วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 22, 2567

"นายวันเฉลิมเป็นคนไทยดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยด้วยเช่นเดียวกันที่จะต้องไปทวงถามอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ถึงการสืบสวนสอบสวนในฝั่งกัมพูชาได้ เราจึงเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวและผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย” - มูลนิธิผสานวัฒนธรรม


Cross Cultural Foundation (CrCF)
11h ·

วันนี้ ( 21 กุมภาพันธ์ 2567) เวลาประมาณ 10.00 น. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย ผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชาเมื่อปี 2563 ได้เดินทางไปรณรงค์ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า สืบเนื่องจาก สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยี่ยมทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันและเวลาดังกล่าว ก่อนถูกตำรวจสกัดรถขณะกำลังเดินทางไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และต้องขับรถออกมาพักทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่พื้นที่ว่างห่างออกมาสองกิโลเมตร โดยมีนายตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 50 นายเฝ้ารักษาการณ์ อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจำนวนหนึ่งตามมาสมทบภายหลังอีกด้วย
.
สิตานัน กล่าวว่า “การเดินทางมาในวันนี้เพื่อมาทวงถามความเป็นไปและความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปี 2563 ที่ประเทศกัมพูชา เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะสมเด็จฮุนเซนเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนายทักษิณและสมเด็จฮุน เซน ทางการไทยและกัมพูชาน่าจะสร้างความกระจ่างให้ครอบครัวได้ ว่าวันเฉลิมหายไปไหนไม่ทราบชะตากรรม”
.
ในวันที่สมเด็จฮุนเซนฯ มาเยี่ยมอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ สิตานันท์ได้เดินทางไปจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และรายงานกลับมาว่า เวลาประมาณ 10.00 น. “ขณะที่ขับรถเลี้ยวไปบริเวณซอยทางเข้าบ้านของนายทักษิณฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหลายนายมาล้อมรถของตนไว้พร้อมถามว่าจะเดินทางไปไหน ตนจึงบอกว่าจะไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งจึงตะโกนว่า ‘จับเลย เจอตัวแล้ว’ ตนจึงตกใจมากและรีบขับรถออกมา จนเลือกมาปักหลักที่บริเวณด้านหน้าธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่นี่แทน”
.
ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางมาพบ สิตานัน ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการให้เจอตัวแล้วจับเลย และพยายามสอบถามว่าสิตานันจะเดินทางไปทำอะไรที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สิตานัน จึงได้ยื่นหนังสือ ต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพื่อขอให้มีการติดตามทวงถามกรณีนายวันเฉลิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) องค์การสหประชาชาติ ตัวแทนประเทศกัมพูชาตอบคำถามต่อกรณีวันเฉลิมว่ากรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนของผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating judge) และเป็นความลับ อย่างไรก็ตามประเทศกัมพูชายืนยันว่ากรณีวันเฉลิมไม่เป็นกรณีการบังคับสูญหายตามอนุสัญญาฯ เนื่องจากไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สิตานันได้ร้องเรียนถึงกรณีการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อตัวสิตานันด้วย
.
ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งได้ไปร่วมกิจกรรมกับสิตานันในวันนี้ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีวันเฉลิมว่า “ผู้ที่ถูกอุ้มหายหลายราย มีชะตากรรมไม่ต่างกับวันเฉลิม ซึ่งทางประเทศกัมพูชาต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีอาญาด้วย เพราะกัมพูชารัฐภาคีในอนุสัญญาหลายฉบับกับสหประชาชาติ นายวันเฉลิมเป็นคนไทยดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยด้วยเช่นเดียวกันที่จะต้องไปทวงถามอดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ถึงการสืบสวนสอบสวนในฝั่งกัมพูชาได้ เราจึงเรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวและผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย”
.
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามความคืบหน้าของคดีอุ้มหายวันเฉลิม รวมถึงกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายอื่นๆ ต่อไป ในการค้นหาความจริง นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้รับโทษทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นนี้กับใครได้อีก และร่วมส่งกำลังใจให้ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกครอบครัวในการเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ให้ได้รับความยุติธรรมรวมถึงการชดใช้เยียวยาตามกฎหมายต่อไป
.
#วันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ #วันเฉลิม

https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/posts/876599454263732?ref=embed_post