วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 01, 2567
ก้าวไกล เผย เดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดี 112
Thailand Vision
8h·
วันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงความเห็นของพรรคหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในคดีใช้นโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หาเสียง ของพรรคก้าวไกล และมีคำตัดสินว่า พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และสั่งยุติการกระทำ ซึ่งมีนายพิธา แถลงเป็นภาษาอังกฤษ และนายชัยธวัช แถลงเป็นภาษาไทย
.
โดยผู้สื่อข่าวถามว่า หากหลังจากนี้ อาจมีคนนำเรื่องไปร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ทางพรรคได้เตรียมการไว้อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้พรรคคงต้องรอคำวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง แต่แน่นอนว่าไม่สามารถประมาทได้ในทางกฎหมาย
.
ส่วนกังวลว่าพรรคจะถูกยุบซ้ำรอยกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ถึงตรงนั้น แต่อย่างที่เรียนว่า ขั้นตอนต่อไปเราคงต้องรอเอกสารคำวินิจฉัยที่สมบูรณ์ เพื่อเตรียมรับมือในทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
.
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการลงชื่อแก้ไข ม.112 จาก สส.ของพรรค ทั้ง 44 คน ยอมรับว่ามีจริงใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาที่เรากังวลต่อคำวินิจฉัย ว่าทำให้เกิดความไม่ชัดเจนแน่นอนในหลักเกณฑ์ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมถึงเจตนา
.
ยกตัวอย่างเช่น การบอกว่ามี สส. ของพรรคก้าวไกลไปประกันตัวให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาคดี 112 ถือว่าเป็นองค์ประกอบ เพื่อบอกว่าเรามีเจตนาล้มล้างการปกครอง ดังนั้น ก็จะมีปัญหา เท่ากับว่าตามหลักเกณฑ์ ตามกฎหมาย ซึ่งรับรองรัฐธรรมนูญที่บอกว่า หลักต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกกล่าวหาในข้อหาอะไร อย่างนี้ทำให้ขัดกัน และการประกันตัวผู้ต้องหา หรือผู้ที่ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะข้อหาใด เป็นการใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลทุกคน ไม่มีการยกเว้น ว่าถูกแจ้งด้วยข้อหานี้ ห้ามประกันตัว หรือใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่ามีความผิดไปด้วย
.
“คำถามคือ ผู้พิพากษาที่วินิจฉัยให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา ในการกระทำผิดมาตรา 112 ถือว่า เป็นผู้เข้าร่วมกระบวนการล้มล้างการปกครองไปด้วยหรือไม่” นายชัยธวัช กล่าว
.
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เราจึงมีความกังวล ว่าอาจส่งผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ในการตีความ ความชัดเจนแน่นอนในการใช้กฎหมาย และเราไม่รู้ ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ นำมาร้อยกันในการตีความโดยเจตนา แล้วแต่ใครจะตีความได้เลย ก็อาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งขอบเขตหรือหลักเกณฑ์แน่นอน ในการระบุว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรคือการล้มล้างไม่ล้มล้าง นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
.
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีปัญหาในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง คือ 1.คำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหมายความว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลต้องห้ามพูดเรื่อง มาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง หรือไม่ อย่างไร พูดได้อย่างเดียว คือให้มีการสนับสนุนเพิ่มโทษหรืออย่างไร ยังไม่นับประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นต่อ มาตรา 112 ได้หรือไม่ หรือแสดงแบบใดแล้วผิด การเสนอแก้ไขอาจจะถูกตีความ ว่ามีเจรจานำไปสู่วาระซ่อนเร้นต้องการให้ยกเลิก ถือเป็นการล้มล้างหรือไม่
.
ในรายงานที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ สส.ของพรรคก้าวไกลนำมาใช้ในการเสนอแก้ไข หากยึดตามคำวินิจฉัยนี้ ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ล้มล้างการปกครองด้วย เพราะเคยมีการเสนอให้มีการลดโทษ และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แทนที่จะเปิดให้ใครก็ได้ดำเนินคดีกัน
.
2.คำสั่งไม่ให้ศาลสั่งให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีของศาลอาญา ตรงนี้ก็ไม่แน่ใจ ว่าหมายความว่าอย่างไร ซึ่งคงต้องไปดูในรายละเอียด ว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหา ในการเสนอกฎหมาย ศาลสามารถวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการตามขั้นตอน ซึ่งจะกระทบต่อปัญหาในอนาคต เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไป
.
เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลระบุถึงรายชื่อ สส.ของพรรค รวมถึง สส.พรรคอนาคตใหม่ ทั้ง 44 คนนั้น พรรคได้มีการประเมินและเตรียมไว้หรือไม่ ว่าอาจจะถูกลงโทษร้ายแรง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แน่นอนว่าการเมืองใดๆ หลังจากนี้ ที่เกินสมควร ยืนยันว่า จะทำให้ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลมีเจตนาที่จะยุติ และลดการนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย
.
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของ สส.พรรคก้าวไกล ก็เสนอด้วยเจตนาเช่นนี้ เจตนาที่ไม่ทำให้มาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่เปิดช่องให้ใครผูกขาดความจงรักภักดีไว้กับตัวเอง และอาศัยความจงรักภักดีนั้น เสาะหาผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างปฎิเสธไม่ได้ ว่าเป็นส่วนสำคัญ เรายืนยันว่า เราไม่ได้มีเจตนาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
.
ส่วนความคิดเห็นในกรณีที่พรรคการเมืองอื่น ก็มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเช่นกันนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า การวินิจฉัยว่านโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นการลดสถานะของพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง ให้มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง คำถามคือพรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียง ว่าตัวเองเป็นผู้จงรักภักดี หรือโจมตีพรรคอื่น ว่าไม่เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หรือมีการขึ้นรูปพระราชวงศ์ในเวทีหาเสียง ถือว่าเป็นการลดทอน และเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่
.
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยในวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเสนอกฎหมายฉบับอื่นด้วยหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวยอมรับว่า สิ่งนี้เป็นความน่ากังวล เนื่องจากการตีความที่ดูเหมือนไม่มีขอบเขตในหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน อาจจะถูกตีความ ว่าแม้กระทั่งกรณีนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดี หรือผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 มีนัยยะซ่อนเร้นล้มล้างการปกครองก็ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่ได้กระทบต่อการปกครองหรือล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
.
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ตามบทบัญญัติกฎหมาย มีการละเว้นในส่วนความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึง พ.ศ. 2499 มีบทยกเว้นความผิดในบทนี้ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาใด แต่ปัจจุบันถูกวินิจฉัย ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อนาคตก็ไม่รู้จะมีคำวินิจฉัยแบบไหนอีก เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ทำให้ความเข้าใจในการให้ความหมายร่วมกันนั้น ไม่มีความชัดเจนแน่นอน และอาจทำให้เกิดปัญหา
.
ส่วนจะมีโอกาสถอย มาตรา 112 ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายส่งไปแล้ว เป็นเรื่องของสภา คิดว่าสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะเป็นข้อยุติที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้
.
เมื่อถามถึงการเตรียมการในกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จะเดินทางไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคนั้น นายชัยธวัช และนายพิธา ประสานเสียงพร้อมกันว่า เดี๋ยวดูคำร้อง
.
นายพิธา กล่าวย้ำยืนยันเจตนาว่ามีความบริสุทธิ์ใจไม่มีวาระซ่อนเร้นแต่อย่างใด และไม่มีความตั้งใจที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความมั่นคงแห่งชาติในลักษณะแบบนั้น
.
ส่วนความกังวล 2-3 เรื่องนั้น คือความกังวลในนิยามของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความกังวลในเรื่องขอบเขตระหว่างนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และความกังวลเรื่องเกี่ยวกับการวินิจฉัยด้วยอะไรที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงเยอะ ที่อาจจะมีเรื่องเจตนา การจินตนาการต่างๆ นาๆ ถ้าลงรายละเอียดไป ก็จะเป็นเรื่องสำคัญๆ ทางนิติรัฐ นิติธรรม
.
เช่น การสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน สิทธิในการเข้าถึงการประกันตัว สิทธิรวมตัว เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคม ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของตนเองคนเดียว ไม่ใช่เรื่องชะตากรรมของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว เป็นเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเสียดาย เรามีโอกาสที่จะออกจากความขัดแย้ง ที่อาจมีคนนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในความขัดแย้ง แล้วใช้รัฐสภานี้ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาดความคิดได้ ว่าควรจะเป็นลักษณะไหน แล้วหานิยามร่วมกัน ตอนนี้ก็เป็นนิยามที่ออกมาจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นสิ่งที่จะต้องดูรายละเอียด แล้วกลับมาหาด้วยกันอีกที เพื่อเดินหน้ากันต่อ
.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายสีหเดช ไกรคุปต์ พี่ชายของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายพิธาด้วย แต่ขณะนี้ได้ย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแล้ว
.
จากนั้นเวลา 17.55 น. นายพิธา ได้ลงมาพบกับกลุ่มมวลชน ซึ่งเมื่อนายพิธาเดินทางมาถึงห้องโถงชั้นหนึ่ง กลุ่มมวลชนได้ตะโกนว่า “นายกฯ พิธา นายกฯ ของประชาชน ไม่ว่าเขาจะแขวนคุณไว้ตรงไหนเราก็รักและศรัทธาคุณ” โดยนายพิธาได้เซ็นหมวกและรูปให้กับกลุ่มมวลชน
.
พร้อมกล่าวว่า “ยังคงมุ่งมั่นทำให้ประชาชน และทุกสถานการณ์ยังมีแนวทางแก้ไข กำลังใจยังดี ค่อยๆ แก้ปัญหากันไป หากไม่มีสติก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้”
-------------------------------
แหล่งข่าว
(https://www.thaipost.net/politics-news/526912/)