ภาคประชาชนพร้อมเลือกตั้ง! เปิดตัว vote62 แพลตฟอร์มรายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ทวนปัญหาเลือกตั้ง 62 ผลคะแนนพลิกไปมา ตรวจสอบไม่ได้ ชวนประชาชนร่วมกันรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง 2566 แบบ Crowdsourcing พร้อมเปิดข้อมูลตั้งแต่ระดับหน่วยเลือกตั้งเป็น open data เสริมด้วยฐานข้อมูลแคนดิเดต ส.ส. เพื่อช่วยตัดสินใจและมองภูมิทัศน์การเมืองไทยได้กว้างขึ้น
.
18 มี.ค. 2566 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ vote62 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง opendream และองค์กรภาคี ได้แก่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) องค์กรที่จับตาด้านกฎหมายและนโยบายของไทย และ Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญหาอาสาสมัครจับตาและรายงานผลการเลือกตั้ง 100,000+ คนทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ vote62.com แพลตฟอร์มรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์
#vote62 #เลือกตั้ง66
สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงซึ่งเต็มไปด้วยกติกาและกฎหมายใหม่ๆ มากมาย iLaw จึงได้จัดทำคู่มือเลือกตั้ง'66 ใช้ชื่อว่า "เรียนรู้จากอดีต กาเพื่ออนาคต" โดยบรรจุเนื้อหาสำคัญ ทั้ง ระบบเลือกตั้งใหม่ ที่จะใช้ในปี 2566 กติกาการใช้สิทธิของประชาชนที่ปรับปรุงใหม่ นอกจากนี้ในคู่มือการเลือกตั้งฉบับนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการเสนอกฎหมายและลงมติของ ส.ส. ในสภาชุดปี 62-66 ข้อมูลและจุดยืนพรรคการเมือง ที่ลงสนามเลือกตั้งรอบนี้ รวมไปถึงปัญหาและอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า หลังการเลือกตั้ง และสิ่งที่ประชาชนสามารถลงมือทำได้ และวิธีการที่จะเกิดขึ้นได้จริง โดยทางตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่า
“เราอยากให้คู่มือเลือกตั้ง'66 ฉบับเต็ม เต็มไปด้วยภาพการ์ตูน และอินโฟกราฟิก ถูกแจกจ่ายไปถึงมือของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด ตั้งเป้าอยากจัดพิมพ์และจัดส่งไปถึงมือของประชาชนให้ได้อย่างน้อย 100,000 เล่ม ก่อนวันเลือกตั้งจริง ซึ่งลำพังเพียง iLaw และองค์กรเครือข่ายไม่สามารถทำได้เป็นจำนวนมากหรือกว้างขวางมากนัก จึงต้องการให้ทุกคนช่วยกันทำภารกิจนี้”
โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือฯ ได้ที่ https://ilaw.or.th/.../files/Election_Guidebook_Online.pdf
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab เล่าว่า อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ ข้อมูลทางการเมือง โดย Rocket Media Lab ได้จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 แบ่งกลุ่มผู้สมัคร ส.ส. ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม ทั้งอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. 2. ผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรค ทั้งอดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งทั้งสองหมวดนี้จะสืบค้นลงไปจนถึงอย่างน้อยปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการแยก ส.ส. เป็น 2 ระบบ คือแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต อันเป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และกลุ่มที่ 3 คือ ผู้สมัครหน้าใหม่ ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน โดยในกลุ่มนี้ เรามีข้อมูลประวัติและข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครหน้าใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ แต่มีประวัติทางการเมืองเป็นมาอย่างไร เช่น เป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการมืองระดับประเทศ เครือญาตินักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับประเทศ เป็นนักธุรกิจ หรือเคยทำงานการเมืองอื่นๆ มาก่อน โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำเสนอในรูปแบบแผนที่อินเตอร์แอคทีฟ สามารถเลือกดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. แบบรายจังหวัดซึ่งจะปรากฏชื่อ เขต เบอร์ พร้อมข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ Rocket Media Lab ยังจะจัดทำบทวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ประกอบฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. ในครั้งนี้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแยกประเภทของผู้สมัคร ส.ส. แบบรายพรรค ว่าแต่ละพรรคมีผู้สมัคร ส.ส. มาจากไหน พรรคเดิม ย้ายพรรค หรือหน้าใหม่ เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และจะแยกให้เห็นข้อมูลที่ละเอียดลงไปอีกว่า ในส่วนของการย้ายพรรค ย้ายมาจากพรรคไหนบ้าง เป็นอดีต ส.ส. ย้ายพรรคจำนวนเท่าไร หรือเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ย้ายพรรคจำนวนเท่าไร และในกลุ่มของผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ ซึ่งก็จะมีการแยกรายละเอียดให้เห็นเช่นกัน โดยในตอนนี้ Rocket Media Lab ได้เปิดรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ 1,000 คนแรกทั่วประเทศจากหลายพรรคการเมืองให้ได้ทดลองใช้กันดูแล้วทาง https://demothailand.rocketmedialab.co
“Rocket Media Lab หวังว่าฐานข้อมูลชุดนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้เห็นภูมิทัศน์ทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งประเทศ จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนแคมเปญการเลือกตั้งครั้งนี้ และเป็นประโยน์ต่อสื่อมวลชนในการรายงานข่าวและต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ในการตัดสินใจเลือก ส.ส. ในเขตของตนเอง” สันติชัย กล่าว
จากนั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw พาเราย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งปี 2562 ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการรายงานผลคะแนนที่รายงานผ่านสื่อสารมวลชน ที่ไม่ใช่การรายงานคะแนน ‘สด’ ตรงจากคูหาเลือกตั้ง แต่เป็นคะแนนที่ผ่านตัวกลางมาแล้วหลายมือ มีการแก้ไข ‘จัดการคะแนน’ มาก่อนจนเป็นที่พอใจแล้วจึงส่งคะแนนให้กับสื่อมวลชนและประชาชน จึงทำให้การรายงานคะแนนเป็นไปอย่างล่าช้า มีผลพลิกกลับไปกลับมา จนคนลุ้นผลงงไปตามๆ กัน
“ภาพที่ผลการเลือกตั้งพลิก ‘ขึ้นๆ ลงๆ’ จนดึกดื่น เป็นเพียงภาพจำของคนที่ติดตามเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ ส่วนเบื้องหลังนั้นเกิดปรากฏการณ์ที่วุ่นวายสับสนมาก เช่น คะแนนที่รายงานเกือบทั้งประเทศเป็นแค่ของผู้สมัครที่ได้สามอันดับแรกของแต่ละเขตเท่านั้น อันดับอื่นไม่มีคะแนนเข้าระบบ, คะแนนของหกจังหวัดภาคใต้ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล ตรัง พัทลุง ไม่ถูกรายงานสดเลยจนเช้าของวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งคืนมีผู้สมัครที่คะแนนถูกปรับ ‘ลดลง’ มากกว่า 3,900 คน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด ฯลฯ
“พอมาถึงปี 2566 กกต. ก็ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดหรือป้องกันความผิดพลาดได้ และยังไม่มีความชัดเจนว่า จะใช้ระบบการรายงานคะแนนด้วยวิธีใด จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการรายงานผลคะแนนที่เกิดขึ้น และหลายฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่า เราจะต้องลุกขึ้นมาทำกันเอง ต้องระดมอาสาสมัครให้ได้กว่า 100,000 คน เพื่อไปยังหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศ ไปเฝ้าดูการทำงานของ กกต. ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน และรายงานผลคะแนนกันเอง ถ้าทุกคนที่เห็นปัญหาช่วยกันลงมือทำ เราจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้ ที่การรายงานคะแนนเกิดโดยประชาชนคนธรรมดา โปร่งใส ตรวจสอบย้อนหลังได้” ยิ่งชีพ กล่าว
ส่วนสำคัญในแคมเปญครั้งนี้ก็คือ แพลตฟอร์ม vote62 ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้อาสาสมัครทั่วประเทศรายงานผลคะแนนการนับคะแนนจากหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศเข้ามาและจะแสดงผลการเลือกตั้งในแบบเรียลไทม์ให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นไปพร้อมๆ กัน
vote62 คือ ระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบคราวด์ซอร์ส (Crowdsourcing) โดยให้ประชาชนช่วยกันถ่ายภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วในคูหาเลือกตั้ง แล้วส่งเข้ามาในระบบของ vote62 เพื่อเป็นข้อมูลตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการรวมคะแนนจาก กกต. โดยชื่อของ vote62 มาจากการเริ่มทำระบบอาสาสมัครรายงานผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 จากนั้น vote62 ก็ทำงานจับตาการเลือกตั้งและรายงานผลการเลือกตั้งเรื่อยมา ทั้งการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นเขต 7 (22 ธ.ค. 2562), เลือกตั้งซ่อมกำแพงเพชรเขต 4 (23 ก.พ. 2563), เลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการเขต 5 (9 ส.ค. 2563), เลือกตั้งซ่อมลำปางเขต 4 (10 ก.ค. 2565), เลือกตั้งนายก อบจ. (20 ธ.ค. 2563), และล่าสุด เลือกตั้ง กทม. [ผู้ว่า + ส.ก.] (22 พ.ค. 2565)
และการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ vote62 พร้อมที่จะจับตาและรายงานผลการเลือกตั้ง
vote62 คือ ระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบคราวด์ซอร์ส (Crowdsourcing) โดยให้ประชาชนช่วยกันถ่ายภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วในคูหาเลือกตั้ง แล้วส่งเข้ามาในระบบของ vote62 เพื่อเป็นข้อมูลตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการรวมคะแนนจาก กกต. โดยชื่อของ vote62 มาจากการเริ่มทำระบบอาสาสมัครรายงานผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 จากนั้น vote62 ก็ทำงานจับตาการเลือกตั้งและรายงานผลการเลือกตั้งเรื่อยมา ทั้งการเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นเขต 7 (22 ธ.ค. 2562), เลือกตั้งซ่อมกำแพงเพชรเขต 4 (23 ก.พ. 2563), เลือกตั้งซ่อมสมุทรปราการเขต 5 (9 ส.ค. 2563), เลือกตั้งซ่อมลำปางเขต 4 (10 ก.ค. 2565), เลือกตั้งนายก อบจ. (20 ธ.ค. 2563), และล่าสุด เลือกตั้ง กทม. [ผู้ว่า + ส.ก.] (22 พ.ค. 2565)
และการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ vote62 พร้อมที่จะจับตาและรายงานผลการเลือกตั้ง
ฉัตรชัย ทุติยานนท์ UI designer ของ Opendream เล่าถึงฟีเจอร์ของ vote62 ในการเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ว่า แบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนของการรายงานผลคะแนน ซึ่งประชาชนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งสามารถส่งภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วมาที่ vote62.com เพื่อให้อาสาร่วมกรอกคะแนนจากภาพ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปใช้ในการรายงานผลแบบเรียลไทม์ และเป็นข้อมูลในการตรวจสอบการทำงานของ กกต. หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นเปรียบเทียบกับผลการนับคะแนนของ กกต.
ส่วนที่สอง คือ แบบฟอร์มรายงานสถานการณ์ ซึ่งแบ่งออกเป็นสถานการณ์ในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันเลือกตั้งหลังปิดหีบ ฟีเจอร์ส่วนนี้เกิดขึ้นมาเพื่อบันทึกข้อสังเกตที่น่าสนใจในวันเลือกตั้ง โดยมีตัวอย่างจากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดปัญหา เช่น มีการแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ทั้งนี้ หวังว่าเมื่อมีการเก็บข้อมูลและรายงานต่อสาธารณะ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้
“vote62 ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย มากกว่าการใช้เวลาไม่กี่นาทีในคูหาเลือกตั้ง โดยให้ทุกคนสามารถร่วมกันรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (Crowdsourcing) และข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ระดับหน่วยเลือกตั้งจะเป็น Open Data ที่ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งหมด” ฉัตรชัยกล่าว
โดยผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถเป็นอสาสามัครในแคมเปญนี้ได้ สามารถติดตามความคืบหน้าได้ที่ vote62.com โซเชียลมีเดียในชื่อ vote62th ทุกช่องทาง หรือแอดไลน์ @ vote62 เพื่อรอรับข่าวสารและการประสานงานจากทีมงาน
นอกจากการบอกเล่าถึงรายละเอียดแคมเปญต่างๆ ของ vote62 แล้ว ในช่วงท้ายของงานยังมีกิจกรรมจำลองเหตุการณ์การรายงานผลการเลือกตั้ง โดยให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองใช้เว็บไซต์ vote62.com ในการรายงานผลคะแนนเข้าสู่ระบบ เริ่มต้นจากถ่ายภาพกระดานนับคะแนน อัปโหลดเข้าสู่ระบบ กรอกคะแนน และส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ vote62.com