าวกับกฎหมายที่กำลังปรับใช้นั้นได้สัดส่วนหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ที่อาจลุกลามบานปลายไม่จบสิ้น
.
พูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดีของบ้านเมืองนี้ การพูดว่าตัวเองและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ ฟังท่อนแรกเหมือนจะดี แต่ท่อนต่อมาราวกับว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ก่อความรุนแรงในแบบเดียวกัน
.
“คำพูดแบบนี้จะกลายเป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กับผู้ที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผู้นำควรจะปฏิบัติจริงหรือ ผมอยากให้พวกท่านทั้งหลายที่กำลังทำหน้าที่ที่สำคัญ ก่อนพูดอะไรลองถามตัวเองก่อนว่าที่พูดไปนั้น พูดไปแล้วมันได้อะไรขึ้นมา”
.
หากถอยย้อนไปดูสักนิด ก่อนหน้านี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้พยายามนำเสนอวิธีการอย่างสงบในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราอาจจะเห็นว่ามีการตั้งคำถามหลายคำถามที่เสียดแทงจิตใจของคนในสังคมผ่านการให้คนติดสติ๊กเกอร์ เราอาจจะไม่ชอบวิธีการที่เขาใช้ ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาถาม แต่เราต้องยอมรับว่าการตั้งคำถามและติดสติ๊กเกอร์แม้จะทำให้คนบางคนปวดร้าวในจิตใจ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นการลงมือทำร้ายใคร
.
ที่พวกเขาต้องทำแบบนี้ อาจเพราะที่ผ่านมาเราทำหน้าที่ในสภาฯ แห่งนี้ไม่ดีพอ เราไม่สามารถนำบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเข้ามาสู่สภาฯ ได้ เราอาจกำลังล้มเหลวและปล่อยให้พวกเขาต้องไปดิ้นรนหาวิธีการกันเอง และสิ่งที่ตามมาคือการบังคับใช้กฎหมายนิติสงคราม ทำให้คนที่รณรงค์ผ่านการถามด้วยสติ๊กเกอร์กลายเป็นต้องใช้วิธีการอื่น เพื่อทำให้ประเด็นของพวกเขาได้รับความสนใจ
.
ที่ชัดเจนขึ้นด้วย ก็คือการสร้างความหวาดกลัวโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าจงรักภักดี โพสต์ข้อความปลุกปั่นในโซเชียลมีเดียว่าจะเชือดไก่ให้ลิงดู เก็บตะวันที่อายุ 20 ปีเป็นคนแรก สังหารหยกที่อายุ 15 ปี จัดการสายน้ำตามสไตล์อาชีวะ ‘ปะทะก่อนค่อยคุย’ นี่คือกลุ่มคนที่จะนำพาความรุนแรงและความหวาดกลัวให้เข้ามาในสังคม
.
ท่านกำลังปลุกปั่นให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าความเป็นจริงมาก แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในใจกลางปัญหาความขัดแย้ง การปลุกปั่นแบบนี้กำลังทำให้คนทั้งสังคมรู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วท่านจะออกแบบและสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยอะไร ในเมื่อสุดท้ายความไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่พวกท่านสร้างขึ้นมาเอง
.
“ถ้อยคำที่รุนแรงเหล่านี้สุดท้ายมันนำไปสู่การข่มขู่ว่าจะโยนกลุ่มคนเหล่านี้ เยาวชนเหล่านี้ลงจากสกายวอล์ค ถ้าวันหนึ่งเราปล่อยให้สถานการณ์บานปลายต่อไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการดึงสติกันเลย แล้วมันเกิดขึ้นจริง ใครจะรับผิดชอบ ดังนั้น ผมอยากจะใช้โอกาสนี้ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี ไปถึงรัฐบาล ขอให้มีสติ เพราะหากความรุนแรงมันเกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คนจะหาว่ารัฐบาลคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มคนเหล่านี้ อย่าให้ไปสู่จุดนั้นเลย”
 
(ชมการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม : https://youtu.be/TncwBFw45wo)
.....

[ ‘ตะวัน’ ที่รัฐและสังคมเลือกผลักไปสู่ขอบเหวเอง ]
.
พนิดา มงคลสวัสดิ์ - Phanida Mongkolsawat สส.สมุทรปราการ เขต 1 พรรคก้าวไกล เริ่มต้นอภิปรายด้วยการเล่าเรื่องราวของ ‘ตะวัน’ ผู้เป็นเจ้าของคลิปบีบแตรและมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบนทางด่วนที่มีขบวนเสด็จ จนกลายเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างหลากหลายอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากผู้มีอำนาจ
.
แรกเริ่มที่สังคมได้เห็นชื่อของตะวัน คือในช่วงปลายปี 2564 จากคลิปเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนถีบมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมที่วิ่งมาด้วยความเร็วจนล้ม แล้วรุมเข้าใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ขับและผู้ซ้อนท้าย ทราบภายหลังว่าหนึ่งในผู้ถูกกระทำในวันนั้นคือตะวัน
.
หลังจากนั้น สังคมก็ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของตะวันในหน้าสื่ออีกครั้ง ผ่านการถือกระดาษสอบถามความคิดเห็นหนึ่งแผ่นในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยโพลที่มีคำถามเรียบง่าย สอดคล้องกับบริบทของสังคม การเมือง และตัวบทกฎหมาย ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจและมาร่วมกิจกรรมอยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากการทำโพลแล้ว ข้อเรียกร้องหลัก ๆ ของตะวันคือการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง นำมาสู่การอดอาหารประท้วงจากในเรือนจำ สู่โรงพยาบาล และหน้าศาลฎีกา
.
แต่การต่อสู้แบบสันติวิธีนี้กลับทำให้ตะวันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มไปมากกว่า 5 ครั้ง ถูกคุมขังในเรือนจำ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลารวมกว่า 50 วัน อดอาหารประท้วงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิการประกันตัวรวมกันทั้งสิ้นกว่า 90 วัน ถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินโดยผู้เห็นต่าง 4 ครั้ง มีคดีติดตัวจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เองที่น่าจะเป็นสารตั้งต้นให้ตะวันเกิดความอัดอั้นตันใจเรื่อยมา เพราะแทนที่รัฐจะรับฟังเธออย่างจริงใจ กลับจับกุมคุมขัง ดำเนินคดี รวบตัวหิ้วไปมา ฉุดกระชากลากถูไปสู่กระบวนการนิติสงคราม ที่เธอและเพื่อน พี่ น้อง ถูกกระทำเฉกเช่นเดียวกัน
.
“หากท่านมองเพียงกระพี้ ท่านก็จะอาจจะเห็นว่าเรื่องของตะวันเป็นเพียงปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ถ้าหากเยาวชนยังไม่หยุดดื้อ ก็จะต้องกำราบปราบปรามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะยอม แต่ดิฉันอยากชวนทุกท่านมองให้ลึกถึงแก่นแกนของเหตุการณ์นี้ ว่านี่คือผลลัพธ์ของการปิดกั้นการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนหรือไม่ เพราะจุดเริ่มต้นในการโดนคดีร้ายแรงของเธอเกิดขึ้นเพียงกระดาษทำโพลหนึ่งแผ่นเท่านั้น ก่อนเกิดการสะสมความไม่พอใจต่อระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำมาสู่การแสดงออกที่รุนแรงขึ้นอย่างเช่นในเหตุการณ์นี้”
.
อีกหนึ่งคำถามที่ต้องชวนคิด คือวันนี้สังคมเรามีวุฒิภาวะมากพอที่จะพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาแล้วหรือยัง เวลานี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสม สร้างทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น พูดคุย ถกเถียงกันในทุกๆ เรื่อง หากมีความผิดก็ว่าไปตามผิดทางกฎหมายอย่างเหมาะสม ที่ไม่เกินสัดส่วน หรือตีความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
.
บทบาทของนายกรัฐมนตรีนั้นสำคัญมากต่อการบริหารความสัมพันธ์ของประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หากแต่ท่าทีของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำของรัฐบาล รวมถึงนักการเมืองหลายคนในช่วง 2-3 วันนี้ ทำให้น่ากังวลว่ากำลังเกิดการจำกัดพื้นที่ในการสนทนาเรื่องนี้ให้แคบลงไปกว่าเดิม และอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางลบมากกว่าเดิม
.
หากได้ลองสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่องทางต่าง ๆ จะเห็นว่าเวลานี้ไม่ได้มีเพียงแค่ตะวันที่รู้สึกอัดอั้นตันใจ อาจมีอีกหลายคนที่ยังคงมีคำถาม มีข้อคิดเห็น หรือแม้แต่คนที่มีแนวคิดขัดแย้งกับตะวันอย่างสิ้นเชิง ก็รู้สึกไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องนี้ และสิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดว่าจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย คือการเกิดขึ้นของขบวนการ ‘เก็บตะวัน’ ที่มีการโพสต์ขู่ฆ่าฝ่ายที่คิดต่างกับตัวเองอย่างเปิดเผย
.
เราคงไม่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เงียบเชียบ ไม่มีใครกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะหากออกมาก็จะถูกจับกุมคุมขัง เจอกับนิติสงคราม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำให้ตาย ทั้งที่จริงแล้วสังคมประชาธิปไตยจะต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มีพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงออกอย่างปลอดภัย ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม
.
ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐจะจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสมและจริงใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น พูดคุย ถกเถียงกัน และสร้างจุดสมดุลระหว่างการรับฟังความคิดเห็น คำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน กับการถวายการอารักขาและคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ถอดบทเรียนจากหลายเหตุการณ์ในอดีต และอย่าขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้าเดิมซ้ำจนกลายเป็นรอยแผลร้าวลึกในความทรงจำของเราทุกคนอีก
.
“สุดท้ายนี้ ตะวันเป็นเพียงภาพสะท้อนของประชาชนที่มีชุดความคิดที่ไม่ถูกรับฟัง ไม่ได้รับการตอบสนอง และไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นปลายเหตุของการสะสมความไม่พอใจต่อระบบนี้เท่านั้น ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีให้ไม่เพียงแต่ทบทวนปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างได้รับการรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ ได้รับการแก้ไข เพื่อยุติความขัดแย้งรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
.....

[ นักการเมืองไม่ใช่นักล่าแม่มด แต่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกความเห็นต่าง ]
.
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ - ทนายแจม - Sasinan Thamnithinan สส.กรุงเทพฯ เขต 11 พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังคำที่ว่า “It takes a village to raise a child” หรือการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้คนทั้งสังคม เราจึงไม่ควรด่วนสรุปและรีบหาคนผิดในทุกเหตุการณ์ สิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันปัญหาคือการค้นหาต้นตอของปัญหาว่าคืออะไร และไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้อารมณ์
.
นักการเมืองควรมองประชาชนทุกคนด้วยเลนส์ที่ไม่แบ่งแยกและไม่อคติ ในเรื่องขบวนเสด็จก็เช่นกัน ความเหมาะสมเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความได้สัดส่วนของความผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การตั้งข้อหาที่รุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างความกลัว และยังเป็นการทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกครั้ง
.
“ดิฉันไม่เชื่อเรื่องไม้เรียวสร้างเด็ก หรือการตีเด็กเป็นการแสดงออกถึงความรัก การตีคือความรุนแรงทุกกรณี และการจะหยุดวงจรเรื่องความรุนแรงได้ต้องเริ่มจากการไม่ตีเด็ก เราไม่สามารถสร้างคนให้สร้างสรรค์หรือพัฒนาตัวเองได้ ถ้าเขายังอยู่ในกรอบของความกลัว การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเกินไป หรือเกินสัดส่วนก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกัน”
.
สิ่งที่นักการเมืองอย่างเราทำได้ คือต้องไม่ออกใบอนุญาตให้คนทำร้ายกันหรือฆ่ากัน (license to kill) ด้วยการเพิกเฉยต่อความรุนแรง เหตุการณ์ปะทะกันที่สยามพารากอนคือสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าความรุนแรงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ไม่ใช่แนวทางในการเปลี่ยนแปลง การสร้างบรรยากาศเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่เราจะหลุดพ้นวงจรความขัดแย้งในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปยืนอยู่ที่หน้าผาแล้วบีบให้เค้าต้องกระโดดลงไปเอง จนต้องทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดตามสัญชาตญาณของมนุษย์
.
แม้เราจะมองว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะสมและไม่สนับสนุนการกระทำ แต่การไม่สนับสนุนก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหยียบย่ำ ซ้ำเติม หรือผลักให้คนตกลงไปที่ก้นเหว และแน่นอนว่าการไม่เหยียบย่ำก็ไม่ได้หมายความว่าให้ท้าย แต่เป็นการใช้วุฒิภาวะ สร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐผ่านการตรวจสอบถ่วงดุลทางรัฐสภา
.
และหน้าที่ของ สส. คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยน แสดงออกซึ่งความคิดเห็น ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสันติ รวมถึงต่อต้าน ประณาม และมีส่วนร่วมในการยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
.
“หน้าที่ของผู้แทนราษฎรมิใช่การพิพากษาตัดสิน ด่วนสรุป หรือชี้ถูกชี้ผิด เราไม่จำเป็นต้องวิ่งไปซ้ายสุดด้วยกัน หรือวิ่งไปขวาสุดด้วยกัน แต่เราโอบกอดกันระหว่างทางได้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนได้ สภาฯ แห่งนี้จึงควรเป็นเสมือนบ้านที่มีประตูทางออกสำหรับทุกปัญหา รับฟังทุกความเห็นต่างบนวิถีทางประชาธิปไตย”
.
“และดิฉันขอวิงวอนเพื่อนสมาชิกว่าอย่าเพิ่งปิดประตูการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดยไม่ได้ฟังประชาชนเลย วันนี้เป็นวันแห่งความรัก ประชาชนจำนวนหนึ่งเขารอเราอยู่ข้างนอกสภาฯ อยากชวนทุกท่านมาแง้มประตู ชะโงกหน้าไปฟังพวกเขาก่อน อย่าเพิ่งตัดปัญหาด้วยการปิดประตูบานนั้นเลย”
(ชมการอภิปรายของ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ : https://youtu.be/WalVYI2LwF8)
.....

[ ทั้งสังคมต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างสมดุลให้ทุกความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ]
.
พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า เรื่องที่เราพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลใจ แต่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัญหาใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะละเอียดอ่อนแค่ไหน ต้องถูกนำมาพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุและผลในสภาฯ
.
อย่างไรก็ตาม เวทีสภาฯ ไม่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดียว แต่ทุกพื้นที่ในประเทศนี้ จะในหรือนอกสภาฯ ก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็นในทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่สภาฯ นั้นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นพื้นที่ที่นำคนที่เห็นต่างกัน หรือเป็นตัวแทนชุดความคิดที่ต่างกันมาคุยกัน และร่วมกันหาทางออกให้กับเรื่องยาก ๆ ในสังคม
.
หัวข้อที่อยู่ในใจของพวกเราหลายคนคือเรื่องของการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น โจทย์ที่ทุกคนควรร่วมกันคิดต่อ คือคำถามว่าสังคมควรรับมืออย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
หากมองโจทย์อย่างแคบ เราควรทบทวนการออกแบบขบวนเสด็จ ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบอบประชาธิปไตยทุกแห่ง เป้าหมายหลักของการออกแบบมาตรการเกี่ยวกับขบวนของประมุขหรือบุคคลสำคัญ คือการรักษาความปลอดภัยของบุคคลในขบวน ด้วยวิธีการที่พยายามอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการใช้ถนนเท่าที่จะพอทำได้
.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเองก็ตระหนักดีถึงความสำคัญในการแสวงหาสมดุลดังกล่าว สะท้อนผ่านเจตนาของพระบรมราโชบายเมื่อปี 2563 ที่จะให้ปรับปรุงแนวปฏิบัติเรื่องขบวนเสด็จทั้งหมด 10 ข้อ แต่หากจะมีการทบทวนมาตรการเกี่ยวกับขบวนเสด็จในอนาคต เราจำเป็นต้องช่วยกันคิดอย่างรอบคอบเพื่อรักษาหรือแสวงหาจุดสมดุลที่เหมาะสม
.
การหาสมดุลเกี่ยวกับขบวนเสด็จจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของยุคสมัยที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลและพวกเราทุกคนมีหน้าที่ปกป้อง
.
“ในมุมหนึ่ง รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้การรักษาความปลอดภัยของประมุขหรือพระบรมวงศานุวงศ์รัดกุมและไร้ข้อบกพร่อง แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากวันนี้รัฐบาลหันไปปรับมาตรการแบบฉับพลันหรือไม่สมส่วน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ในวงกว้างอย่างถี่ถ้วน ก็จะเกิดความเสี่ยงว่าหากประชาชนไม่พอใจกับมาตรการใหม่ที่ตามมา ความไม่พอใจดังกล่าวก็อาจขยายวงไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ความจริงแล้วมีต้นเหตุมาจากการขาดความละเอียดรอบคอบของรัฐบาลหรือพวกเรากันเอง ที่ควรจะต้องเป็นกันชนที่ดีให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์”
.
แต่หากมองโจทย์อย่างกว้าง คือเราจะปฏิบัติกับผู้เห็นต่างและคลี่คลายความขัดแย้งกันอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะในสังคมใด ๆ ก็ตาม ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หัวใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือการทำให้ความซื่อตรงของประชาชนต่อหลักการประชาธิปไตย และความศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสองคุณค่าที่อยู่เคียงข้างกันได้
.
แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ที่เสรีภาพทางความคิดเป็นเสรีภาพที่จำกัดกันไม่ได้ ประชาชนแต่ละคนอาจมีมุมมองหรือให้น้ำหนักกับสองคุณค่าดังกล่าวในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันเสมอไป
.
หากประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์จะเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง หากเราจะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันทำได้ ณ ตอนนี้ คือไม่ว่าจะเจอใครที่ยึดถือคุณค่าที่ต่างอย่างสุดขั้วจากเราแค่ไหน หรือใช้วิธีในการแสดงออกที่เรามองว่าไม่เหมาะสมแค่ไหน ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ แต่ต้องต่อสู้กันด้วยเหตุและผล ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องไม่หันไปใช้ความรุนแรง แต่ต้องหันหน้าเข้าหากันอย่างสันติวิธี ภายใต้หลักนิติรัฐ-นิติธรรม
.
“ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจของแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือภารกิจที่เราต้องทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา เวลานี้ไม่ใช่เวลาของการปล่อยให้ประชาชนไปจัดการแก้ไขปัญหากันเองโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมาย แต่คือเวลาของการพิสูจน์ความเป็นผู้นำของพวกเราทุกคน ในการร่วมกันสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งอันเปราะบางนี้ ก่อนที่ปัญหาทั้งหมดจะลุกลามไปไกลกว่าที่เป็นอยู่”
(ชมการอภิปรายของ พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม : https://youtu.be/SruQ2Dkk_PU)
.....

[ แก้ปัญหาด้วยกุศโลบายทางการเมือง อย่าให้บทเรียนจากอดีตเกิดขึ้นซ้ำอีก ]
.
สุดท้าย ผู้อภิปรายปิดญัตติคือ ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้ายในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า จากการรับฟังผู้อภิปรายหลายท่านจากหลายพรรคการเมือง ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วเราก็มีความเห็นร่วมกันอยู่หลายประการ ทั้งเห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมือง หรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้น เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากล
.
ประการต่อมา เราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร และเราต่างก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์เกิดขึ้นอีก
.
ตนดีใจที่ท่านเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้เสนอญัตติได้เปิดอภิปรายโดยยอมรับว่า ตัวเองก็เกิดความรู้สึกโกรธในห้วงเวลาแรกที่ได้รับทราบเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นก็สามารถสงบสติอารมณ์ได้ เพราะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ จึงเกิดความคิดที่จะหาวิธีบริหารจัดการ
.
ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่เราควรจะถกเถียงอภิปรายกันให้รอบด้าน และตนยืนยันว่าเมื่อพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัย เราไม่สามารถพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ หรือแผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น
.
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งกระทบกับการถวายความปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลายเท่า จนเกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และยังมีการลอบวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์
.
การปรับแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้นไม่สามารถพิจารณาเฉพาะกฎหมายและแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น เพราะสุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ขณะนั้น และที่น่าเศร้าใจคือเหตุการณ์ในครั้งนั้นนำไปสู่การที่กลุ่มฝ่ายขวา คือกลุ่มกระทิงแดง พยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้นปลุกปั่นกล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรในขณะนั้นไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
.
กรณีที่เรากำลังอภิปรายกันนี้ ต้องยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและความคิด เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน จึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านได้ว่าจะบริหารจัดการการถวายความปลอดภัยและการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร
.
“มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแน่นอน ที่รัฐไทยสามารถทำให้คนคนหนึ่งที่แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเองด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไทยจำนวนมากไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้า มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนคนหนึ่งเขาอยากจะพูดแต่เราไม่อยากฟัง แล้วก็ไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราก็พยายามจะไปปิดปากเขา สุดท้ายเขาก็เลยเลือกตะโกน แล้วมันก็นำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา”
.
สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่เราควรจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร แต่ในขณะเดียวกัน คนที่กำลังตะโกนอยู่ ก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังมากขึ้นด้วย การตะโกนแล้วยิ่งทำให้ไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน
.
สุดท้ายเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ ถ้าถามว่าวันนี้เราจะเสนออะไรไปยังฝ่ายบริหาร นอกจากข้อเสนอเรื่องการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และแบบแผนต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง
.
เป็นเรื่องที่ไม่น่าสบายใจอย่างยิ่ง เมื่อวันนี้เราได้ยินสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลพูดกันถึงขั้นว่าถ้าไม่พอใจก็ให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง เพราะเราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถส่งผลดีกับใครเลย เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาแล้ว สุดท้ายต่อให้เราใช้กำลังอาวุธร้ายแรงยิงเข้าไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือกแล้วก็ต้องเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริง ๆ ในป่า มันไม่ใช่ทางออกเลย และสุดท้ายเราก็ต้องจบด้วยการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการนิรโทษกรรม เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
.
“สุดท้ายผมก็หวังว่ารัฐบาลของเรา สมาชิกผู้แทนราษฎรของเราจะมีสติ ระงับความโกรธอย่างที่ท่านเจ้าของญัตติเปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันสามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยเราออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบสองทศวรรษแล้ว เพื่อที่ประเทศของเราจะได้มีสมาธิเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไป”
 
(ชมการอภิปรายของ ชัยธวัช ตุลาธน : https://youtu.be/qgLnbXu7DuU)
.....