ปัจจุบันมี ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำจำนวน 40 คน เป็นทั้งคดีที่สิ้นสุดแล้วและคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นต่าง ๆ โดย ณ วันที่ 1 ก.พ. 2567 มีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวมอย่างน้อย 21 คน
มองความเป็นไปได้ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ท่ามกลางข้อครหา "สองมาตรฐาน" ในกระบวนการยุติธรรมไทย
ธันยพร บัวทอง
สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว
การปล่อยตัวพักโทษ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หลังรับโทษนอกเรือนจำมา 6 เดือน จากโทษจำคุกแรกเริ่ม 8 ปี ก่อให้เกิดคำถามถึงมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 5,000 คน นับตั้งแต่ปี 2549 กำลังรอความหวังจากการนิรโทษกรรมที่ผลักดันผ่านสภาผู้แทนราษฎร
ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เป็นประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2563 เป็นต้นมาเกือบ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินฯ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการร่วมชุมนุมในการเคลื่อนไหวผ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่ม “ราษฎร”
วาระการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร เริ่มนับหนึ่งเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในช่วงที่นับว่าเป็นห้วงเวลาสำคัญทางการเมืองไทย เพราะประเด็นว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ขมวดปมในช่วงใกล้เคียงกัน นับตั้งแต่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ “ล้มล้างการปกครองฯ”
ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับ “ขบวนเสด็จฯ” และการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า "ทะลุวัง" และ กลุ่มที่ชื่อว่า “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” (ศปปส.) ซึ่งเดินหน้าใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือการฟ้องร้องแจ้งความเอาผิดประชาชนเป็นจำนวนกว่า 100 คดีแล้ว ด้วยเห็นว่าเป็น "เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์"
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งทางการเมือง 17 ปี หลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา “คู่ขัดแย้ง” ทางการเมืองเดิม อาจพลิกผ่านร่วมมือกันผ่าน “ดีลทางการเมือง” จนอาจจบสิ้นไปแล้ว แต่ผลพวงของความขัดแย้งในแต่ละเหตุการณ์ ยังตกอยู่กับประชาชนคนธรรมดาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายพันคน
คดี ม.112 กับการเคลื่อนไหวในปี 2563
เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ฝน อลิสา (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมและสมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมอีก 2 คน
ทั้ง 3 คน ถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันขับขี่รถไปถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ในตัวเมืองของ จ.พัทลุง เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 24 พ.ย. 2563 และนำภาพถ่ายไปใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ ก่อนโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า "พัทลุงปลดแอก" และ "ประชาธิปไตยในด้ามขวาน" จำนวนรวม 20 ภาพ
ในคดีนี้ อลิสาและเพื่อนนักกิจกรรมรวม 3 คนให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยการสืบพยานแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นในปี 2566
ก่อนหน้านี้ "เบลล์" เยาวชนวัย 17 ปี ใน จ.พัทลุง ผู้ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ ถูกแยกดำเนินคดีในฐานะเยาวชน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง พิพากษาคดีของเบลล์ไปแล้วเมื่อกลางปี 2566 โดยตัดสินว่า ศาลฯ ตัดสินว่า เขามีความผิดตามมาตรา 112 จึงพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 12 เดือน ซึ่งศาลฯ เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ และนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนข้อกล่าวหามาตรา 116 ศาลยกฟ้อง
ฝน อลิสา (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมและสมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach
สองมาตรฐาน
อลิสา ในวัย 28 ปี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เธอเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จ.สงขลา ในช่วงปี 2563 เธอทำงานเป็นนักกฎหมายอาสาที่ช่วยเหลือคดีแก่ประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้ประสานงานให้กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อีกบทบาทหนึ่ง อลิสาคิดว่า การที่ถูกดำเนินคดีอาจเป็นเพราะ เธอเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ หรือไม่ก็เป็นเพราะอยู่ในพรรคการเมืองที่ รัฐ "อาจจะมองว่าเป็นภัยกับความมั่นคง"
จากบทบาทนักกิจกรรม และผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การตกเป็นผู้ต้องหาเสียเองเป็นเรื่องที่อลิสาไม่คาดคิด
"มันตกใจอยู่แล้วอันแรก เราทำงานกฎหมายด้วย เราก็คิดว่าเราอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนมาตลอด" อลิสา กล่าว "มันสร้างความกลัวให้เรา เป็นความกลัว และความโกรธด้วย เพราะเราต้องประสานงานในการให้ความช่วยเหลือคดีอื่นด้วย"
กระบวนการต่อสู้คดีมาตรา 112 ที่ จ.พัทลุง ของอลิสา เต็มไปด้วยอุปสรรค ตั้งแต่ชั้นสอบสวน ในการรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในครั้งแรก พนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่ให้สำเนาข้อความที่ถูกระบุว่าผิดมาตรา 112 แก่อลิสาและผู้ถูกกล่าวหาอีก 2 คน
นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 2-3 ครั้ง และเมื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัด การยื่นหนังสือดังกล่าวก็ดูเหมือนไร้ความหมาย เพราะเธอและเพื่อนนักกิจกรรม ถูกอัยการสั่งฟ้องในวันนั้นทันที
"พอเป็นคดีแบบนี้ มันแทบจะไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้สู้เต็มที่ มันดูเหมือนมีอุปสรรค" อลิสา กล่าว
ความแตกต่างของกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มนี้ หากเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวพักโทษ แต่ยังมีคดีมาตรา 112 อีกคดี โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ว่า นายทักษิณ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. และจนถึงวันที่เขาได้รับการพักโทษ
ล่าสุด ความคืบหน้าคดี ม.112 ของนายทักษิณ ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายทักษิณ ได้เดินทางรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ซึ่งท้ายสุด สำนักงานคดีอาญา อสส. ได้ให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกัน 500,000 บาท ตามที่นาย อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด สั่งให้ "สอบสวนเพิ่มเติม" หลังจากนายทักษิณได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรม
"เราจะยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้แค่ไหน"
การที่เยาวชน 17 ปี ได้รับโทษในคดีการเมือง ตลอดจนแนวทางการปฏิเสธการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หลายกรณี ทั้งในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้อลิสารู้สึกกังวล และยอมรับว่าเรื่องนี้ "ส่งผลต่อจิตใจ" ของเธอถึงอนาคตหลังจากนี้
"มันมองไม่เห็นว่ามันจะรอดไหม เพราะเป็นคดีการเมือง... เราจะยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้แค่ไหน" เธอตั้งคำถามพร้อมบอกว่า จากที่ต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม กลับกลายเป็นต้องคาดหวังกับตัวบุคคลที่อยู่ในระบบ
"ความหวังที่เราจะเชื่อมั่นในความกล้าหาญ ทำไมต้องไปขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของผู้บังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรม”
การชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ในช่วงปี 2563-2564
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" นักกิจกรรมรายนี้รู้สึกว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นดูเหมือนจะเข้าสู่ความเป็นสากล ที่คนหนุ่มสาวสามารถพูดออกมาว่า ต้องการอยู่ในประเทศแบบไหนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง
ทว่า การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและแกนนำในข้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุม รวมถึง มาตรา 112 และมาตรา 116 ทำให้อลิสาเชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้ "ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะจัดการคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง"
"มันก็ค่อนข้างชัดว่า ทำไมคดีมันถึงเพิ่มขึ้นขนาดนี้ เราคิดว่ามันโดนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งข้อความพวกนี้ มันไม่ควรมีใครโดนตั้งแต่แรก" เธอกล่าวถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยตำรวจพัทลุง
คำพิพากษาศาลชั้นต้นของคดีที่อลิสาถูกกล่าวหา ออกมาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดยศาลพัทลุง ยกฟ้องให้เธอและเพื่อน แต่หนทางของคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด
คดี 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์
36 ปี คือโทษจำคุกที่ศาลอาญามีนบุรีพิพากษาแก่ "วุฒิ" ช่างเชื่อมชาวเพชรบูรณ์วัย 51 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความในช่วงปี 2564 โดยศาลลดโทษให้เหลือ 18 ปี เพราะให้การรับสารภาพ
คดีนี้ถูกแจ้งความโดย สุรวัชร สังขฤกษ์ แกนนำกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มการเมืองภาคประชาชน"
หญิงวัย 32 ปีที่ชื่อว่า "อาย" กันต์ฤทัย เพิ่งไปรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปและข้อความบนเฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เมื่อปี 2565 เป็นคดี 112 คดีที่สองของเธอ หลังจากถูกแจ้งความเอาผิด จากเหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ก่อนหน้านี้
อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้
นี่เป็นเพียง 2 กรณี ของการดำเนินคดี ม.112 ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองของเดือน ก.พ. 2567
อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. พร้อมหน้าด้วยทีมงานแอดมินของ ศปปส. ที่ทำหน้าที่หาหลักฐานผู้โพสต์ละเมิด ม.112 ตามสื่อสังคมออนไลน์
หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา ในช่วงการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อปี 2563 มีการดำเนินคดี ม.112 ต่อแกนนำ ผู้ชุมนุม และประชาชนทั่วไปแล้ว 263 คน
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่หลังปี 2563 เป็นต้นมา นับเป็นช่วงที่มีคดี 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในปีนี้ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีจากเหตุช่วงปี 2563-2565 เดือนละประมาณ 10 คดี เฉลี่ยแล้วอาจมีคนเดินเข้าสู่เรือนจำ 2-3 คนทุกเดือน เฉพาะเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเดือนเดียว ศาลพิพากษาคดี 112 มากถึง 11 คดี
“ถ้าหากไม่มีการนิรโทษกรรม คนก็จะเดินหน้าเข้าสู่เรือนจำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คิดว่ามันเป็นปัจจัยเร่งเหมือนกันว่าเราต้องทำเรื่องนี้” พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวกับบีบีซีไทย
ไม่เพียงแต่คดีที่กำลังจะตัดสินเท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีการแจ้งความคดี 112 กรณีใหม่ ๆ หลายกรณีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทนายพูนสุข กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม้จำนวนการฟ้องคดีใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมาก แต่คดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วงนี้เกิดจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี แม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่แนวทางการพิพากษาคดี 112 ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ฝ่ายบริหารยังมีกลไกและเครื่องมือหลายอย่างเพื่อบรรเทาสถานการณ์คดีทางการเมือง เช่น การการันตีสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี การไม่สั่งฟ้องในชั้นพนักงานสอบสวน การชะลอสั่งฟ้อง หรือการไม่สั่งฟ้องหรือถอนฟ้องในชั้นอัยการ
“ช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลเพื่อไทยเข้ามา มีคำพิพากษาไปแล้วประมาณ 30 กว่าคดี 90% ลงโทษ ซึ่งจะบอกว่า เปลี่ยนรัฐบาลแล้วสถานการณ์ดีขึ้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเพราะว่ายังมีคนที่ถูกดำเนินคดีอยู่ ยังมีคนที่เดินหน้าเข้าเรือนจำอยู่ ความจริงแล้ว ต่อให้ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเลย รัฐยังมีเครื่องมือยังมีกลไกในทางบริหารที่จะช่วยจัดการคดีได้บางส่วน”
สถิติคดีการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2549-14 ก.พ.2567
- จำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง 40 คน (เป็นทั้งคดีที่สิ้นสุดแล้วและคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นต่าง ๆ)
- จำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2563 มี 263 คน
- จำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 มี 5,027 คน
- จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึง 30 ม.ค. 2567 มี 1,947 คน
- จำคุก 50 ปี คือโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาจำคุก มงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ใน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ในความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564
- 325 วันเป็นอย่างน้อย คือระยะเวลาที่ "ถิรนัย" และ "ชัยพร" ผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี
- กว่า 100 คดี คือจำนวนคดี ม.112 ที่แจ้งความโดยประชาชนกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ศปปส.
ที่มา: พูนสุข พูนสุขเจริญ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คำให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยของนายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส.
ทำไมต้องตอนนี้
หากย้อนไปในปี 2557 การผลักดันนิรโทษกรรม “สุดซอย” ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นชนวนที่ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ในการผลักดันนิรโทษกรรมรอบนี้ คดี ม.112 ได้กลายเป็นเงื่อนปมใหม่
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจำนวน 4 ฉบับ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ได้แก่ ร่างฯ จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.), พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และร่างฯ ของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 35,905 รายชื่อ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณา
ในจำนวนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 4 ฉบับ มีร่างฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ระบุในร่างกฎหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112 ในการเปิดสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ยังมีการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรครัฐบาล ได้แก่ เพื่อไทย (พท.), ภูมิใจไทย (ภท.) และพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่คัดค้านนิรโทษกรรมให้กับคดี ม.112
ขณะที่จุดร่วมที่ใกล้เคียงกันของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ คือการเริ่มนิรโทษกรรมให้กับคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ร่างฯ ของ รทสช. ย้อนนิรโทษกรรมไปตั้งแต่ช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548
ทนายพูนสุข กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีส่วนผสมของพลเรือนมากขึ้น คู่ขัดแย้งทางการเมืองก็จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันได้แล้ว อีกทั้งกลุ่มการเมือง "เหลือง-แดง" ก็ยังมีคดีทางการเมืองอยู่ทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันการนิรโทษกรรมก็เป็นความต้องการร่วมกันของคู่ขัดแย้งทางการเมือง
"แม้กระทั่งคุณทักษิณ (ชินวัตร) เอง ก็ได้รับการอภัยโทษแล้วก็กลับมาอยู่ในประเทศไทยแล้ว มันควรจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากลับมาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะได้แล้ว" พูนสุข กล่าวกับบีบีซีไทย และเห็นว่า การนิรโทษจะเป็นก้าวแรกในการคลี่คลายความขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จำนวน 35 คน ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอ โดยกำหนดกรอบเวลาทำงานไว้ 60 วัน
คดีการเมืองที่รวมอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ครอบคลุมคดีทางการเมืองช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสนับสนุนพรรค พท. ด้วย
แม้บางเสียงออกมาบอกว่า กลุ่มคนเสื้อแดงต่างรับโทษไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ทนายพูนสุขชี้ว่า แม้รับโทษจากเรือนจำแล้ว กลุ่มคนที่ต้องคดีทางการเมือง ยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัว ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจากเครือข่ายประชาชน จึงเสนอมาตรการเยียวยาบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีทางการเมืองไว้ด้วย เช่นการลบประวัติอาชญากรรม
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกล กับผลกระทบต่อคดี 112
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรค ก.ก. "ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และสั่งให้ "เลิกการกระทำ"
นอกจากสาระสำคัญที่กระทบต่อพรรคก้าวไกล ข้างต้นแล้ว รายละเอียดของคำวินิจฉัยอื่น ๆ ยังชี้ถึงเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เกี่ยวกับ ม.112 ตลอดจนคำวินิจฉัยที่กล่าวถึงพฤติการณ์การเป็นนายประกันให้กับผู้ถูกกล่าวหาคดี ม.112 ส่งผลต่อคดี ม.112 ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
ทนายพูนสุข ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า ในทางการต่อสู้คดี ไม่ได้แตกต่างจากเดิม เพราะมีความยากลำบากอยู่แล้วด้วยสถานะของความเป็นคดี 112 ทั้งในกระบวนการพิสูจน์ความจริง สิทธิการประกันตัว หรือการขอหมายเรียกในการเรียกเอกสารหรือพยาน
ทว่า เธอเห็นว่า คำวินิจฉัยบางส่วนอาจกระทบต่อโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา โดยพูนสุข มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำพฤติการณ์ของนักการเมืองที่มาเป็นนายประกันในคดี ม.112 มาประกอบคำวินิจฉัย โดยชี้ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองฯ เป็นคำวินิจฉัย "ที่รุนแรงมาก"
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ว่าคดี ม.112 ในระยะหลังเป็นการกล่าวหาต่อการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์
พูนสุขชี้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสิทธิการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ในกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถพูดได้ว่าบุคคลที่มาประกันตัวเห็นด้วยกับจำเลย หน้าที่เพียงประการเดียวของนายประกัน คือการประกันว่าบุคคลที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย จะไม่หลบหนีจนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา
เธอกล่าวด้วยว่า แม้แต่ทนายความเองที่เป็นทนายให้กับจำเลย ก็ไม่ได้หมายความว่า ทนายความมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับลูกความ ผลร้ายที่จะเป็นไปได้มากที่สุดของนายประกัน คืออาจจะสูญเสียหลักทรัพย์หรือเงินประกัน หรือต้องจ่ายเงินกรณีที่ใช้ตำแหน่งประกันตัว
นอกจากนี้ แม้กรณีที่จำเลยถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องเข้าสู่เรือนจำ นายประกันไม่ต้องรับผิดรับโทษแต่อย่างใด เพราะได้ทำหน้าที่เป็นนายประกันจนจำเลยอยู่ในกระบวนการจนสิ้นสุด
"ในอนาคตใครล่ะ จะกล้าเข้ามาเป็นนายประกัน ถ้าศาลวินิจฉัยโดยการตีความกว้างขวางลักษณะนี้ นั่นอาจส่งผลทำให้คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งยากโดยตัวคดีอยู่แล้ว ได้รับโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมน้อยลงไปอีก"
ส่วนคำวินิจฉัยจะยิ่งเป็นการ "รับรอง" การแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่นั้น ทนายพูนสุขชี้ว่า จำนวนคดีอาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับตัวคำวินิจฉัยเท่าใดนัก และคำวินิจฉัยผูกพันเฉพาะตัวคู่ความ คือ พิธา พรรค ก.ก. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ผูกพันบุคคลอื่น
ความเห็นต่างปมสถาบันกษัตริย์กับการนิรโทษกรรมคดีการเมือง
จากเหตุการณ์ที่นักกิจกรรมกลุ่ม "ทะลุวัง" บีบแตรและโต้ตอบทางวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปิดกั้นถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ตามมาด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างนักกิจกรรมทะลุวัง และกลุ่ม ศปปส. ในวันที่ 10 ก.พ. ทำให้ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอญัตติด่วนในสภา เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ
ทว่าสิ่งที่ถูกนำมาหารือนั้น ไปไกลกว่ามาตรการถวายความปลอดภัย เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายในสภาว่า "เมื่อเกิดเหตุขบวนเสด็จฯ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ยิ่งไม่ควรนิรโทษกรรมความผิดมาตรานี้"
การพิจารณาญัตติด่วนสิ้นสุดลง โดยที่ประชุมมีมติให้นำญัตติดังกล่าวให้รัฐบาลและคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง แสดงหมายจับ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในข้อหา ม.116 - พ.ร.บ.คอมฯ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ารบกวนขบวนเสด็จฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง แสดงหมายจับ สายน้ำ ในคดีพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กรณีของขบวนเสด็จฯ อาจทำให้เกิดกระแสตีกลับต่อการรรณรงค์การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 และกระทบไปยังการณรงค์การแก้ไขตัว ม.112 เอง หรือรัฐธรรมนูญ ที่มีความเห็นต่างเรื่องการแก้หรือไม่แก้ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
"ทั้งนิรโทษกรรม แก้ ม.112 และรัฐธรรมนูญ มันเกิดแรงต้านขึ้นอย่างมากทั้งในฝ่ายการเมือง... ส่วนในสังคมวงกว้าง มันเกิดการขัดแย้ง เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น" นายสุณัย กล่าวกับบีบีซีไทย
พูนสุข กล่าวกับบีบีซีไทยถึงสารที่ต้องการส่งไปยังสภาว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของภาคประชาชนเป็น "ข้อเสนอขั้นต่ำที่สุด" ที่คู่ขัดแย้งหรือฝ่ายที่เห็นต่างจะเห็นร่วมกันได้ เพราะการนิรโทษกรรมคดีการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะ ม.112 ไม่ได้เป็นข้อเสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่อย่างใด
"การกระทบกระเทือนต่ออำนาจ ต่อสถานะของสถาบันฯ ที่ฝั่งอนุรักษนิยมกังวล ไม่ได้กระทบกระเทือนเลย ในทางตรงกันข้าม การสร้างปลดล็อกพันธนาการ จะทำให้ประชาชนกลับคืนสู่ความปกติด้วยซ้ำ แล้วก็เป็นผลดีกับกับฝั่งอนุรักษนิยมเองที่สถานการณ์จะคลี่คลายลง" พูนสุข กล่าว
ทนายความสิทธิฯ กล่าวด้วยว่า ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมคดี ม.112 หรือนิรโทษกรรมไปโดยไม่รวมมาตรา 112 สุดท้ายแล้ว เป้าหมายการนิรโทษกรรมเพื่อการปรองดองไม่ได้บรรลุผล เพราะคดี 112 "เป็นปัญหาก้อนใหญ่" ของการเมืองไทยในขณะนี้
"การไม่ยอมรับแล้วจัดการไปแบบพอไปที โดยที่ทิ้งไว้บางส่วน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ด้วย จะทำให้ปัญหาไม่จบ แล้วในอนาคตคุณต้องมาแก้ไขปัญหาที่มันใหญ่ขึ้นก็เป็นไปได้" พูนสุข กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/ceqj4wdee26o