วันพุธ, มีนาคม 22, 2566

Cs-137 หลุดออกมาเราควรทำตัวยังไงดี ??


Chanin Promyu
Yesterday
#ปราจีนบุรี #ซีเซียม137
คิดว่าจะปิดตัวเองจากเฟซได้นานกว่านี้นะ แต่อยากออกมาพูดหน่อย
Cs-137 หลุดออกมาเราควรทำตัวยังไงดี ?? เอา FACT มาพูดกันนะ ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว
Q : เราจะตายกันหมดไหม ได้ข่าวมาว่าฝุ่นมันกระจายได้เป็น 100 - 1,000 กิโลเมตร เลย ประเทศไทยจะกลายเป็น chernobyl 2 ไหม
A : ก่อนอื่น ตั้งสติ ! Cs-137 ที่หายไปมีค่ากัมมันตภาพอยู่ที่ประมาณ 40 mCi ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับค่ากัมมันตภาพของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จากเหตุการณ์ chernobyl แน่นอน (ค่ากัมมันตภาพอยู่ที่หลัก ล้านCi) และ ปัจจัยที่ทำให้ chernobyl มันกระจายไปขนาดนั้น เพราะมีการระเบิดของอาคารเก็บเชื้อเพลิง ทำให้ไม่มีอะไรปกคลุมอาคาร ฝุ่นจึงสามารถกระจายไปตามลมได้โดยง่าย แต่อุบัติเหตุ Cs-137 ในครั้งนี้เกิดการหลอมเข้ากับเหล็ก ซึ่ง Cs-137 ที่มีจุดเดือดต่ำกว่าจุดหลอมเหลวของเหล็ก จะระเหยกลายเป็นไอแล้วไปเกาะอยู่ตามผนังของเตาหลอม และ ผิวหน้าของน้ำเหล็ก (มีส่วนน้อยมากที่จะผสมไปกับน้ำเหล็ก) สุดท้ายพอกระบวนการหลอมเสร็จสิ้น Cs-137 ก็จะเกาะติดไปกับฝุ่นที่อยู่บริเวณโดยรอบเตาหลอมภายในอาคาร ไม่ได้ถูกแรงดันจากระเบิด ดันให้ฟุ้งกระจายไปโดยรอบโรงหลอม
Q : อ้าว! แล้วอย่างนี้เวลาระบายอากาศทางปล่องควัน ฝุ่นก็ต้องกระจายออกไปกับอากาศสิ
A : ปกติโรงงานหลอมเหล็กพวกนี้จะมีฟิลเตอร์คอยกรองฝุ่นอยู่ ตามมาตรฐานการควบคุมมลพิษ โอกาสที่ฝุ่นจะฟุ้งออกจากโรงงานมีน้อยมาก ดังนั้น พื้นที่ที่ปนเปื้อนฝุ่น Cs-137 โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริเวณในอาคารโรงงานเท่านั้น ซึ่งตามรายงานในปัจจุบันก็ยังตรวจวัดปริมาณรังสีบริเวณโดยรอบโรงงานไม่พบ (ถ้าจะมีหลุดมาก็น้อยมาก จนค่ากัมมันตรังสีแทบไม่เป็นอันตราย)
Q : เขาว่าอยู่ใกล้ เกิน 5-10 เมตร ผิวหนังจะไหม้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง บลา ๆ ?
A : Cs-137 ที่หายไป มีอัตราการแผ่รังสีที่ระยะ 180 เซนติเมตร อยู่ที่ 0.01 มิลลิซีเวิร์ต ต่อ ชั่วโมง เทียบกับปริมาณรังสีที่อนุญาติให้ผู้ปฎิบัติการทางรังสีได้รับอยู่ที่ไม่เกิน 50 มิลลิซีเวิร์ต ต่อ ปี เท่ากับ เราต้องอยู่ใกล้กับ Cs-137 ที่หายไป (ต้องเป็นทั้งก้อนด้วยนะ) ในระยะ 2 เมตร อย่างน้อย 5,000 ชั่วโมง ถึงจะได้รับปริมาณรังสีเท่ากับที่อนุญาติให้ผู้ปฎิบัติงานทางรังสีรับได้ใน 1 ปี (ซึ่งยังห่างไกลกับค่าที่ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลันจากรังสีเยอะมาก) ซึ่งคงไม่มีใครอยากเข้าใกล้อะไรพวกนี้เกิน 5 เมตร แน่นอน แล้วถามว่า แล้วเลข 5 - 10 เมตร มันมาจากไหน คืออาการพวกนี้มันสามารถเกิดได้ ถ้าระดับกัมมันตภาพรังสีรุนแรงพอ (ระดับ Ci) แต่ไม่ใช่กับ Cs-137 ตัวนี้แน่ ๆ ถ้าคนทั่วไปจะได้รับรังสีจากเหตุการณ์นี้ ก็อาจมาจากฝุ่นที่หลุดรอดออกมาจากโรงงาน ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก ๆ ของปริมาณ Cs-137 ทั้งหมด ความรุนแรงก็จะลดน้อยลงไปอีก
คนที่ได้รับผลกระทบทางตรงแน่ ๆ คือ คนงานที่อยู่ในโรงงานหลอมเหล็กที่ทำงานใกล้ชิดกับ Cs-137 ต้องเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพ ซึ่งทางสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ น่าจะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลต่าง ๆ แล้ว (ผลตรวจเลือด ปัสสาวะ) น่าจะรอผลตรวจกันอยู่ ก็ต้องรอฟังข่าวกันต่อไป
Q : แบบนี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลเลยหรอ ?
A : เคสที่น่าจะน่าเป็นห่วงสุด ก็คือเกิดฝนตกบริเวณโรงงาน มีโอกาสที่ Cs-137 ที่ละลายน้ำได้ดี จะหลุดออกมาปนกับน้ำได้ แต่คิดว่าปริมาณของสารที่ออกมาก็น่าจะอยู่ในขอบข่ายที่ควบคุมได้
Q : เรื่องนี้มีคนต้องรับผิดชอบไหม ?
A : เรื่องนี้ต้องมีการสืบหาสาเหตุกันแน่นอน ตั้งแต่คนที่นำสารออกจากพื้นที่ ไปถึงความเข้มงวดตรวจวัดอุปกรณ์ทางรังสีของเจ้าหน้าที่ที่ดูแล โรงไฟฟ้าที่ยังเงียบอยู่จนถึงปัจจุบัน ยังไงเหตุการณ์นี้ก็ไม่ไช่เหตุการณ์ปกติที่ควรเกิดขึ้นแน่ ๆ
จริง ๆ โรงงานหลอมเหล็กบางโรงงานจะมีเครื่องที่ใช้ในการตรวจวัดรังสีจากโลหะที่นำมาหลอมอยู่ โรงงานพวกนี้จะรู้ได้ทันทีถ้ามีวัสดุกัมมันตรังสีปนเข้ามากับเศษเหล็ก แต่แน่นอนว่าไม่ได้มีกับโรงงานทุกโรงงาน ก็ต้องไปคุยเรื่องของกฎหมายกันต่อไปด้วยว่าจะเอายังไงกันต่อไป
สรุป ! ตระหนักรู้ได้ แต่ไม่ควรตื่นตูม (โดยเฉพาะสายดูซีรี่ย์ทั้งหลาย) ทีมงานด่านหน้าที่ดูแลเรื่องพวกนี้ (ที่ต้องเข้าไปสัมผัสกับรังสีโดยตรง แต่พวกเราทำงานในหลักการความปลอดภัยแน่นอน) กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด อยากให้เสพข่าวกันอย่างมีสตินะครับ
สุดท้าย หากใครมีข้อสงสัยไม่สบายใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศกรรมนิวเคลียร์และรังสี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ครับ