วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 08, 2567

ตุลาการธิปไตยภายใต้เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์



ตุลาการธิปไตยภายใต้เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

6 Feb 2024
เรื่อง สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพประกอบ ณัฐพล อุปฮาด
101 World

หากพิจารณาในแง่มุมที่กว้างขวางมากขึ้น ไม่ใช่เพียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการเสนอนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล แต่ยังรวมถึงกระบวนการและคำพิพากษาคดี 112 ที่มีการโต้แย้งว่าขัดกับหลักการทางกฎหมาย, คำวินิจฉัยในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ, กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วยตัดสินว่าการปฏิรูปเท่ากับล้มล้าง เป็นต้น

จะพบว่าแก่นกลางของอำนาจตุลาการไทยในห้วงเวลาปัจจุบันคือการมาบรรจบกันระหว่างสองเงื่อนไขสำคัญ กล่าวคือ หนึ่ง การเกิดขึ้นของสภาวะตุลาการธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของฝ่ายตุลาการ และ สอง ระบอบการเมืองในแบบที่เรียกว่า ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’

‘ตุลาการธิปไตย’ หรือ Juristocracy เป็นถ้อยคำที่ Ran Hirschl เสนอในงานเรื่อง Toward Juristocracy: The origins and consequences of the new constitutionalism (2007) ในงานชิ้นนี้เขาได้ชี้ให้เห็นว่าอุดมการณ์ของแนวคิดรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ได้ส่งผลให้บทบาทและอำนาจของตุลาการมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

จากแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจแบบดั้งเดิมซึ่งตุลาการจะไม่ทำหน้าที่มากไปกว่าการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในประเด็นปัญหาทางกฎหมาย และไม่เข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาดในประเด็นข้อถกเถียงทางการเมืองอันถือว่าเป็นปริมณฑลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตุลาการ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้งของเครือข่ายชนชั้นนำดั้งเดิมที่ทำให้สูญเสียอำนาจเหนือในสถาบันดังกล่าว ชนชั้นนำจึงได้หันมาใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือกำกับความเป็นไปทางการเมือง ยิ่งชนชั้นนำครอบงำอุดมการณ์ได้มากเพียงใดก็จะสามารถชี้นำอำนาจตุลาการได้มากยิ่งขึ้น

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการก็จะเป็นไปเพียงเพื่อรักษาอำนาจนำดั้งเดิม (hegemonic preservation) ให้สามารถดำรงอยู่และขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลงที่มาจากสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง อำนาจตุลาการจึงไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นไปตามหลักวิชาที่ถูกถ่ายทอดกันในทางสาธารณะ

สำหรับประเด็น ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ (virtual absolutism) เกษียร เตชะพีระ ได้เสนอไว้ในงานเรื่อง สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์: สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย (ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 ก.ค. – ธ.ค. 2564) โดยเกษียร ชี้ให้เห็นว่าระบอบรัฐธรรมนูญของอังกฤษสามารถที่จะคลี่คลายตัวไปได้ในสองทิศทาง กล่าวคือด้านหนึ่งอาจเปลี่ยนเป็น ‘สาธารณรัฐจำแลง’ (a disguised republic) หรืออีกด้านหนึ่งอาจกลายเป็น ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’

สำหรับสาธารณรัฐจำแลงเป็นแนวโน้มหนึ่งของระบอบการเมืองที่สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมีความหมายถึง กรณีที่อำนาจในการบริหารตกอยู่กับนักการเมืองเป็นสำคัญ, สถาบันกษัตริย์จะเป็นเพียงประมุขในเชิงสัญลักษณ์โดยไม่มีอำนาจในทางการเมือง ส่วนเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์หมายถึงกรณีที่ส่วนอัน ‘ทรงเกียรติศักดิ์’ (บรรดาส่วนที่กระตุ้นและผดุงไว้ซึ่งความเคารพยำเกรงในหมู่ประชาชน อันได้แก่สถาบันกษัตริย์และสภาขุนนาง) กับส่วนที่ ‘ทรงประสิทธิภาพ’ (บรรดาสถาบันของรัฐธรรมนูญที่ดำเนินงานและปกครองบ้านเมือง อันได้แก่คณะรัฐมนตรีและสภาสามัญ) เข้ามาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และปมเงื่อนสำคัญก็คือ “ฝ่ายแรกอยู่เหนือฝ่ายหลัง และหลอมรวมยึดโยงเข้าด้วยกันในบางระดับและบางมิติที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบอบ ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’?” (เกษียร, หน้า 22)

หากพิจารณาบทบาทของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยผ่านมุมมองทั้งสองแง่มุม จะพบว่าแต่เดิมอำนาจตุลาการไม่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการกำกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ได้กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงเด่นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองนับจากภายหลังกระแสการปฏิรูปการเมืองอันปรากฏเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยความคาดหวังว่าสถาบันตุลาการซึ่งถูกเข้าใจกันว่ามีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และอยู่ภายใต้หลักการในการทำงานมากกว่าองค์กรอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทของการกำกับและควบคุมการเมืองไทยให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และสืบเนื่องต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ในระยะเริ่มต้น มีความพยายามในการออกแบบให้กลายเป็นสถาบันที่ใช้หลักวิชาได้อย่างเป็นกลางและมีกระบวนการตรวจสอบไปพร้อมกัน ซึ่งได้มีการขยายขอบเขตอำนาจในการชี้ขาดประเด็นต่างๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและการขยายอำนาจผ่านการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นอำนาจสูงสุดในการกำกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายระยะหลายระลอก

กรณีการพ้นไปจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกันเครือข่ายชนชั้นนำหรือการกีดกันบุคคลไม่ให้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นผลงานอย่างชัดเจนของศาลรัฐธรรมนูญ คำตัดสินที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก็ถูกวินิจฉัยให้เป็นการกระทำที่ต้องห้าม ฯลฯ

ศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็น ‘ตุลาการธิปไตย’ หรือผู้ชี้ขาดว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองควรจะดำเนินไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ตาม การแปรสภาพเป็นตุลาการธิปไตยของอำนาจตุลาการไทยได้ดำเนินไปอย่างใกล้ชิดกับการขยายพระราชอำนาจนำที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ สถาบันตุลาการของไทยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอำนาจนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ในห้วงเวลาของการฟื้นฟูกระแสกษัตริย์นิยมให้กลับมาภายในสังคมไทย ภายหลังจากที่ต้องตกต่ำไปนับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475

แม้อุดมการณ์สำคัญประการหนึ่งของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยก็คือความเป็นอิสระ แต่ความเป็นอิสระดังกล่าวนี้มีความหมายแคบๆ เพียงการพ้นไปจากอำนาจหรือการครอบงำของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดังการปฏิเสธอำนาจของฝ่ายการเมืองในโครงสร้างการบริหารงานของฝ่ายตุลาการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายตุลาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอำนาจนำอย่างเข้มข้น

การเข้าเฝ้าถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ, การให้คำอธิบายว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการเป็นไปในปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์, จำนวนขององคมนตรีที่มาจากฝ่ายตุลาการในรัชสมัยก่อนหน้านี้ เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของฝ่ายตุลาการได้เป็นอย่างดี

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในระยะเริ่มต้นได้มีการออกแบบให้ผู้พิพากษาอาชีพ (โดยเฉพาะจากศาลฎีกา) มีจำนวนน้อยกว่าผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ แต่รัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ก็ได้ขยายจำนวนของผู้พิพากษาอาชีพให้มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาจากประธานศาลรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ก็จะพบว่าแทบทั้งหมดจะมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่จะอยู่ภายใต้กรอบความคิดว่าตนเองดำรงสถานะเป็น ‘ผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว’

คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็น ‘ทรงเกียรติศักดิ์’ (ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา, การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, การยุบพรรคไทยรักษาชาติ) จึงได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่อำนาจตุลาการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบการเมืองการปกครองของไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน และมีความหมายมากกว่าหลักการอื่นๆ ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเชิงหลักการหรือได้ปรากฏเป็นบทบัญญัติอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้ส่วนที่ ‘ทรงเกียรติศักดิ์’

คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงมุมมอง ความรู้สึกนึกคิด หรือความเข้าใจของตุลาการแต่ละคนในเชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากเป็นการยืนยันถึงสภาวะ ‘ตุลาการธิปไตยภายใต้เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ อันเป็นรูปแบบที่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์และอำนาจของฝ่ายตุลาการ

ยิ่งคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นเป็นไปในแบบฉันทมติ โดยปราศจากความเห็นแย้งต่างก็ยิ่งบ่งบอกถึงสภาวะดังกล่าวนี้ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

https://www.the101.world/juristocrazy-under-virtual-absolutism/